“สนามหลวง” โฉมใหม่ ยัง “สาธารณะ” อยู่ไหม ?

“สนามหลวง” โฉมใหม่ ยัง “สาธารณะ” อยู่ไหม ?


ไม่ปรากฏชัดเจนว่าสร้างขึ้น ณ วัน-เวลาใด ว่ากันว่าเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ "สนามหลวง" ก็ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน

ประวัติศาสตร์บันทึกการใช้งานหลักของ "พื้นที่" แห่งนี้ไว้ว่า เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ชั้นสูง คนทั่วไปจึงเคยเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "ทุ่งพระเมรุ" ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น "ท้องสนามหลวง" ในรัชกาลที่ 4

ในรัชกาลปัจจุบัน การใช้งานนั้นยังคงอยู่ เช่นกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จสวรรคต ก็มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ สนามหลวงแห่งนี้ หรือแม้กระทั่งการจัดพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ถอยออกมาจากการใช้งานในวาระสำคัญ หากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้ผ่านมายัง "สนามหลวง" ในเวลาปกติ พวกเขาย่อมเคยเจอกับลานเปิดโล่งต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาใช้สอย พื้นที่ รายล้อมด้วยกิจกรรมอันหลากหลายอยู่ภายในอย่างมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเล่นว่าว เตะฟุตบอล ขายน้ำ ขายอาหาร หรือแม้แต่กิจกรรมทางการเมือง

เมื่อกลางปี 2553 พื้นที่ดังกล่าวก็มีอันต้องถูกล้อมรั้วอย่างมิดชิด ด้วยเหตุผลว่าเป็น "การปรับปรุงภูมิทัศน์" โดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานครและกองทัพบก ด้วยงบโครงการไทยเข้มแข็งเป็นเงิน 181 ล้านบาท โดยเริ่มต้นวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 และมีระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน

จากที่เคยเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าไปได้อย่างอิสระ "สนามหลวง" ก็ได้สร้างความแปลกใจให้กับผู้ที่ไม่ทราบข่าวที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งผู้ที่ทราบข่าวก็ยังต้องแปลกใจกับรั้วที่ล้อมรอบซึ่งตั้งอยู่สุดขอบ พื้นที่ จนผู้สัญจรต้องลงมาเดินบนถนนอย่างน่าหวาดเสียว

ล่าสุด รายงานข่าวบอกว่า
"สนามหลวง" จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 สิงหาคม 2554 โดยยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการใช้อย่างชัดเจนออกมา  เบื้องต้นจะอนุญาตเฉพาะพระราชพิธีและรัฐพิธีสำคัญ พร้อมกับอนุญาตให้พักผ่อน นั่ง-นอนเล่น ขี่จักรยาน และห้ามกิจกรรมละเล่น กีฬา คอนเสิร์ต จอดรถ และโรงทาน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเสื่อมโทรม และรักษาความเป็น "โบราณสถาน"

ณ ปัจจุบัน รั้วที่เคยปิดกั้นครั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ได้รื้อถอนออกไปแล้ว ปรากฏให้เห็นรั้วเหล็กสีเขียวอยู่รอบบริเวณ พร้อมกับการปรับปรุงที่บางจุดยังไม่เสร็จ  เวลาผ่านไปมากกว่า 1 ปี ปฏิบัติการของกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ "สนามหลวง" ล่าช้าโดยปราศจากคำอธิบายมาหลายสิบวัน อีกทั้งหลักเกณฑ์การใช้งานเบื้องต้นของ "สนามหลวง" โฉมใหม่ก็ยังมีคำถามถึงความเหมาะสมอยู่พอสมควร


ก่อนที่จะมีขนาดกว้างขวางอย่างทุกวันนี้ "สนามหลวง" ในอดีตเคยมีขนาดราวครึ่งหนึ่ง ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จะมีการยกเลิกวังหน้า พื้นที่จึงได้รับการขยับขยายจนมีขนาด 74 ไร่ 63 ตารางวาอย่างในปัจจุบัน  ในช่วงแรกการใช้งานพื้นที่จะให้น้ำหนักไปกับการเป็น "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" เสียเป็นส่วนใหญ่ ในลักษณะพระราชพิธีต่างๆ ก่อนที่จะมีวิวัฒนาการไปยัง "พื้นที่สาธารณะ" และตัดสลับกลับไป-มาตามเหตุปัจจัย

