สงกรานต์อันตราย กับ “ค่าเสียหายเบื้องต้น”


          ย่างเข้ากลางเดือนเมษายนใกล้เทศกาลสงกรานต์กันแล้วนะครับ ปีนี้อากาศร้อนมากๆ คาดว่าสงกรานต์ปีนี้น่าจะคึกคักเหมือนทุก ๆ ปี แต่อย่างไรก็ขอให้ใช้ความระมัดระวังให้มากนะครับเพราะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จากสถิติในปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุบนทางหลวงในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 ระหว่าง วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2556 - วันพุธที่ 17 เมษายน 2556 เกิดขึ้นรวม 966 ครั้ง คนตาย 202 คน คนบาดเจ็บ 1,209 คน มูลค่าความเสียหาย 13.139 ล้านบาท และมีมูลค่าอุบัติเหตุ 1,341.640 ล้านบาท (คนตาย 1,246.744 ล้านบาท บาดเจ็บสาหัส 60.52 ล้านบาท บาดเจ็บเล็กน้อย 34.376 ล้านบาท) นับเป็นความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่หากบังเอิญเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ชิดจะทำอย่างไรให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างทันท่วงทีเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจครับ

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ (ประกันภัยภาคบังคับ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนทุกคนซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ (รวมถึงบุคคลซึ่งมิใช่ผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์แต่ได้รับความยินยอม) ผู้โดยสาร หรือคนเดินถนนก็ตามเพราะเหตุประสบภัยจากรถให้ได้รับการแก้ไขเยียวยา โดยให้ได้รับค่าเสียหายเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในกรณีได้รับอันตรายแก่กายหรืออนามัยหรือให้ได้รับเงินช่วยเหลือเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพในกรณีเสียชีวิตโดยเร็วที่สุดโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิด พร้อมทั้งให้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนหลังจากที่มีการพิสูจน์ความผิดแล้วและเพื่อให้การประกันภัยเข้ามาช่วยร่วมในการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในด้านการให้สวัสดิการสงเคราะห์แก่ผู้ประสบภัยจากรถ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์บนท้องถนนหรือสิ่งของที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถนั้นผู้ประสบอุบัติเหตุจะมีฐานะเป็น “ผู้ประสบภัย” มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตามความใน พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

“ค่าเสียหายเบื้องต้น” หมายความว่า ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น (มาตรา 4) และจำนวนค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดความเสียหายที่จะให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น การร้องขอรับและการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น พ.ศ. 2552 กำหนดค่าเสียหายเบื้องต้น มีดังต่อไปนี้

(1) ค่าใช้จ่ายในกรณีความเสียหายต่อร่างกาย ได้แก่

(ก) ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการบำบัดรักษา

(ข) ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษา รวมทั้งค่าซ่อมแซม

(ค) ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจ และค่าวิเคราะห์โรค ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าจ้างพยาบาลพิเศษและค่าบริการอื่นทำนองเดียวกัน

(ง) ค่าห้องและค่าอาหารตลอดเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล

(จ) ค่าพาหนะนำผู้ประสบภัยไปสถานพยาบาล

(2) ค่าใช้จ่ายในกรณีความเสียหายต่อชีวิต ได้แก่

(ก) ค่าปลงศพ

(ข) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ

จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นกรณีความเสียหายต่อร่างกายเท่ากับจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท (กรณีบาดเจ็บสาหัส 35,000 บาท) ส่วนกรณีความเสียหายต่อชีวิตได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท

ต่อมาเมื่อมีการพิสูจน์ความรับผิดผู้ประสบภัยที่ได้รับการพิสูจน์ความผิดแล้วปรากฏว่าไม่มีความผิดจะได้รับค่าเสียหายเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย (แต่หากปรากฏว่ามีความผิดจะถูกไล่เบี้ยหรือให้คืนเงินตาม 31 พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535) ตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ. 2554 ที่กำหนดให้มีจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อครั้งสำหรับผู้ประสบภัยต่อราย ดังต่อไปนี้

(1) จำนวนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย นอกจากกรณีตาม (2)

(2) จำนวน 200,000 บาทต่อราย สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ตาบอด

(ข) หูหนวก

(ค) เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด

(ง) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถในการสืบพันธุ์

(จ) เสียแขน ขา มือ เท้า หรือนิ้ว

(ช) จิตพิการอย่างติดตัว

(ซ) ทุพพลภาพอย่างถาวร

(3) จำนวน 200,000 บาทต่อราย สำหรับความเสียหายต่อชีวิต

ยกตัวอย่าง รถยนต์คัน A ชนกับรถยนต์คัน B ผู้โดยสารในรถยนต์คัน A ถึงแก่ความตายทันที 1 คน ส่วนรถยนต์คัน B เสียชีวิต 1 คน คนที่เล่นน้ำอยู่บริเวณรอบๆ บาดเจ็บสาหัส 1 คนเนื่องจากถูกถังน้ำทับล้วนเป็น “ผู้ประสบภัย” มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นทันทีโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิด (มาตรา 25) และบริษัทจะยกเอาความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยมิได้ ดังนั้น ผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาล เป็นค่าเสียหายเบื้องต้นทันทีเท่ากับจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อพิสูจน์ความผิดแล้วปรากฏว่า ผู้ประสบภัยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดจากอุบัติเหตุดังกล่าวจะได้รับเงินเท่ากับจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท (15,000+35,000) สำหรับกรณีบาดเจ็บธรรมดาและ 200,000 สำหรับกรณีบาดเจ็บสาหัส ส่วนผู้ประสบภัยที่ถึงแก่ความตายทายาทจะได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาท และเมื่อพิสูจน์ความผิดแล้วปรากฏว่าไม่มีความผิดจะได้รับเงิน 200,000 บาท เป็นต้น


สุดท้ายนี้ขอให้เล่นสงกรานต์อย่างมีสติ และปลอดภัยจากอุบัติเหตุกันทุกท่านนะครับ


นายพรหมพิริยะ พรสุข
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
https://www.facebook.com/สำนักกฎหมาย-สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


สงกรานต์อันตราย กับ “ค่าเสียหายเบื้องต้น”

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์