สมุนไพร(ก็)ก่อมะเร็ง

สมุนไพร(ก็)ก่อมะเร็ง

สมุนไพร(ก็)ก่อมะเร็ง


 สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวฮือฮาจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ว่าตรวจพบสารก่อมะเร็งจากตำรับยาแผนไทยรวม 10 ตำรับจากบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่มีชื่อไม่คุ้นหูว่าไคร้เครือ ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้ไม่ได้เป็นญาติอะไรกับตะไคร้และกวาวเครือ แต่เป็นพืชไม้เถา โดยนำเอาส่วนของรากมาทำเป็นยาสมุนไพร เนื่องจากสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมตัวจริงนับวันจะหายากขึ้น โดยสรรพคุณแล้วไคร้เครือใช้รักษาโรคพิษไข้ เป็นยาชูกำลังช่วยเจริญอาหาร
 
ส่วนยาแผนไทยที่ถูกตัดออก 10 ตำรับก็เป็นพวกยาหอม ยาเขียว ยาธาตุ อันได้แก่ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมแก้ลมวิงเวียน ยาหอมอินทจักร์ ยาธาตุบรรจบ ยาประสะการพลู ยาประสะเจตพังคี ยามันทธาตุ ยาวิสัมพยาใหญ่ ยาเขียวหอม และยาอำมฤควาที ที่ต้องระบุชื่อให้ชัดกันอีกครั้งก็เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

                    
เหตุที่เจ้าสมุนไพรไคร้เครือมีสารก่อมะเร็งเพราะมีกรดอริสโตโลคิก
 
ซึ่งองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์มานานหลายปีเนื่องจากมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนแล้วว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นที่ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนั้นยังมีพิษต่อไต ตับ ต่อมหมวกไต ทำให้เกิดภาวะไตวายและในสัตว์ทดลองยังทำให้มดลูกผิดปกติและทำให้แท้งได้

                    
สมัยนี้เห็นยาสมุนไพรอัดแคปซูลขายไปทั่ว มิหนำซ้ำยังอวดอ้างโฆษณาเกินความจริงก็มาก เรียกว่ารักษากันได้หมดทุกโรค ไม่เว้นแม้แต่โรคมะเร็ง
 
ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วยังไม่มีการรับรองสรรพคุณสมุนไพรไทยตัวใดๆ ในการรักษาโรคมะเร็งแต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะช่วยลดผลข้างเคียงของการให้ยาเคมีบำบัดหรือช่วยบำรุงสุขภาพโดยรวม พอมีข่าวนี้ออกมาพวกที่ชอบกินยาสมุนไพรอย่างไม่ค่อยระมัดระวังคิดว่าเป็นยาจากธรรมชาติไม่ต้องรับสารเคมีจากยาแผนปัจจุบันก็ต้องเอาใจใส่มากขึ้น นอกจากอาจจะมีสารก่อมะเร็งอย่างที่ว่าแล้ว ความสะอาดจากกระบวนการเตรียมการผลิต การบรรจุลงแคปซูลและหีบห่อได้มาตรฐานหรือไม่เพราะอาจได้เชื้อราติดมาเป็นของแถม

                    
นอกจากนั้นยาสมุนไพรแปรรูปจำนวนไม่น้อยที่มีการแอบใส่สารสเตียรอยด์เข้าไปอีก กินเข้าไปช่วงแรกก็จะมีอาการดีขึ้น
 
แต่กินไปกินมาหน้าเริ่มกลม อ้วนขึ้น ผิวหนังแตกลายงา ตัวบวมเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นก่อนจะใช้ยาสมุนไพรควรเลือกจะแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือได้มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือ อย. ที่สำคัญต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ อย. เท่านั้น แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะสมัยนี้มีการปลอมเลข อย. กันด้วยอีกตะหาก

ถ้าไม่แน่ใจอย่าเพิ่งใจร้อนไปเสียเงินเสียทองรีบไปซื้อมากิน ทางที่ดีตรวจสอบกับทาง อย. ทางสายด่วน อย.1556 ให้แน่ใจเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและห่างไกลสารก่อมะเร็งด้วยนะครับ...ขอบอก


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์