สวมเกราะกันโรคด้วยวัคซีน

สวมเกราะกันโรคด้วยวัคซีน



คนส่วนมากเข้าใจว่าเด็กเท่านั้นที่จะรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกายได้ จนลืมคิดว่าผู้ใหญ่ก็ป่วยได้และควรรับวัคซีนเช่นกัน


คนจำนวนมากมักเข้าใจว่า เด็กเท่านั้นที่จะรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกายได้ จนลืมคิดไปว่าผู้ใหญ่ก็ป่วยได้และควรรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคไม่ต่างกัน

ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มีหลากหลายสาเหตุทั้งจากแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ เชื้อรา ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้มีทั้งที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ให้ผลข้างเคียงที่น่ากลัว หรือบางโรคอาจเป็นแล้วหายได้เอง ซึ่งวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน

อุบัติการณ์เจ็บป่วยของคนไทยที่ผ่านมา พบว่าคนไข้ที่มาพบแพทย์มักมีอาการเป็นไข้สูง เจ็บคอ ไอ โดยร้อยละ 20 ของคนไข้หรือประมาณ 9 แสนรายต่อปี มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และเมื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกยังพบอีกว่าประมาณ 7.6 แสนรายเป็นคนไข้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่อายุระหว่าง 35-45 ปี ส่วนอีก1.4 แสนรายมีอายุอยู่ที่ 20 ปีขึ้นไป

“คนส่วนมากเข้าใจว่าเด็กเท่านั้นที่เหมาะกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเพราะเขาไม่มีภูมิต้านทานโรค แต่มองข้ามความจำเป็นในการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัยทำงานต้องออกนอกบ้านและมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคอยู่ตลอดเวลามากกว่าเด็ก จึงทำให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคมากที่สุดในปัจจุบัน” ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าว


สวมเกราะกันโรคด้วยวัคซีน

จากข้อมูลการศึกษาของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในคนปกติเป็นวิธีที่ป้องกันการเกิดโรคที่ได้ผลดีที่สุด สังเกตจากการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในเด็กที่เกิดหลังปี 2539 สามารถทำให้อุบัติการณ์ของโรคไวรัสตับในผู้ป่วยหน้าใหม่ลดลง

ศ.นพ.สมิง เก่าเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแนวทางเวชปฏิบัติและการจัดการความรู้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า โดยทั่วไปแล้วโรคติดเชื้อเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ขณะเดียวกันหากร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้ทันก็จะหายจากโรค แต่หากเชื้อโรคมีความรุนแรงมากจนร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิขึ้นมาต่อต้านกับเชื้อโรคได้ ผลร้ายแรงที่สุดอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตเลยก็ได้

“การฉีดวัคซีนที่ได้ผลดีคือการฉีดในคนปกติที่ยังไม่ป่วยเป็นโรค เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน ไม่ใช่รับเชื้อโรคมาแล้วจึงฉีดแบบนั้นจะไม่ได้ผลอะไรเลย”ประธานคณะอนุกรรมการแนวทางเวชปฏิบัติและการจัดการความรู้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวพร้อมยกตัวอย่างว่า อย่างโรคคอตีบ โรคหัด โรคคางทูม โรคไอกรน โรคโปลิโอ เหล่านี้มีวัคซีนป้องกันมานานแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนในวัยเด็ก เมื่อโตมาสู่วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ควรรับวัคซีนต่อเนื่อง เพราะจะช่วยป้องกันการเกิดโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 100%

การฉีดวัคซีนให้ได้ผล ผู้ถูกฉีดต้องศึกษาข้อมูล อาจเลือกไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษา เพราะวัคซีนที่นำมาใช้ฉีดมี 2 แบบคือ วัคซีนที่พัฒนาขึ้นจากเชื้อโรคที่ตายแล้ว และวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจากเชื้อโรคที่ยังไม่ตายแต่อ่อนแรง ซึ่งก็มีตัวยาหลายตัว หลายขนาดที่จะนำไปใช้กับช่วงวัยที่ต่างกัน

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะรับวัคซีนคือ เราเคยฉีดวัคซีนอะไรมาแล้วบ้าง ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคตมีมากน้อยแค่ไหน เพราะบางคนอาจทำงานในสถานพยาบาลซึ่งมีผู้ที่ป่วยเข้าออกตลอดเวลา หรือต้องดูแลผู้ป่วยด้วยตัวเอง การประสานงานในแต่ละวัน ถ้ายิ่งมีความเสี่ยงในการรับเชื้อก็ควรเลือกที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคไปเลยดีกว่าอย่างไรก็คุ้มค่ากับชีวิตแน่นอน

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร เลขานุการ คณะอนุกรรมการร่างคำแนะนำการให้วัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2555
 
กล่าวเสริมว่า วัคซีนที่ผู้ใหญ่ควรได้รับเพื่อป้องกันโรค อาทิ วัคซีนบาดทะยัก+คอตีบ ในเข็มเดียวกัน ซึ่งจะป้องกันการติดเชื้อจากบาดแผล ซึ่งสามารถสร้างสารพิษทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ชัก และเสียชีวิตได้จากภาวะล้มเหลวของหัวใจ รวมถึงป้องกันโรคคอตีบ ที่เกิดจากแบคทีเรีย ซึ่งหากติดเชื้อ ตัวเชื้อจะอยู่ในจมูก ลำคอ โดยไม่แสดงอาการและกระจายไปยังผู้อื่นได้

ความร้ายแรงของโรคคอตีบนั้น หากมีอาการเฉียบพลัน มีไข้สูง เจ็บคอ มีอาการอักเสบของเยื่อบุคอ เป็นแผ่นเยื่อหนาทำให้หายใจลำบาก อาจทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบ จนแขนขาอ่อนแรงได้

“ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวต่อว่า การให้วัคซีนที่เหมาะสมในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรค ทำให้กระบวนการรักษาและการดูแลตัวเองทำได้ดีขึ้น ซึ่งอนาคตทางราชวิทยาลัยจะมีการผลักดันให้ทางกระทรวงสาธารณสุข นำคำแนะนำในการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ จัดทำขึ้นในปี 2555 ไปใช้เป็นมาตรฐานในการให้วัคซีนในผู้ใหญ่อีกด้วย


สวมเกราะกันโรคด้วยวัคซีน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์