สาระ! กินยาอย่างไรไม่ให้ไตพัง ก็แค่เลิกซื้อยาชุดกินเอง!


สาระ! กินยาอย่างไรไม่ให้ไตพัง ก็แค่เลิกซื้อยาชุดกินเอง!

ในวัยสูงอายุที่โรคภัยมักจะเข้ามาถามหาอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งก็คงต้องพึ่งพายาหลากหลายแผน สัปดาห์นี้คุณยาย OK จึงคิดได้ว่าต้องมีสักครั้งที่ยายจะเขียนเรื่อง "ผลกระทบ" จากการทานยา แม้ผลดีของยามีมากมาย แต่ถ้าใช้เกินกว่าร่างกายต้องการผลเสียก็จะตามมา หลายคนรู้ดีอยู่แล้วว่า...มากไปไตถามหา เพื่อให้ทุกคนตระหนักและปกป้องตัวเองให้ห่างไกลจาก "โรคไต" เรามาดูแลไตกันเถอะ เริ่มตั้งแต่วันนี้ยายว่าก็ยังไม่สายนะ

ก่อนอื่นไปดูข้อมูลจาก "กรมการแพทย์" พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยกว่า 1 แสนคน เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือล้างไตและมีค่าใช้จ่ายมากมาย ซึ่งอีกทางเลือกคือ "ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต" แต่จะหาไตมาเปลี่ยนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและยังมีค่าใช้จ่ายสูง เปลี่ยนแล้วก็ไม่จบเท่านั้น ต้องทานยากดภูมิไปตลอดชีวิต และยาก็มีทั้งอาการข้างเคียง

ภกญ.แพรพิไล สรรพกิจจานนท์ รพ.พระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า โรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญคือ "การใช้ยา" และสมุนไพรที่ทำอันตรายต่อไต โดยคนไข้ไตที่เกิดจากการควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงไม่ได้นั้น พบว่าส่วนหนึ่งเกิดจาก...การไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะเชื่อว่าทานยามาก ๆ จะทำให้ไตพัง ซึ่งไม่ใช่ยาทุกชนิดที่ทานเข้าไปแล้วจะมีผลต่อไต



โดยปกติแล้วคุณหมอจะเลือกยาและขนาดยาที่เหมาะสมกับสภาวะของคนไข้ และตรวจติดตามค่าการทำงานของไตเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต ดังนั้นจึงจำเป็นที่คนไข้ต้องทานยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งเมื่อควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้แล้ว ความเสี่ยงโรคไตเรื้อรังก็จะลดน้อยลง

แต่ประเด็นหลักที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไตเพิ่มขึ้น และยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน คือ "การซื้อยากินเอง" ยาที่เป็นอันตรายต่อไตที่พบปัญหามากที่สุด คือ กลุ่มยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่คนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก

และรู้กันหรือไม่ว่ายากลุ่มนี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง การทำงานของไตแย่ลง หากทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือทานยาในกลุ่มเอ็นเสดซ้ำซ้อนก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ส่วนยาอื่น ๆ ที่พบว่ามีผลต่อไต ได้แก่ ยาต้านจุลชีพบางชนิด เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ซึ่งควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรทุกครั้ง

ก่อนใช้ยา



สาระ! กินยาอย่างไรไม่ให้ไตพัง ก็แค่เลิกซื้อยาชุดกินเอง!


แต่ที่อันตรายยิ่งกว่านั้น คือ ยาชุด ยาสมุนไพร ยาบำรุง และอาหารเสริม ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ระบุตัวยา และส่วนประกอบที่ชัดเจน ซึ่งมักมีการลักลอบใส่สารที่เป็นอันตรายและเป็นพิษต่อไต ทำให้เนื้อไตอักเสบเฉียบพลันหรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ แต่หากมีอาการเหนื่อยง่าย บวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนโรคไต แนะนำให้รีบไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจการทำงานของไตและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ก่อนที่เนื้อไตจะถูกทำลายอย่างถาวรจนกลายเป็น "โรคไตวายเรื้อรัง"

ฉะนั้นกินยาอย่างไรไตไม่พัง...จะต้องลดปริมาณการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนซื้อยาทานเอง หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ทานอยู่ว่าซ้ำซ้อนกัน หรือมีผลต่อการทำงานของไตหรือไม่ ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็ควรไปพบหมอเป็นประจำ ไม่ควรซื้อยาทานเองอย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้ไตก็จะอยู่ให้ร่างกายเราพร้อมใช้ไปตลอดชีวิต.

สาระ! กินยาอย่างไรไม่ให้ไตพัง ก็แค่เลิกซื้อยาชุดกินเอง!

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์