สร้างกล้ามเนื้อคนใหม่ด้วยกระเพาะ หมู


ทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการเพาะสร้างกล้ามเนื้อของคนเราขึ้นมาใหม่ หลังจากกล้ามเนื้อดังกล่าวเสียหายไปนานหลายปี โดยอาศัย "กระเพาะหมู" เป็นปัจจัยหลักในการเพาะสร้างกล้ามเนื้อดังกล่าวขึ้นมาใหม่


ทีมศึกษาวิจัยดังกล่าวซึ่งนำโดยนายแพทย์ สตีเฟน เบดีแลค ทดลองใช้วิธีการใหม่นี้กับอาสาสมัคร 5 คน อายุระหว่าง 20ปีเศษไปจนถึง 30 ปีเศษ แต่ละคนได้รับบาดเจ็บสูญเสียกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา (ควอดริเซปส์) ข้างหนึ่งระหว่าง 58 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึงมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์มานานหลายปี สองคนในจำนวนนั้นเป็นทหารผ่านศึกที่โดนระเบิด อีกสองคนเป็นนักสกีที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นสกี สุดท้ายเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อที่เสียหายดังกล่าว เรียกกันว่า "แอนทีเรียร์ ทิเบียล คอมพาร์ทเมนท์" หรือกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอก


วิธีการที่ใช้ในกระบวนการเพาะสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่นั้น เป็นการนำเอา "กระเพาะหมู" มากำจัดส่วนที่เป็นเซลล์ออกไปให้หลงเหลือแค่โครงของโปรตีนแข็งแรงเอาไว้เท่านั้น จากนั้นก็จัดการผ่าตัดเพื่อขจัดส่วนที่เป็นแผลเป็นบริเวณที่กล้ามเนื้อเสียหายออกไป แล้วแปะโครงของกระเพาะหมูเข้าไว้ในบริเวณดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เมื่อโครงโปรตีนที่ได้จากกระเพาะหมูดังกล่าวนั้นเสื่อมสภาพมันจะส่งสัญญาณในระดับโมเลกุลต่อโมเลกุลไปยังสเต็มเซลล์ของกล้ามเนื้อ (ส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่) ให้เพาะสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่





ดร.เบดีแลค ระบุว่า โครงสร้างโปรตีนของกระเพาะหมูดังกล่าวนั่นเองที่ส่งสัญญาณไปให้เซลล์ของกล้ามเนื้อเริ่มเพาะสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่ เป็นการบอกให้เซลล์เหล่านั้นแบ่งตัวและจัดเรียงในลักษณะที่ควรจะเป็นอีกครั้ง


ผู้ป่วยอาสาสมัคร ได้รับการติดตามตรวจสอบต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน ควบคู่ไปกับการกำกับให้มีการทำกายภาพบำบัด อาสาสมัคร 3 ใน 5 คนมีอาการกระเตื้องขึ้นมากพอจนแพทย์สามารถสรุปได้ว่า การผ่าตัดประสบความสำเร็จ เพราะผู้ป่วยอาสาสมัคร 3 รายนี้สามารถใช้ขาข้างดังกล่าวยืนด้วยขาข้างเดียวได้อีกครั้ง ส่วนอีก 2 คนที่เหลือไม่แสดงให้เห็นอาการกระเตื้องขึ้นหรือได้ประโยชน์จากกระบวนการนี้


สร้างกล้ามเนื้อคนใหม่ด้วยกระเพาะ หมู



กล้ามเนื้อ เป็นเนื้่อเยื่อหนึ่งในสองสามอย่างของคนเราที่สามารถสร้างใหม่ได้ โครงของโปรตีนที่เคยเป็นที่เกาะของเซลล์ของกระเพาะหมูนั้น นอกจากจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์ของกล้ามเนื้อกลับมาสร้างกล้ามเนื้อใหม่แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนกรอบกำหนดการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อใหม่เพื่อแทนที่กล้ามเนื้อที่เสียหายไปอีกด้วย


ทีมวิจัยเริ่มทดลองและประสบความสำเร็จในการสร้างกล้ามเนื้อใหม่ด้วยกระบวนการนี้ให้กับหนูทดลอง แต่ต้องการทดลองในคนด้วยเพื่อตรวจสอบการไหลเวียนของโลหิตและระบบประสาทของกล้ามเนื้อเกิดใหม่ดังกล่าวด้วยและได้รับการยืนยันว่ากล้ามเนื้อใหม่มีการไหลเวียนของโลหิตและมีระบบประสาทกลับคืนมาเหมือนเดิม


การทดลองในผู้ที่กล้ามเนื้อเสียหายไปหลายปีแล้วนั้น เนื่องจากทีมทดลองต้องการให้แน่ใจว่า กล้ามเนื้อที่เกิดใหม่เกิดจากกระบวนการนี้จริง ไม่ใช่เกิดจากกระบวนการฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่เป็นธรรมชาติของคนเรา อย่างไรก็ตาม เบดีแลค ชี้ว่า วิธีนี้น่าจะใช้ได้ผลมากกว่าและเร็วกว่าในกรณีที่การสูญเสียเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ เพียงไม่นานหลังจากการผ่าตัดเพื่อรักษาบาดแผลแล้ว หรือทำไปพร้อมๆกับกระบวนการรักษาบาดแผลนั่นเอง




เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์