สังเกตผู้สูงอายุ - ชะลออัลไซเมอร์

สังเกตผู้สูงอายุ - ชะลออัลไซเมอร์



โนวาร์ตีสร่วมกับจีทีเอช จัดกิจกรรม Unforgettable Talk เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว ให้ผู้สูงอายุและบุตรหลาน ร่วมฟังความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์ มาร่วมพูดคุยให้ความรู้ ที่โรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนีเพล็กซ์


เภสัชกรหญิงศิริลักษณ์ สุธีกุล ประธานบริหารบริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้วิจัยและผลิตเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาโรคทางระบบประสาท กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์ ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความเข้าใจของเรายังไม่มากพอ ทั้งๆ ที่เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก และบางครั้งคนรอบข้างก็จะไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยอย่างไร

พ.ญ.โสฬสินี เหมรุ่งโรจน์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า

สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับความคิด ความจำ และการใช้ภาษา อาการหลงลืมจากโรคอัลไซเมอร์จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากการที่ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดได้และในที่สุดก็จดจำบุคคลใกล้ชิดไม่ได้ ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำ และการทำงานของสมองในด้านอื่น ๆ อีก เช่น สูญเสียความรอบรู้ การใช้ภาษา การคิดคำนวณ การใช้มือทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรม และอารมณ์

ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ เช่น หงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา หรือเฉยเมย เป็นต้น โดยในระยะสุดท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

สังเกตผู้สูงอายุ - ชะลออัลไซเมอร์



นายแพทย์ ไพโรจน์ บุญคงชื่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรม ด้านประสาทวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่

จะดูจากประวัติการลืมและความผิดปกติอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา ถ้าอาการเป็นชัดเจนก็จะให้การวินิจฉัยได้เลย แต่ถ้าเป็นอาการแรกเริ่ม อาจต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยไปสักระยะหนึ่งก่อน ร่วมกับการตรวจเอกซเรย์พิเศษที่ดูการใช้ออกซิเจนและการใช้พลังงานของสมอง ซึ่งหากตรวจพบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ให้ยาช่วย เพื่อชะลอการสูญเสียความจำของผู้ป่วยให้ช้าลง ให้ดูแลตนเอง และทำกิจวัตรประจำวัน ต่างๆ ได้นานขึ้น แต่ไม่สามารถให้กลับมาจำได้ดีเท่าเดิม

ดังนั้น หากสงสัยว่าผู้สูงอายุในครอบครัวมีอาการดังกล่าว ควรพามาพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งทดสอบสมรรถภาพสมอง หรือตรวจคอมพิวเตอร์สมอง เพื่อหาหนทางรักษาที่ถูกต้อง


โดยอาจพิจารณาให้ยาชะลออาการความจำเสื่อม ซึ่งในบางรายที่มีอาการทางพฤติกรรมรุนแรง อาจจำเป็นต้องมีจิตแพทย์ช่วยในการรักษาด้วย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์