วิวัฒนาการ ตู้ไปรษณีย์ สู่สัญลักษณ์ที่สุดเมืองไทย

วิวัฒนาการ ตู้ไปรษณีย์ สู่สัญลักษณ์ที่สุดเมืองไทย


ก่อนเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารจะก้าวไกลมีหลากหลายช่องทางเลือกดังเช่นปัจจุบัน การเขียนจดหมายส่งถึงกันนอกจากจะเชื่อมโยงความห่างไกลให้เข้ามาชิดใกล้ หลากข้อความในจดหมายที่บอกเล่าเรื่องราวสารพันทั้งความสุข และความเศร้า ความประทับใจเหล่านี้สร้างสีสันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารที่มีเสน่ห์อมตะ
 
จากกิจการไปรษณีย์ที่เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่เพียงตราไปรษณียากร อีกสิ่งที่มีควบคู่กับการไปรษณีย์ตลอดมา นั่นคือ ตู้ไปรษณีย์ สิ่งนี้เสมือนสัญลักษณ์ของการไปรษณีย์ไทยที่ติดตั้งให้บริการรับฝากส่งข่าวสารจากท้องที่ต่าง ๆ เชื่อมโยงถึงกันตลอดมา และจากวันวานจวบปัจจุบันตู้ไปรษณีย์ได้พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบเหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
 
ตู้ไปรษณีย์เก่าแก่สุดของไทย จากประวัติเป็นตู้ที่ได้รับมอบเป็นของขวัญจากประเทศเยอรมนี ในโอกาสที่ประเทศไทยเปิดให้บริการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรก ในสยาม ลักษณะของตู้เป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเป็นโลหะหล่อ ทั้งชิ้น สไตล์วิกตอเรียนอยู่ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย
 
จากนั้นต่อมาตู้ไปรษณีย์ มีลักษณะเป็นแท่งกลมและเป็นโลหะหล่อทั้งชิ้น ซึ่งตู้ไปรษณีย์ลักษณะดังกล่าวนี้สั่งทำมาจาก  ต่างประเทศ โดยรุ่นแรกสั่งทำ  จากประเทศอังกฤษในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และรุ่นต่อ  มาช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 6 สั่งทำจากประเทศสิงคโปร์ ในแบบ ต่อมา ตู้ซีเมนต์หล่อ มีตราครุฑและแตรงอนสัญลักษณ์ของการไปรษณีย์ไทยติดอยู่ที่ด้านหน้าตู้ เริ่มมีใช้นับแต่ปีพ.ศ. 2469 ช่วงต้นรัชกาลที่ 7

วิวัฒนาการ ตู้ไปรษณีย์ สู่สัญลักษณ์ที่สุดเมืองไทย


ตู้ซีเมนต์หล่อขนาดเล็กชนิดมีเสา ตู้ไปรษณีย์รูปแบบนี้  จัดทำขึ้นเพื่อใช้ตามที่ทำการไปรษณีย์เล็ก ๆ ในส่วนภูมิภาคมีใช้ราวปี พ.ศ. 2496 และอีกแบบที่พบเห็นกันคือ ตู้ไปรษณีย์ทำจากแผ่นโลหะทั้งตู้ มีฐานเป็นซีเมนต์หนาซึ่งตู้ไปรษณีย์ลักษณะนี้มี 2 รูปแบบ แบบแรกมีช่องสอดจดหมายหรือไปรษณียบัตร  1 ช่องใช้งานในพื้นที่ที่มีปริมาณไปรษณียภัณฑ์ปกติ
 
ส่วนอีกรูปแบบมีช่องสอดจดหมายหรือไปรษณียบัตร 2 ช่องสำหรับใช้งานในพื้นที่จังหวัดใหญ่ ๆ หรือในเขตกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนไปรษณียภัณฑ์ค่อนข้างมาก โดยช่องหนึ่งสำหรับใส่ไปรษณียภัณฑ์ที่จ่าหน้าถึงปลายทางในพื้นที่และอีกช่องหนึ่งสำหรับใส่ไปรษณียภัณฑ์ที่จ่าหน้าถึงปลายทางพื้นที่อื่น
 
