วิเวกเป็นสิ่งที่ควรรู้จักและควรมี

วิเวกเป็นสิ่งที่ควรรู้จักและควรมี



        วันนี้จะพูดในหัวข้อว่า วิเวกเป็นสิ่งที่ควรรู้จัก และควรมี คำว่า วิเวกนี้ ดูจะเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป บางคนคิดว่าเป็นคำครึคระ สำหรับพวกอยู่ป่า ฤๅษี ชีไพร ถ้าเคยเข้าใจอย่างนั้น ให้มาศึกษาใหม่ จะมีประโยชน์อย่างมาก มันมีความรับซ่อนอยู่ แล้วคนก็ไม่รู้จัก ไม่ต้องการ ให้เข้าใจคำว่า วิเวก เป็นตัวหนังสือก่อน ภาษาบาลี วิเวก แปลว่า เดี่ยว ไม่มีอะไรรบกวน แต่ภาษาไทยมีแต่จะเปลี่ยนความหมาย เป็นวิเวกวังเวง เป็นไม่ต้องการ ไม่น่าจะพอใจ คนธรรมดาก็ไม่ชอบวิเวก เพราะเขาไม่อยากอยู่คนเดียว อย่างน้อยก็มีเด็กๆ เพื่อน คนหลายๆคน อบอุ่น นั่นไม่เป็นไร แต่ความหมายวิเวก มันลึกกว่านั้นมาก มันจำเป็นต้องมีด้วยซ้ำไป ถ้าไม่มีเสียบ้าง มันอาจจะตาย ก็ลองคิดดูว่า เดี่ยว และไม่มีอะไรมารบกวน มันจะสบายไหม

วิเวกแบ่งเป็น สามชนิด หนึ่งคือทางกาย คือ กายที่ไม่มีอะไรมารบกวน สองคือทางจิต จิตที่ไม่มีอะไรมารบกวน และสาม อุปธิวิเวก คือไม่มีอะไร มายึดมั่น ถือมั่น หอบหรือถือหนักอะไรเอาไว้ บางทีเปลี่ยนความคิดมาสนใจ พอใจ เรื่องวิเวกบ้างก็ได้

วิเวกทางกาย คือ กายที่ไม่มีใครมารบกวน แต่ในความจริง มันอยากมีอะไรมารบกวน มายุ่งด้วย จะยิ่งดี แต่ก็มีบางเวลาที่ไม่อยากให้มีใครมายุ่ง อยากมีอิสระ อยู่คนเดียว ไม่มีวัตถุ ไม่มีบุคคลมารบกวน สงบสงัด แต่ไปเข้าใจว่า สงัดคือน่าเบื่อ เป็นอย่างนั้นอีก เคยนึกชอบไหม เคยบ้างไหม บางเวลาอยากอยู่เดี่ยว บ้างไหม

ทีนี้ที่สองคือ จิตวิเวก คือวิเวกทางจิต จิตที่ไม่มีอะไรมารบกวน คงจะสังเกตเห็นได้ว่า สิ่งที่รบกวนจิต มันมีมากมาย จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ยกตัวอย่างจำนวนหนึ่ง เป็นเครื่องสังเกต ศึกษา ทดสอบ ก็ได้ เช่น ถ้าความรักมารบกวน มันก็นอนไม่หลับ ไฟมันลนหัวใจเสมอ หรือความโกรธ เป็นไฟชนิดหนึ่ง ทุกคนโกรธมาแล้วทั้งนั้น บางคนไม่อยากโกรธ มันก็โกรธ มันอดไม่ได้ ความเกลียด เกลียดใครไว้ เกลียดภาพอะไรไว้ สิ่งเหล่านั้นมารบกวน ความกลัว ก็กลัวต่างนาๆ กลัวคน กลัวตาย กลัวจะสูญเสียสิ่งที่ไม่อยากให้สูญเสีย มีร้อยแปดอย่าง ความตื่นเต้น มันได้ยิน ได้เห็นอะไร มันก็ตื่นเต้น มันถึงกับนอนไม่หลับได้เหมือนกัน ความวิตกกังวลถึงเรื่องที่มีอยู่ในอดีต มันฝังแน่น ไม่ลือ ในอนาคต คิดถึงเรื่องที่จะเป็นไปได้ ความอาลัยอาวรณ์ คงจะรู้จักกันดี ความอิจฉาริษยา อันนี้หนักสุด ใครมีคนนั้นบาปหนา หาความสงบสุขยาก ความหวง หรือที่เข้มข้น คือความหึง มันรบกวนอย่างยิ่ง ความยกตนข่มท่าน เหล่านี้รู้จักกันดี ความระแวง กลัวทุกคนไม่ชอบเรา กลั่นแกล้งเรา มันก็นึกอยู่คนเดียว โดยที่ฝ่ายนู้นเขาไม่รู้เรื่องก็มี คลุ้มคลั่งอยู่คนเดียว มันรบกวนจิต แล้วจะเป็นวิเวกได้อย่างไร มันจะสงบ เย็น มีเสรีภาพได้อย่างไร