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เชื่อมโยงอดีตของ "สนามหลวง" ให้เห็นวิวัฒนาการในการใช้พื้นที่ว่า จุดเปลี่ยนแรกที่สนามหลวงเริ่มมีความเป็นสาธารณะ เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปรับความคิดสมัยใหม่จากโลก ตะวันตก เริ่มมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น แข่งกีฬาต่างๆ (แต่ก็ยังจำกัดไว้เฉพาะเจ้านายและผู้ดี) และมีการเปลี่ยนแปลงเด่นชัดขึ้นในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของ คณะราษฎร โดยเริ่มมีการใช้งานเกี่ยวกับ "รัฐพิธี" ที่เกี่ยวกับชาติมากขึ้น มีกิจกรรมที่สามัญชนเข้าไปใช้มากขึ้น

จุดเปลี่ยนต่อมา เกิดขึ้นราวปี 2476 ในสมัยรัชกาลที่ 7 รัฐบาลจัดรัฐพิธีให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คนคราวปราบกบฏบวรเดช โดยได้จัดสร้างเมรุชั่วคราว ณ ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) ถือเป็นครั้งแรกที่สร้างเมรุสำหรับสามัญชนบนท้องสนามหลวง โดยก่อนหน้านั้นจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น

ระทั่งช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็มีการประกาศให้สนามหลวงเป็นพื้นที่ "ไฮปาร์ค" ทางการเมือง ที่นักการเมืองจะมาประกาศนโยบาย หรือแม้แต่มีการชุมนุมทางการเมือง จนในที่สุด "สนามหลวง" ก็ขยับสถานะไปยัง "พื้นที่สาธารณะ" เรื่อยๆ ถึงขีดสุดเมื่อมีการประกาศให้เป็น "ตลาดนัด" ในปี 2491

ขณะที่ "สนามหลวง" เริ่มมีทั้งไฮปาร์คและตลาดนัดเข้ามา "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" ก็เริ่มกลับเข้ามา และซ้อนทับกับ "พื้นที่สาธารณะ" โดยมาชัดเจนหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีการฟื้นพระราชพิธี เช่น พิธีแรกนาขวัญ จนในที่สุดการ "อยู่ร่วมกัน" ของพื้นที่ทั้งสองก็สิ้นสุดลง เมื่อโครงการฉลองกรุงฯ ครบ 200 ปี ในปี 2525 ได้ย้าย "ตลาดนัด" ออกไป และเป็น "ตลาดนัดจตุจักร" ในปัจจุบัน

"หลังการบูรณะพื้นที่ รัฐเริ่มควบคุมการใช้มากขึ้น มีการใช้วาทกรรมว่า ‘ห้ามคนเร่ร่อนมานอนเพราะสกปรก' ไปสู่สาธารณชนมากขึ้น  ตอนนั้นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองจะยังใช้ได้ แต่กิจกรรมที่จะให้ภาพลักษณ์แบบสาธารณอย่างตลาดนัดจะใช้ไม่ได้เลย" เขาเล่าภาพการย้ายกิจกรรมของสามัญชนออกไปจากสนามหลวง

หลังจาก "สนามหลวง" ได้ย้ายตลาดนัดออกไปแล้ว ขณะที่ช่วงเวลานั้นก็มีการจัดพระเมรุมาศมากกว่าในทศวรรษก่อน ภาพรับรู้ในลักษณะ "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการชุมนุมทางการเมืองก็ยังหลงเหลืออยู่

กระทั่งปัจจุบัน หากถามว่า "สนามหลวง" มีการใช้งานพื้นที่อย่างไร ระหว่าง "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" และ "พื้นที่สาธารณะ" คนทั่วไปอาจมีภาพรับรู้ใน 2 รูปแบบใกล้เคียงกัน จนไม่สามารถแยกประเภทได้อย่างเบ็ดเส็ดเสียทีเดียว

จากเอกสาร "ข้อมูลสรุปการดำเนินงานปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สนามหลวง" บอกเหตุผลในปฏิบัติการภายใต้งบประมาณ 181 ล้านไว้ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา สนามหลวงต้องรองรับการจัดงานพิธีและสาธารณประโยชน์โดยไม่ได้ว่างเว้น พื้นที่จึงมีสภาพเสื่อมโทรมลง แม้กรุงเทพมหานครจะมีการซ่อมแซมอยู่ทุกปี แต่เป็นการปรับปรุงเป็นบางแห่งเท่านั้น ต่างจากครั้งนี้ที่เป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 (ครั้งที่ 1 ราวปี 2525 ครั้งที่ 2 ราวปี 2542) เพื่อให้สวยงามเหมาะสมกับเป็น "โบราณสถาน" เกิดความสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย

จากที่เคยเป็นพื้นที่ทรุดโทรมลงตามวัน-เวลา ก็มีหญ้าสีเขียวสดอยู่เต็มพื้นที่ โดยเว้นบริเวณรอบๆ ไว้สำหรับคนทั่วไปมาใช้พักผ่อน และเว้นบริเวณตรงกลางไว้สำหรับเดินตัดผ่านจากฝั่งศาลฎีกา มายังหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อีกทั้งรอบพื้นที่จะมีรั้วเหล็กสีเขียวสูงราว 1.7 เมตรอยู่รอบบริเวณ มีทางเข้าเป็นจุด และอนุญาตให้เข้าไปภายในเฉพาะ 05.00 - 22.00 น. (หากมีผู้บุกรุกโบราณสถานจะมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. โบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504)

ตามข่าวบอกว่า กรุงเทพมหานครจะเปิดให้ใช้ "สนามหลวง" ในวันที่ 9 สิงหาคม 2554 พร้อมกับพิธีทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้า อยู่หัว มีพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคล ตลอดจนจัดนิทรรศการความเป็นมาของท้องสนามหลวง และการดำเนินงานปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ท้องสนามหลวงให้ประชาชนได้รับทราบ ด้วย

ขณะนี้ หลักเกณฑ์โดยชัดเจนยังไม่แล้วเสร็จ  โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า จะเน้นให้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและงานรัฐพิธีที่สำคัญ สำหรับกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของประชาชนทั่วไป ก็จะอนุญาตให้ใช้เพื่อการพักผ่อน เดินเล่น และขี่จักรยานเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้มีการค้าขายหาบเร่ แผงลอย และรถเข็นสินค้าภายในสนามหลวงอีกต่อไป

ที่ผ่านมายอมรับว่าปล่อยให้คนใช้สนามหลวงจนเละเทะ ไม่มีการควบคุมให้ใช้ประโยชน์อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับฐานะความเป็นโบราณ สถาน เมื่อมีการปรับปรุงพื้นสนามหลวง เดิม กทม. จะแบ่งเป็นพื้นหญ้ากับพื้นคอนกรีต เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ แต่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เสนอว่าควรจะต้องปูพื้นหญ้าทั้งหมด ทำให้ต้องห้ามทำกิจกรรมละเล่นและกีฬา เพราะจะกระทบต่อผู้ที่มาพักผ่อน รวมทั้งกิจกรรมขององค์กรต่างๆ เช่น สมาคมหรือมูลนิธิที่ขออนุญาตจัดโรงทานหรืองานการกุศล งานคอนเสิร์ตก็จะไม่อนุญาตอีกต่อไป ตลอดจนจะไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จอดรถเหมือนที่ผ่านมาอีกด้วย

ส่วนเรื่องที่นักวิชาการเสนอให้มีการรักษาพื้นที่สนามหลวงเพื่อทำ กิจกรรมทางการเมือง กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวและจัดเวทีปราศัยชุมนุมทางการเมืองเช่นประวัติ ศาสตร์เดือนตุลา ผมมองว่ามันเป็นเรื่องอดีตเท่านั้น และยังมีพื้นที่สำหรับไฮด์ปาร์กหลายแห่ง เช่น ลานคนเมือง เสาชิงช้า ก็ใช้ได้สะดวกกว่าสนามหลวง ดังนั้นเราควรจะรักษาสนามหลวงให้มีความสวยงาม และไม่ให้เป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่มีคนกินเหล้าแล้วขับถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระให้ สกปรกอีกต่อไป"
  สุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการเขตพระนคร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่สนามหลวงกล่าว

(http://www.thaipost.net/)

สอดคล้องกับความเห็นของ เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพ มหานคร ที่มองว่า สนามหลวงเป็นพื้นที่สำหรับพิธีกรรมทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หลังจากปี 2491 ที่มีตลาดนัดเกิดขึ้น ก็เริ่มมีคนจรจัด มีคนขายของ แม้จะย้ายไปอยู่ที่ "ตลาดนัดจตุจักร" ในปัจจุบันแล้ว แต่ปัญหานั้นก็ยังคงอยู่  การปรับปรุงครั้งใหญ่ครั้งนี้ จึงตั้งใจเก็บรักษาไว้สำหรับพิธีกรรมตามประเพณีสมัยรัตนโกสินทร์เป็นหลัก

"เราตั้งใจใช้เป็นพื้นที่จัดพิธีกรรมตามประเพณีสมัยรัตนโกสินทร์ที่สวย งามเป็นหลัก และอนุญาตให้คนเข้ามาพักผ่อน มาปิกนิคในระหว่างวัน เป็นที่จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อที่จะเชิดหน้าชูตาของประเทศ และสามารถเป็นที่ที่ปราศรัย รวมตัวของประชาชนได้ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบ ปราศรัยเสร็จ ตอนเย็นก็ต้องเลิก ไม่ใช่ค้างคืน ก็เป็นที่ของประชาชน ที่ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นระเบียบ" โฆษกกรุงเทพมหานครกล่าว