จากเอกลักษณ์ความโดดเด่นของตู้ไปรษณีย์ นอกเหนือจากการให้บริการรับฝากส่งข่าวสารจากท้องที่ต่าง ๆ ดังเป็นที่ทราบกัน ล่าสุด ตู้ไปรษณีย์ ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนโฉมเป็นรูปแบบสะดุดตานำมาติดตั้งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเป็นที่สุด 14 แห่งทั่วทุกภูมิภาคยังเพิ่มสีสันการติดต่อสื่อสารส่งเสริมการเขียน กระตุ้นเศรษฐกิจ “เที่ยวไทย ครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” อีกทั้งยังมีความหมายบอกเล่าสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไทยที่มีชื่อเสียงมีความเป็นที่สุดให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
 
ขณะที่ตู้ไปรษณีย์ถ่ายทอดสัญลักษณ์ที่สุดเป็นแลนด์ มาร์คแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคต่าง ๆ อานุสรา จิตต์มิตรภาพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เล่าถึงวิวัฒนาการตู้ไปรษณีย์ว่า สิ่งที่มีคู่มากับกิจการไปรษณีย์  คือตู้ไปรษณีย์ ทั้งนี้เพราะเมื่อมีการเขียนก็ต้องมีการส่ง มีการ   ติดแสตมป์เป็นค่าบริการฝากส่งไปรษณีย์และเมื่อที่ทำการยังมีไม่มาก ตู้ไปรษณีย์สิ่งนี้ก็จะเป็นที่ที่รับเอกสาร
 
“ตู้ไปรษณีย์ใบแรกดัง ที่ทราบเป็นตู้ของขวัญจากประเทศเยอรมนี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็น ตู้เหล็กหล่อมีลวดลาย สวยงาม ตู้ใบนี้ช่วงเวลามีงานไปรษณีย์จะนำมาจัดแสดงให้ชมกัน ต่อ  จากนั้นเมื่อมีการขยายกิจการไปรษณีย์ มีการตั้งตู้ตามท้องถนนก็มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมา มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ โดยก่อนจะเป็นตู้ไปรษณีย์สี่เหลี่ยมก็ มีตู้กลมก่อนสมัยรัชกาลที่ 7
 
ตู้ปูนตั้งอยู่ตาม ป.ณ. ขนาดใหญ่และเมื่อมีไปรษณียภัณฑ์ไม่มาก การจะลงทุนนำตู้ขนาดใหญ่ไปตั้งนั้นคงไม่คุ้มค่า  ตู้ไปรษณีย์ต่อมาจึงปรับขนาดลง ฯลฯ และที่คุ้นเคยกันในวันนี้เป็นตู้ไปรษณีย์สี่เหลี่ยม สีแดงสดใสกระจายอยู่ทั่วไป” 
  
ตู้ไปรษณีย์เป็นสิ่งที่มีประวัติศาสตร์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีตู้ไปรษณีย์อยู่ไม่น้อยซึ่งต่างจากจำนวน การส่งไปรษณียภัณฑ์ผ่านตู้  แต่อย่างไรก็ตาม ตู้ไปรษณีย์นั้น  มีความหมายต่อการอำนวยความสะดวกเพิ่มช่องทางการส่งสารสื่อสารถึงกันและกัน นอกจากนี้ตู้ไปรษณีย์ยังมีความหมายไม่เพียงเฉพาะการสื่อสาร การอำนวยความสะดวก แต่ตู้เหล่านี้ยังมีความลึกซึ้งบ่งบอก ความเป็นสัญลักษณ์ของการไปรษณีย์ประเทศนั้น ๆ

วิวัฒนาการ ตู้ไปรษณีย์ สู่สัญลักษณ์ที่สุดเมืองไทย


สถานที่ติดตั้งตู้ไปรษณีย์สถานที่ที่มีความเป็นที่สุด ของไทยทั้ง 14 แห่ง ได้แก่ ตึกใบหยก ตึกที่ สูงสุดซึ่งจุดติดตั้งบริเวณชั้น 77 ตึกใบหยก 2 เกาะช้าง จ.ตราด บริเวณ  จุดชมวิว   ไก่แบ้ (เกาะช้าง) ภูเรือ จ.เลย จุดติดตั้งบริเวณเกษตรที่สูงภูเรือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่  จุดติดตั้งบริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย จุดติดตั้งบริเวณที่ตั้งป้าย “เหนือสุดแดนสยาม” บึงบอระเพ็ด จ.นคร สวรรค์ หน้าอาคารบริการนักท่องเที่ยว อำเภอแม่สอด อำเภอที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของประเทศไทย จุดติดตั้งอยู่ที่ตลาดริมเมย อ.แม่สอด จ.ตาก น้ำตกทีลอซู จ.ตาก จุดติดตั้งที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จุดติดตั้งที่อุทยานฯ หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
 
