วายร้ายทำลายสมอง ที่คุณอาจไม่เคยรู้

วายร้ายทำลายสมอง ที่คุณอาจไม่เคยรู้

วายร้ายจอมบั่นทอนสมองที่แฝงอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคุณ อยากให้คุณรู้จัก "อัลไซเมอร์" มากขึ้นอีกนิด โรคสมองที่ใคร ๆ ก็ขยาด และมาดูกันว่าเหตุใดการดูแลสมอง ให้แข็งแรงเต็มศักยภาพ จึงเป็นสิ่งที่คุณ ๆ ทั้งหลายควรหันมาใส่ใจให้มากกว่าเดิม

1. กรรม (พันธุ์)

แม้ว่าโรคสมองเสื่อมอันดับหนึ่งที่คนขยาดอย่างอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมอื่น ๆ บางชนิดรวมถึงที่พบมากรองลงมาอย่างโรคสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดสมอง จะพบว่ามีพันธุกรรมเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง แต่ก็ต้องไม่มองข้ามความจริงที่สำคัญอีกอย่างที่ว่า ครอบครัวไม่ได้หยิบยื่นเพียงยืนที่มีส่วนชี้ชะตาสุขภาพของคุณเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อรูปแบบการใช้ชีวิต ตั้งแต่รายละเอียดปลีกย่อยไปถึงเรื่องใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะรสนิยมการกินอยู่ ใช้ชีวิต มุมมองและการลงทุนเพื่อสุขภาพ ซึ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่ในกำมือของคุณเอง อย่าลืมว่าผู้คนที่มีพันธุกรรมเสี่ยงโรคร้ายนับแสนนับล้านรอดพ้นเงื้อมมือมารอย่างอัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฯลฯ ตลอดชั่วชีวิต และผู้คนเหล่านั้นส่วนหนึ่งย่อมตระหนักถึงความจริงดังกล่าว และเลือกที่จะปรับตัวใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด

2. หัวใจอ่อนแอ

ในทางการแพทย์การตรวจวิเคราะห์โรคสมองเสื่อมหรืออาการถดถอยทางสมองอื่น ๆ ก่อนอื่นแพทย์จะต้องมองหาโรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง รวมถึงโรคเบาหวานและภาวะน้ำหนักเกิน การแพทย์ยุคใหม่ฟันธงแรง ๆ ว่าหากคุณต้องการตัดความเสี่ยงความถดถอยทางสมองไปจนถึงโรคสมองเสื่อมล่ะก็ จะตัดวงจรความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดเสีย เพราะนั่นคือหนทางที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก

หัวใจคนเราเต้นในแต่ละครั้งจะปั๊มเลือดไปเลี้ยงสมองถึงราว 1 ใน 5 ของร่างกาย หรือราว 20 เปอร์เซ็นต์ (ขณะที่หัวใจใช้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น) สมองของคุณต้องการออกซิเจนถึง 1 ใน 4 ของร่างกาย และสารอาหารต่าง ๆ จากเลือดอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดโปร่ง กระฉับกระเฉงพร้อมจดจำ คิดแก้ปัญหา รวมถึงสั่งการร่างกายอย่างแม่นยำ ดังนั้นอะไรก็ตามที่กีดขวางกระบวนการทำงานของหัวใจในการสูบฉีดเลือด ย่อมกีดขวางการทำงานของสมองโดยปริยาย และ "ผู้ร้าย" รายต่อ ๆ ไปที่เรากำลังกล่าวถึงก็เกี่ยวข้องพัวพันอยู่ภายใต้หลักการที่ว่า ทำร้ายหัวใจทำร้ายสมองนั่นเอง มาดูกันต่อเลย

3. ติดหวานติดมัน

พูดเรื่องหัวใจก็ต้องพุ่งเป้าไปที่ศัตรูอันดับต้น ๆ ของหลอดเลือด อย่างอาหารไขมัน (ชั้นแย่) และคอเลสเตอรอลสูง สองวายร้ายนี้อาจทำให้คุณเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนปกติ ถึง 6 เท่า (ข้อมูลจากสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทย) เรารู้ดีว่าใคร ๆ ก็ชอบของหวานมันกันทั้งนั้น แต่อย่าให้ร่างกายของคุณถูกโจมตีซ้ำซากด้วยไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ที่ซึ่งร่างกายจะเก็บสะสมไว้ในฐานะคอเลสเตอรอลร้าย (LDL) ศัตรูตัวฉกาจของหลอดเลือด ด้วยนิสัยชอบหอบหิ้วเบเกอรี่ติดมือกลับบ้านทุกเย็น ติดอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เน้นของทอดชุ่มน้ำมัน