อันที่สาม อุปธิวิเวก แปลว่าสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ หอบหิ้วเอาไว้ กอดรัดเอาไว้ เทิดทูลเอาไว้ เป็นเรื่องวัตถุ สังขาร ร่างกาย กามารมณ์ ตัวกู ตัวกู ร้ายกาจที่สุด คนโง่ชอบนักหนา บรมโง่ อย่างนี้เรียกว่า ไม่วิเวก คิดดู ถ้าถือก้อนหินเอาไว้ จิตมันจะสบายได้อย่างไร ที่จัดไว้อันหลังสุด เพราะมันร้ายกาจกว่า สองอันแรก รบกวนทางกายไม่เท่าไร รบกวนทางจิตก็ไม่เท่าไร แต่อุปธิวิเวกรบกวนตลอดเวลา ทุกวินาที เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ค่อยรู้กันมากนัก ไม่ปรารถนาที่จะวิเวก วิเวกมันในหน้าที่มันเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปธรรมดาสามัญ

วิเวกเมื่อใด มันก็เป็นสุขภาพทางจิตใจเมื่อนั้น ไม่มีอะไรมารบกวนกาย สุขภาพกายก็ดี ไม่มีอะไรมารบกวนจิต สุขภาพจิตก็ดี พระอรหันต์ไม่มีสิ่งรบกวน ที่เรียกว่า วิเวก อาจจะมีของไปรบกวน คนไปรบกวน สัตว์ไปรบกวน แต่ก็เหมือนไม่รบกวน ทางจิตก็ไม่มีนิวรณ์ไปรบกวน ทางอุปธิ ก็ปล่อยวางหมดแล้ว พระอรหันต์ ท่านก็มีวิเวก ครบสมบูรณ์ นี่ก็เป็นเครื่องเปรียบเทียบ สำหรับให้เรารู้จักพระอรหันต์โดยถูกต้อง และเราก็ไม่ต้องอวดดีว่าจะเป็นพระอรหันต์กันเดี๋ยวนี้ ฉะนั้นควรเอาอย่างท่าน เพื่อสุขภาพอนามัย ที่จริงมันก็มีอยู่ตามสมควร แต่คนโง่มันมองไม่เห็น ถ้าไม่มีวิเวกเลย มันตายไปนานแล้ว มันเป็นบ้า เวลาที่ไม่มีอะไรรบกวนมันพอมี แม้แต่คนกิเลสหนา มันยังพอมี ไม่ใช่มีกิเลสทุกลมหายใจเข้าออก แม้นาทีเดียวก็ถือว่ามี แต่คนมันไม่สังเกตเห็น มันไม่สนใจ มันไปหาสิ่งมารบกวนอีก หาสิ่งที่มาช่วยประโลมใจ ไม่ให้ว่าง

