ว่าด้วย ซูชิ และ ชุดไทย


ว่าด้วยซูชิและชุดไทย 

วันหยุดยาวก็ได้ผ่านพ้นไป วันนี้ teenee.com มีสาระดีๆมาฝาก เป็นเรื่องซูชิ "อาหารประจำชาติญี่ปุ่น" เลยหยุดดูสักหน่อย ปรากฎว่าได้ความรู้ขึ้นมาอีกเรื่อง คือซูชิที่เรากินๆ กันอยู่นี่ จริงๆ แล้ว มีวิวัฒนาการมาจากอาหารที่เรียกว่า "นะเระซูชิ" คือ คนญี่ปุ่นโบราณจะนำปลามาหมกกับข้าวสุกนานประมาณเดือนสองเดือน พอข้าวเริ่มย่อย ก็โกยปลาขึ้นมากิน ผมดูแล้วลักษณะคล้ายๆ ปลาส้มบ้านเรา

ถูกต้องเลยครับ เพราะทางรายการเฉลยว่า "นะเระซูชิ" ญี่ปุ่นรับมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านทางจีนมาอีกทอด ซึ่งมีการค้นพบว่า "ปลาส้ม" นี่แหละคือบรรพชนที่แท้จริงของซูชิ ต่อมาจีนสมัยฮั่นรับกระบวนการถนอมอาหารนี้ไปตอนอพยพข้ามแม่น้ำฉางเจียงมาทางใต้ แล้วมอบให้ญี่ปุ่นอีกทีในช่วงโคฟุง ซึ่งตรงกับสมัยง่อก๊ก ของยุคสามก๊ก

ตกลง "อาหารประจำชาติญี่ปุ่น" ดูท่าจะไม่ใช้ญี่ปุ่นแท้ซะแล้วล่ะ น่าจะเป็นของสุวรรณภูมิแถบแม่โขงมากกว่า

แหม่ แต่หน้าตาซูชิทุกวันนี้ไม่ได้บ่งบอกว่ามาจากแถบแม่น้ำโขงเลย คนมองปราดเดียวก็รู้ว่ามาจากเอโดะไม่ใช่อุดร

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงดราม่าเรื่องชุดไทยที่กำลังเถียงกันไม่จบว่า "อะไรคือชุดไทยแท้"
จริงอยู่ที่ชุดไทยประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่หลากหลาย ทั้งผ้านุ่งผ้าสะไบแบบพื้นเมือง นุ่งโจงกะเบนแบบแขก (หรือเขมร) เสื้อราชประแตนแบบบริติราช บางครั้งก็เสื้อคอจีน แม้แต่เสื้อครุยเองก็เป็นชุดคลุมแบบโมกุลหรือเปอร์เซียมาแต่ก่อน 

สรุปแล้วหา "ไทย" แทบไม่มีเลย 

แต่องค์ประกอบเหล่านี้ผสานกันเข้าเป็นเอกลักษณ์ ปรับปรุง แล้วสร้างสไตล์ (Stylize) ให้เป็นของตัวเองเรื่อยมา แล้วตกลงกันว่าเป็นชุดไทย ชุดไทยมีวิวัฒนาการไม่ขาดสาย และจะพัฒนาต่อไป 

เช่นเดียวกันชุดกิโมโนของญี่ปุ่น ที่เขาก็ยอมรับว่ารับมาจากจีนยุคง่อก๊ก ต่อมารับแบบจากราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง ปัจจุบันชุดกิโมโน เอาเข้าจริงรูปทรงเป็นแบบซ่ง ทรงผมของเกอิชาเป็นแบบถัง แต่กรรมวิธีสวมใส่และรายละเอียดแบบญี่ปุ่น

ชาวโลกมองแล้วไม่เป็นจีน แต่เห็นเป็นของญี่ปุ่น

ฉันใดก็ฉันนั้น ชุดไทยแม้จะรับมาหลายแนว แต่คนอื่นมองก็รู้ว่านี่ชุดไทย ต่อให้แต่งพิกลแค่ไหน ก็ยังมองอนุโลมให้เป็นชุดไทย จะไทยสยาม ล้านนา ล้านช้าง ชวา มลายู เขมรก็ว่ากันไป

ชุดไทยกับชุดเขมรนี่เหมือนกันมากนะครับ แต่ถ้าตาดีๆ คุ้นๆ กับวัฒนธรรมของ 2 ชาติจะมองออกว่ามีข้อต่าง

อย่าแย่งกันให้ยากครับว่า ใครเป็นต้นตำหรับเพราะถ่ายกันไปถ่ายกันมา โจงกระเบนนั้นเรารับจากเขมร แต่เสื้อราชประแตนเราส่งให้เขมรอีกทอด ซึ่งทั้ง 2 อย่างก็มาจากภารตะอีกทอด (หรือจะว่าไปก็มาตะวันออกกลางหรือจากยุโรป ฯลฯ ถ้าไล่กันจริงๆ ไม่เจอต้นทางหรอกครับ จะตายกันเสียก่อน)

ถ้าพูดถึงของกินระหว่างไทยกับเขมรก็คล้ายกันอีก อย่าง ห่อหมก บ้านเขาก็ "ออม็อก" ปลาเห็ด บ้านเรา เขาก็เรียก ปรอเหิต ส่วน เครื่องแกง ก็เรียก "เกรือง" แม้แต่ข้าวหลาม ก็เรียก กร็อฬาน เรียกเหมือน กรรมวิธีคล้าย แต่รสชาติห่างพอดู 

วัฒนธรรมคือการนำเข้าและส่งต่อจริงๆ ครับ แต่ผู้รับเข้ามาจะพัฒนาตามรสนิยมของตัวเองก่อน ที่ไม่ชอบก็ตัดทิ้งไป ที่อยากอนุรักษ์ก็ถนอมไว้ อยากปรับใหม่ก็ตามใจชอบ

ในรายการเกี่ยวกับซูชิที่ผมชมเขาสรุปได้ดีครับ เขาบอกว่า "ซูชิเป็นของนำเข้ามา แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันได้วิวัฒนาการจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นในที่สุด"

# ชุดไทยก็เช่นกัน

หมายเหตุ - ภาพนี้ถ่ายโดย เอมีล เฌเซล เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ลองทายกันเล่นๆ ว่าสาวสามนางเป็นไทย ลาว หรือเขมร?





ที่มา :: Kornkit Disthan

ว่าด้วย ซูชิ และ ชุดไทย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์