ขณะที่ อุทยานมังกรสวรรค์ จ.สุพรรณบุรี จุดติดตั้งที่อุทยานฯ แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต จุดติดตั้งที่จุดชมวิวบริเวณลานอเนกประสงค์แหลมพรหมเทพ ท่าเรือปากเม็ง จ.ตรัง จุดติดตั้งอยู่ที่ท่าเรือ อำเภอเบตง จ.ยะลา จุดติดตั้งที่ด้านหน้าโรงแรมแกรนด์วิว และที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี จุดติดตั้งที่อุทยานฯ บันไดทาง  ขึ้นอาคารบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละสถานที่ออกแบบสะท้อนสัญลักษณ์ที่สุดของเมืองไทยในแต่ละด้าน ตามลักษณะที่เป็นของสถานที่นั้น ๆ มีสีสันลวดลายสวยงามรับกับสถานที่ แหล่ง ท่องเที่ยวที่นำไปติดตั้ง
 
“ตู้ไปรษณีย์เป็นอีกสีสันหนึ่งของการสื่อสารเผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายซึ่งการเกิดขึ้นของโครงการฯ มีที่มาจากการที่ไปรษณีย์ไทยทำกิจกรรมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแสตมป์ บอกเล่าเรื่องราวสถานที่น่าเที่ยวของจังหวัด โปสการ์ดสำหรับเขียนและส่งถึงกันและกัน ฯลฯ
 
ตู้ไปรษณีย์นอกจากจะบอกเล่าความประทับใจส่งถึงตนเองคนรอบข้างแล้ว ยังบอกเล่าความเป็นที่สุดของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน อย่างกรุงเทพฯ ตึกใบหยกเป็นตึกที่สูงสุด ภาพที่ปรากฏบนตู้ไปรษณีย์เป็นอาคารใบหยกมีข้อความเขียนความเป็นที่สุด ตราประทับบอกความสำคัญ ฯลฯ การติดตั้งจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นที่สุดซึ่งนอกจากสร้างเสริมการเขียนตู้ไปรษณีย์ยังเป็นจุดถ่ายภาพบันทึกความทรงจำ ส่งเสริมการท่องเที่ยว”


อีกด้านหนึ่งแม้การส่งจดหมายส่วนตัวจะลดลง แต่การเขียนโปสการ์ดของนักท่องเที่ยว  มีเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นแรงจูงใจจุดประกายส่งเสริมการเขียนเพิ่มสีสันการท่องเที่ยว
 
“นักท่องเที่ยวมักไม่พลาดส่งโปสการ์ดเมื่อไปถึง การเขียนรูปแบบนี้เป็นอีกรูปแบบการส่งเสริมการเขียน เป็นการฝึกฝนการเขียน นอกจากนี้สิ่งนี้ยังมีความหมายเป็นที่ระลึก เตือนความทรงจำได้ซึ่งโปสการ์ดที่บอกเล่าความเป็นที่สุดของ  แหล่งท่องเที่ยวที่จัดทำขึ้นในโอกาสเดียวกันนี้ ตราประทับ ความพิถีพิถันการเลือกแสตมป์  ที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัด รวมทั้งการส่งโปสการ์ดผ่านตู้ไปรษณีย์ ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นการเล่าเรื่องผ่านโปสการ์ดเป็นบันทึกเรื่องราวความทรงจำที่มีคุณค่า เพิ่มสีสันกิจกรรมระหว่างการพักผ่อนท่องเที่ยว”
 
จากตู้ไปรษณีย์ในวันวานที่มีประวัติศาสตร์วิวัฒนาการต่อเนื่องมาจวบถึงตู้ไปรษณีย์สะท้อน สัญลักษณ์ความเป็นที่สุดของ แหล่งท่องเที่ยวเป็นแลนด์มาร์ค ทั้งหมดนี้พร้อมบอกเล่าเรื่องราวการติดต่อสื่อสาร สร้างเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์