โรคเบาหวานคืออีกหนึ่งวายร้ายของสมอง เพราะนอกจากจะทำลายหลอดเลือด ยังทำให้สมองใช้งานน้ำตาลลูโคสได้แย่ลง ถ้าคุณรักสมองล่ะก็ควรเพลาน้ำตาลเสียแต่ตอนนี้ คุณควรคำนวณน้ำตาลทั้งหมดที่เข้าสู่ร่างกาย ในแต่ละวัน รวมถึงที่มีอยู่ในมื้ออาหารและขนมให้ไม่เกิน 6 ช้อนชา และไม่ใช่แค่เรื่องไขมันร้ายหรือความหวานเท่านั้น การกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมก็คือกุญแจเพื่อสมองที่แข็งแรง เช่นกัน โดยเฉพาะอาหารหมวดแคลอรีสูงอย่างไขมันและคาร์โบไฮเดรต

4. เป็นมิตรกับบุหรี่-เหล้า

มีหลักฐานจากงานวิจัยหลาย ๆ แห่งยืนยันว่า การติดเหล้า-สูบบุหรี่จัด นำไปสู่ภาวะ "สมองฝ่อ" แบบนับถอยหลังได้ ในบุหรี่มีสารพิษอันตรายหลายพันชนิดที่พร้อมโจมตีเซลล์ทุกส่วนของร่างกาย แถมก่อโรคให้คุณได้ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า รวมถึงโรคมะเร็งหลายชนิดไม่ใช่แค่โรคมะเร็งปอดอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น ระหว่างที่หลบมาคลายเครียดด้วยการอัดควันเข้าปอด ทุกครั้งที่คุณหายใจควันพิษได้แย่งพื้นที่ออกซิเจนที่ควรจะถูกป้อนเข้าสู่สมองอย่างเต็มที่แปลง่าย ๆ ว่าในขณะที่คุณกำลังปรนเปรออาการเสพติดที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายชั่วครั้งชั่วคราว สุขภาพสมองโดยรวมของคุณกำลังอ่อนแอลง

ผลของบุหรี่และแอลกอฮอล์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือเพิ่มความดันโลหิตให้สูง ซึ่งเป็นภัยอันดับต้น ๆ ต่อทั้งหัวใจและสมอง มีการจำลองภาพสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์กับโรคติดแอลกอฮอล์ (Alcoholism) พบว่ามีการหดตัวของเนื้อเยื่อสมองเป็นวงกว้าง ดูเผิน ๆ แล้วคล้ายคลึงกันมาก ถึงแม้ทุกวันนี้จะยังไม่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างแอลกอฮอล์กับโรคสมองเสื่อมก็ตาม

5. เหงา เบื่อ เรื้อรัง

มีการค้นพบว่าความรู้สึกเดียวดายสามารถปั่นทอนศักยภาพสมองของคุณได้ และมีการสำรวจพบว่าคนเรากลัวการต้องอยู่เดียวดายยิ่งกว่าการตายด้วยอุบัติเหตุเสียอีก เพราะความรู้สึกว้าเหว่ไร้สังคม ยังอาจนำไปสู่ภาวะ "ซึมเศร้าเรื้อรัง" ซึ่งแค่โดยเบื้องต้นก็มีผลบั่นทอนความจำ สมาธิ ความสามารถในการคิดของคุณโดยตรง หรือที่รวม ๆ เรียกว่า ความสามารถทางสมองถดถอย (Cognitive Decline) นั่นเป็นเหตุให้หลายคนที่กำลังถูกครอบงำด้วยภาวะซึมเศร้านึกว่าตัวเองเป็นอัลไซเมอร์ หรือกลัวว่าสมองกำลังผิดปกติ ซึ่งปกติแล้วเมื่อแพทย์บำบัดภาวะซึมเศร้าในระยะเวลาอันเหมาะสม สมองของคุณก็กลับมาฉับไวดังเดิมได้

อย่างไรก็ตาม การมีสังคมในแง่การพัฒนาสมองแล้ว ไม่ได้หมายถึงการต้องเข้าชมรมหมากล้อมหรือปริศนาอักษรไขว้หรอกนะครับ งานวิจัยมากมาย ชี้ว่า สัตว์สังคมอย่างมนุษย์เราเพียงแค่การได้ติดต่อผูกพัน เชื่อมโยงแบบเหนียวแน่นต่อเนื่องกับผู้คนถือเป็นการบริหารสมองหรือที่เรียกกันเก๋ ๆ ว่า "Brain Aerobic" ที่ยอดเยี่ยมแล้ว ทำให้สมองของคุณสดชื่นฉับไวอยู่เสมอ พร้อมคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละวัน นอกจากนี้ การไม่ขาดการติดต่อยังหมายถึง การออกไปเปิดหูเปิดตา ไม่จับเจ่าอยู่กับชีวิตแบบเดิม ๆ เพื่อที่สมองของคุณจะได้สงสัย ได้สังเกต ได้กลิ่นใหม่ภาพใหม่ ๆ จดจำสิ่งใหม่ ๆ แบบอัตโนมัติ การพัฒนาสมองเป็นเรื่องที่ทั้งง่าย และสนุก และทำให้คุณรู้สึกดีกับชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อ