เมื่อสอบถามถึงกรณีที่ "สนามหลวง" เปิดช้ากว่ากำหนดมาหลายเดือน ว่าเป็นเพราะอะไร และจะมีผลต่องบประมาณที่บานปลายหรือไม่ โฆษกกรุงเทพมหานครตอบว่า "กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา และในส่วนของงบประมาณก็ไม่เกินอยู่แล้ว เราใช้เกินงบไม่ได้"


ณ ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน "สนามหลวง" เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา เป็นเหตุให้รัฐเลือกที่จะเก็บโบราณสถานแห่งนี้เอาไว้อย่างทะนุถนอม  หากแต่ชาตรี ประกิตนนทการ กลับมองว่าความเป็น "โบราณสถาน" ของ "สนามหลวง" มีความต่างกับของที่อื่น เพราะสถานที่แห่งนี้ยังมีการใช้งาน ยังมีความเคลื่อนไหว นั่นคือเป็น "โบราณสถานมีชีวิต"

"สนามหลวงเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์จริง ไม่มีใครปฏิเสธ เพียงแต่ว่ารัฐต้องคำนึงด้วยว่า มันไม่ใช่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่เป็นพื้นที่ไม่มีคนอาศัย  สนามหลวงเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีคนอาศัยอยู่ต่อเนื่อง มันไม่ใช่แค่อดีต มันเป็นปัจจุบัน และมันก็เป็นอนาคตด้วย ปัจจัยแค่เพียงเป็นโบราณสถานมันไม่สามารถกำหนดกฎระเบียบและการใช้งานในอนาคต ได้"

เขามองว่า ณ ปัจจุบัน สนามหลวงในสังคมไทย เป็นการต่อสู้กันระหว่างมุมมองสองแบบ ซึ่งในอดีตบางช่วงมันจะสามารถอยู่ด้วยกันได้ แต่วินาทีปัจจุบัน กลุ่มคนที่อยากให้สนามหลวงเป็น "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" จะไม่ยอมให้ "พื้นที่สาธารณะ" มาซ้อนทับกันอีกแล้ว

"มันน่าตลกมากที่รัฐมักอ้างว่าออกแบบเพื่อเรา แต่เขากลับไม่เคยฟังความเห็นของเราเลย" เขาเอ่ยขึ้น

ชาตรี พูดอย่างชัดเจนว่า หากตั้งใจให้ "สนามหลวง" เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนจริง กรุงเทพมหานครต้องปรับทัศนคติใหม่ ต้องเข้าใจก่อนว่าอะไรเป็นหลักการเพื่อส่วนรวม แล้วทำให้นโยบาย กฎระเบียบ หรือรูปธรรมในการออกแบบพื้นที่ ไม่ละเมิดจากหลักนั้น  รัฐบาลต้องตระหนักว่าการบริหารแบบแนวดิ่งมันใช้การไม่ได้ ต้องมาถกเถียงหาทางออกร่วมกัน เพราะการปรับปรุงพื้นที่ "สนามหลวง" นั้นเชื่อมโยงในหลากหลายมิติหลักการประชาธิปไตย หลักการใช้พื้นที่สาธารณะ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม เรื่องนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

               "ความคิดที่ว่าถ้าการพัฒนาเมืองก็ต้องปล่อยให้สถาปนิกเป็นคนทำ นั่นเป็นโลกทัศน์แบบเดิม ถ้าหากเราตั้งเป้าว่าจะให้เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ' ดีไซน์เนอร์จะไม่ใช่ผู้รู้ มันต้องใช้นักอะไรอีกหลายนักมากๆ เช่น นักรัฐศาสตร์ นักมนุษยศาสตร์ นักมานุษยวิทยา รวมถึงชาวบ้านด้วย หรือแม้แต่คนเร่ร่อนและหญิงขายบริการก็ตาม เพราะเขาก็มีประสบการณ์ที่สามารถบอกได้ว่าต้องการอย่างไร ผมไม่ได้ปฏิเสธผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ดีไซน์เนอร์จะเป็นเพียงช่างเทคนิคที่อยู่ในทีมเท่านั้น" เขาเล่าถึงขั้นตอนที่ควรจะเป็นของการปรับปรุง "สนามหลวง" ที่กรุงเทพมหานครมิเคยใส่ใจ




ที่มา
greenworld
ขอบคุณ วาไรตี้ไทยซ่า


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์