เครื่องประโลมใจ ถ้ามันไปในทางที่ดี ก็ดีอยู่ แต่ถ้าไปในทางที่ไม่ดี ก็วินาศ มีธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ มันก็ดี มีกามารมณ์เครื่องประโลมใจ มันก็วินาศ มนุษย์ทั่วไปมันก็เครื่องประโลมใจ จึงเป็นปัจจัยที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเหมือนกัน จริงในบาลีมีแค่สี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย มันเป็นทางกาย แต่ทางฝ่ายจิตมันมีปัจจัย คือเครื่องประโลมใจ ถ้าไม่มีมันจะกระวนกระวายใจ มันไม่ปกติ ก็พูดให้คิด ให้นึก สวดมนต์ก็ได้ เรียนธรรมะก็ได้ มาประโลมใจ ธรรมะไม่เป็นอันตราย ให้เห็นภาพเหล่านั้น แล้วถูกต้อง พอใจ เป็นสุขภาพทางจิต ทางวิญญาณ เลยขอเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ห้า ให้สบายใจ มีกำลังใจ รู้จักใช้ธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ ถ้าใช้กิเลสเป็นเครื่องประโลมใจ มันเขลา มันโง่ มันเป็นการทำลายวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปธิวิเวก หรือแม้แต่จิตวิเวก พวกที่ชอบกินเหล้า มันก็เกลียดวิเวก กินเหล้าไปกระตุ้นให้ฟุ้งซ่าน มันก็เลิกไม่ได้ ไม่ยอมเลิก หรือสูบบุหรี่ คนสูบมันก็สบายใจ ให้สิ่งเสพติดมาประโลมใจ ละก็ไม่ได้ มันไม่ต้องการวิเวก ของเสพติดอื่นก็เหมือนกัน น้ำชา กาแฟ เราควรหาอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่เป็นทาสต่อสิ่งใด นั่นแหละดี มีสิ่งใดเป็นนาย เหนืออยู่ มันก็ไม่วิเวก มันเป็นสิ่งที่ควรสร้าง แต่เขาไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมทำความรู้สึก แม้ช่วงเวลาที่ว่างจากกิเลสมันก็มีบ้าง แต่มันไม่ยอมรับรสว่า มันประเสริฐอย่างไร

               เราสังเกตดูดีๆว่า เมื่อใดที่เรารู้สึกสบายใจที่สุด เวลานั้นจะไม่มีอะไรรบกวนทางกาย จิต และอุปธิ แต่มันก็ผ่านไปโดยไม่มีใครรู้จัก แต่ก็พยายามไปหาโอกาสที่ไม่มีอะไรมารบกวน ไปชายทะเลบ้าง ไปภูเขาบ้าง แต่มันก็แค่ผิวๆ มันยังมีอุปธิ คือตัวกู ลากตัวกูไปเที่ยวทะเล ตัวกูมันไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะไปที่ไหน แต่ก็รู้สึกอยู่บ้าง ไปริมทะเล มันโล่งอกโล่งใจ ว่างบ้าง มีวิเวกบ้าง แต่ไม่รู้จัก ไม่สร้างมันให้มีตลอดเวลา ฉะนั้นมันเกี่ยวกับความพยายามที่จะสร้างขึ้นมา

ที่นี้มาพูดเรื่องธรรมะปฏิบัติที่จะให้บรรลุมรรคผลนิพพาน เรื่องนิพพานมันคือเรื่องว่าง สงบ วิเวก ศีลก็ทำให้วิเวก ปราศจากสิ่งรบกวนตามระดับของศีล สมาธิก็วิเวกตามระดับของสมาธิ มันจะพอมีตัวอย่างเล็กๆของวิเวกเข้ามา ถ้าเราพอใจที่จะมีมากขึ้นไปอีก พอใจ นั่นคือ ฉันทะ แล้วก็มี วิริยะ จิตตะ วิมังสา ตามหลักของอิทธิบาท ตามหลักศาสนาก็เป็นแบบนี้ แต่ไปเรียกว่า วิมุติบ้าง วิสุทธ์บ้าง แต่ก็มีความหมายคล้ายกัน ไม่มีอะไรมารบกวน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ถ้ามองเห็นความว่างจะเข้าใจ ไม่ว่างมันบริสุทธิ์ไม่ได้ พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ทีนี้การบวชเข้ามา เป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาเรื่องเหล่านี้ เมื่ออยู่ที่บ้าน นั้นยากที่ศึกษา ไม่มีโอกาส มีเวลาเล่นหัวคลุกคลีกันอยู่มาก เอาเวลาไปนั่งวิเวกบ้าง อย่าชอบหัวเราะ ชอบคลุกคลี ที่เป็นข้าศึกต่อวิเวก แต่เอาเถอะ มันยากที่จะไม่หัวเราะเลย แต่ให้ระมัดระวังให้ควบคุม อย่าทำลายความสงบ สงัด ของจิตใจ วิเวกของผู้ สันโดษ ถ้าได้ฟังธรรมะของพระอริยะเจ้า มีความเห็นธรรมะนั้น จึงเกิดความวิเวก แล้วเป็นสุข คำๆนี้ตอนสมัยที่อาตมาบวช เค้าเรียกว่า บอกวัตร คือบอกทุกวัน บอกต่อท้ายทำวัตรเช้า และเย็น

ท่านพุทธทาสภิกขุ
ที่มา วิชาการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์