6. เลี้ยงความดันให้สูง

คนเราย่อมต้องมีวาระความดันโลหิตสูง-ต่ำ ในแต่ละวัน แต่ถ้าปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะปกติล่ะก็อันตรายแน่ ความดันโลหิตสูงขัดขวางการไหลเวียนของเลือดสู่สมอง โดยทำให้หลอดเลือดสมองตีบ แม้กระทั่งแตกหรือรั่ว ทั้งยังพบว่าอาจทำให้เกิดการลีบฝ่อของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีผลต่อการเชื่อมโยงความทรงจำและการสร้างความทรงจำระยะยาว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมองทำงานช้าลงแบบไม่เกี่ยงอายุ และในทางการแพทย์ถือเป็นสิ่งทำนายอย่างหนึ่งว่า ในภายภาคหน้า เมื่อสูงวัยขึ้นไปคุณอาจต้องเผชิญกับโรคสมองเสื่อม

ความดันโลหิตสูงที่มาจากพันธุกรรมนั้น ควบคุมยาก (แพทย์อาจต้องใช้ยาบำบัดด้วย) แต่มีอีกหลายอย่างที่ควบคุมได้ ถ้าเช่นนั้นลองหาทางที่ง่าย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างจำกัดการกินรสเค็ม และออกกำลังกายเป็นประจำดีกว่า การออกกำลังกายให้ผลสำคัญประการหนึ่งซึ่งไม่มีวิธีการอื่นใดจะทดแทนได้ คือการฝึกหัวใจให้ทำงานแบบ "สบาย ๆ" มากขึ้น ปรับชีพจรให้ช้าลง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความดันโลหิต

7. ไม่ออกกำลังกาย!

ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยโรค อัลไซเมอร์ครั้งที่ 14 ประจำภาคพื้นเอเชีย โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อต้นปี แพทย์และนักวิจัยด้านสุขภาพต่างเน้นย้ำว่า ไม่มียาวิเศษอะไรจะสร้างสมองที่แข็งแรงฉับไวได้สำเร็จ หากคุณไม่ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายที่ดีเยี่ยมสำหรับสมองคือการออกกำลังแบบแอโรบิก (คาร์ดิโอ) เช่น การเดินเร็ว วิ่ง เต้น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ ต่อเนื่อง 20-30 นาที ที่ต้องขีดเส้นใต้ คือ "ไม่จำเป็นต้องหนักหน่วง ไม่ต้องแข่งขันกับใคร แต่เน้นที่ความต่อเนื่อง" และถ้าให้ดีควรทำให้บ่อยที่สุดในแต่ละสัปดาห์ ทางด้าน Aizheimer’s Society จากสหราชอาณาจักร แนะนำว่าหากคุณไม่คุ้นเคยและเหนื่อยหน่ายกับการออกกำลังกาย คุณสามารถเริ่มจาก 5 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มครั้งละ 2 นาทีในแต่ละวัน จนครบ 20-30 นาที ก็ได้เช่นเดียวกัน

ทางด้าน ศ.ดร.ประเสริฐ บุญเกิด ประธานสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย กล่าวในบทความซึ่งเผยแพร่ในงานประชุมนานาชาติดังกล่าวว่า "เหงื่อ" นั่นเองที่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าการออกกำลังกายนั้นมาถูกทางและนานพอที่ทำให้สมองเรียกสมดุลกลับมา กำจัดสารพิษที่มาจากการ "Error" ของระบบเมทาบอลิกของเซลล์ประสาท ซึ่งสารพิษดังกล่าวหากสะสมมาก ๆ ก็จะเกิดการก่อตัวของสารอะไมลอยด์ ต้นเหตุโรคอัลไซเมอร์เมื่ออายุล่วงเลยไป การสูบฉีดไหลเวียนเลือดที่สมบูรณ์จากการหมั่นออกกำลังกายยังช่วยกระตุ้นให้การสร้าง และป้อนอาหารเซลล์สมองดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สมองของคุณสดชื่น พร้อมรับมือกับภารกิจน้อยใหญ่ทั้งด้านร่างกายและความคิดในแต่ละวัน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์