สูตรลับที่ 1 แอดมิสชั่นส์ ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา ทำอะไรทำให้เต็มที่

สมัยนี้ใครอยากดังชั่วข้ามคืน ต้องประกวดร้องเพลง ประกวดนางงาม ประกวดเต้น หรือไม่ก็แหวกหน้าอก โชว์เซ็กซี่ โชว์หวิวลงสื่อโซเชียล 

แต่นั่นไม่ใช่กับ สาวคนนี้ "ปราง" น.ส.ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา เธอที่ดังชั่วข้ามคืน หลังจากชื่อของเธอตกเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ต่างๆ ว่าเป็น ผู้สอบได้คะแนนแอดมิดชั่นส์สูงสุดในประเทศ ประจำปี 2558 สอบติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 91.60 เปอร์เซ็นต์ 

หลังจากนั้น...

เธอก็ดังเป็นพลุแตก!!

สื่อทุกสำนักวิ่งเข้าหาเธอพึ่บพั่บ และยิ่งได้เห็น "ชอร์ตโน้ต" ที่สุดแสนจะเป๊ะเว่อร์ ทุกคนต่างยกนิ้วให้เลยว่า เธอเก่งคนนี้ "เมพขิงๆ" (เทพจริงๆ)

"ตกใจเหมือนกัน เพราะไม่คาดหวังว่า จะทำได้ดีขนาดนี้ และไม่ทราบว่า การเป็นอันดับ 1 จะโด่งดัง ต้องมีนักข่าวมาสัมภาษณ์มากมาย" เจ้าของตำแหน่งที่ 1 แอดมิดชั่นส์ป้ายแดง ออกตัว 

ศิรดา อายุ 18 ปี เป็นลูกสาวคนโตของ คุณพ่อสวัสดิ์ ไตรตรึงษ์ทัศนา สูตินรีแพทย์ และคุณแม่พรทิพย์ ไตรตรึงษ์ทัศนา และมีน้องชาย 1 คน จบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ เมืองทองธานี และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 

ตั้งแต่เด็กๆ สาวคนนี้ก็เรียนได้คะแนนดีมาโดยตลอด ช่วงประถมต้นได้ที่ 2 ที่ 3 แต่หลังจากนั้นก็เรียนได้ที่ 1 ของห้องมาตลอด และเป็นที่หนึ่งด้วยคะแนนเฉลี่ย "4.00" นั่นหมายความว่า เธอได้เกรด 4 ทุกวิชา 

"ปรางเต็มที่มาตลอด ไม่ว่าจะมีสอบครั้งไหน ก็จะอ่านให้เต็มที่ไปเลยเป็นคนที่ทำอะไรจะทำให้สุดสุด สอบคือสอบไม่ทำอย่างอื่นไปด้วยจะตั้งใจอ่านหนังสือ เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น เวลาที่ปรางอยากพักผ่อน ปรางก็พักผ่อนสุดสุด เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย" 

อุปนิสัยแบบนี้ เธอว่า ได้มาจากคุณแม่ที่ตอนเด็กๆ จะเอาใจใส่เรื่องการเรียนของเธอมาก
 

"ตั้งแต่เด็ก คุณแม่ชวนปรางอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนทุกสัปดาห์แล้วจะสอนว่า การอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนเป็นประจำ เวลาสอบจะไม่เครียดมาก คุณแม่สร้างนิสัยรักการอ่านให้ และช่วยแบ่งเวลา เช่น เวลาสอบ โรงเรียนจะให้หยุดอ่านหนังสือ 2 วัน คุณแม่จะช่วยแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือแต่ละวิชาให้ ทำให้ปรางติดเป็นนิสัยมาถึงตอนโต"

เมื่อมีทั้งพ่อและแม่เป็น "หมอ" และ "เด็กเรียนเก่ง" ส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกเรียนหมอ แต่กับสาวน้อยคนนี้ เธอมองว่า "ทุกอาชีพมีความสำคัญในสังคม ไม่ว่าอาชีพไหนๆ ก็เป็นฟันเฟืองกลไกที่จะช่วยให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้ ถ้าขาดเฟืองตัวใดตัวนึงก็จะติดขัด 

"อาชีพหมอ ทุกคนมองว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติสามารถช่วยเหลือผู้คนได้แต่ปรางมองว่า ทุกอาชีพสามารถช่วยเหลือได้เหมือนกันปรางเรียนนิเทศฯ ก็สามารถทำสื่อที่มีคุณภาพ สร้างความบันเทิง หรือสร้างความสุขให้คนอื่นได้ ก็ถือว่าสามารถช่วยเหลือสังคมได้เหมือนกัน"

เรียกได้ว่า มีความ "เป็นตัวของตัวเองสูง" ไม่เรียนตามความคาดหวังของสังคมและตามกระแส

"ปรางค่อนข้างเปิดกว้าง เพราะเป็นคนค้นหาตัวเองมาอย่างยาวนาน อย่างตอนเด็กๆ ไม่ค่อยมีคนถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร เพราะเด็กที่เรียนค่อนข้างดี คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่า ต้องเป็นหมอแน่นอน แต่ปรางไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นหมอ ตอนมัธยมเลือกเรียนสายวิทย์เพราะชอบวิทยาศาสตร์" 

"แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มสรุปว่าจะเรียนอะไรกันแน่ ปรางจึงนำทั้งสิ่งที่ใช่ สิ่งที่ชอบ และสิ่งที่เก่ง มาทำเป็นไดอะแกรม แล้วดูว่า ตรงไหนสอดคล้องกัน ดูว่าตัวเองเหมาะกับอะไร นอกจากนี้ ก็ไปโอเพ่นเฮาส์กับทางมหาวิทยาลัย ทำแบบสอบถามลักษณะนิสัยกับอาชีพที่เหมาะสม ลองทำมาหลายทางมาก จนสุดท้ายก็มาจบที่นิเทศศาสตร์" 

ภาพของ "เด็กเรียน" ส่วนใหญ่ จะต้องดูเนิร์สๆ ซึ่งศิรดาก็มีมุมนั้น แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของตัวตนเธอ 

"ปรางไม่ได้เป็นคนซีเรียส แต่เป็นคนที่เหมือนกับว่า ถ้าตั้งใจทำอะไรก็จะตั้งใจทำให้สุด นิสัยร่าเริงปกติเป็นเด็กทั่วไป ชอบฟังเพลง ดูทีวี เล่นกับพื่อน ไปเที่ยวบ้าง ชอบเกาหลี ชอบฝรั่ง ส่วนงานอดิเรกก็ชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมต่างประเทศ ดูซีรีส์ เกมโชว์ ดูหนัง วาดภาพสีอะคริลิก เล่นเชลโล่" 

ความน่าสนใจในตัวศิรดา นอกจากสอบได้ที่ 1 ของประเทศแล้ว อีกหนึ่งที่น่าสนใจ น่าทึ่งสุดสุด เห็นจะหนีไม่พ้น "ชอร์ตโน้ตสุดเทพ"

"ปรางเป็นคนชอบใช้ปากกาสีๆ มาตั้งแต่ ม.ต้นแล้ว เพราะเรียน English Program (EP-อีพี) ซึ่งโรงเรียนก็จะเปิดกว้างเรื่องการจดชอร์ตโน้ตมาก จดอย่างไรก็ได้ อาจารย์ไม่ได้ตรวจสมุดอะไรขนาดนั้นว่าจะต้องใช้สีน้ำเงินหรือสีแดงเท่านั้น จึงซื้อสีเมจิคมามากมาย มีเป็นกล่องคุกกี้ขนาดใหญ่ อีกอย่างเป็นคนชอบเดินเข้าร้านเครื่องเขียน เห็นสมุดแปลกๆ ปากกาสีแปลก ก็จะซื้อมาสะสม" 

"ส่วนชอร์ตโน้ตที่เผยแพร่อย่างแพร่หลายตอนนี้ ปรางได้แรงบันดาลใจมาจากอาจารย์สอนพิเศษวิชาชีววิทยา ที่เน้นให้ทำสมุดโน้ตแต่ละบท เพราะอาจารย์เชื่อว่า มันจะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคต" 

"ชอร์ตโน้ตอันนี้ ไม่ใช่การจดแบบมายด์แมบที่มีหัวข้ออยู่ตรงกลาง และมีคำพูดบนกิ่ง และกิ่งต้องแตกแขนงไปเรื่อยๆ แต่ของปรางจะเน้นให้รูปภาพเป็นจุดศูนย์กลาง และเขียนอธิบายแต่ละสตรัคเจอร์ ว่าแต่ละสตรัคเจอร์นั้น คืออะไรทำหน้าที่อะไร และมีอะไรที่เกี่ยวโยงกับตรงนี้อีกบ้าง แตกข้อมูลไปเรื่อยๆ 

"การทำแบบนี้ ทำให้เราโฟกัสประเด็นนั้นๆ ได้ดี เราสนใจวัตถุชิ้นนี้ และวัตถุชิ้นนี้มีอะไรบ้าง ทำให้ข้อมูลครบถ้วน เราจะรอบรู้ในวัตถุชิ้นนั้นไปเลย" 

วิธีเขียนชอร์ตโน้ตที่สุดแสนจะแป๊ะเว่อร์ขนาดนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะวิชาชีววิทยาเท่านั้น ยังใช้กับคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมีด้วย 

"แต่ละวิชาจะมีวิธีการโน้ตแตกต่างกันไป ปรางจะดูว่าแต่ละวิชาเหมาะสมกับรูปแบบไหน ชีววิทยา เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เพราะเป็นเรื่องรอบตัวเรา ไม่ว่า ร่างกาย หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่ถ้าเป็น ฟิสิกส์ หรือเลข ที่ต้องการสูตรในการอธิบาย ปรางก็จะเน้นจดประเด็นสำคัญๆ เก็งข้อสอบ ว่าอาจารย์ น่าจะถามประเด็นนี้ เพราะประเด็นนี้ คนเข้าใจผิดกันเยอะ ตรงนี้เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ เหมือนกับว่า ถ้าไม่รู้คำคำนี้ ก็จะไม่สามารถจบเรื่องนี้ได้ ตรงนี้ก็น่าจะออก มีการจดสูตร อาจจะไฮไลต์ เป็นสีๆ ว่า สูตรไฮไลต์สีเหลือง หัวข้อไฮไลต์สีชมพู และประเด็นที่คนชอบเข้าใจผิด อาจจะเป็นสีเขียว"

นับเป็นเคล็ดลับที่สาวคนนี้อยากบอกต่อ... 

"เทคนิคของการชอร์ตโน้ตแบบของปราง เริ่มจากอ่านข้อมูลให้เข้าใจก่อน อ่านสักหนึ่งรอบ หรือหาหนังสืออื่นมาเสริมประกอบด้วย แล้วคิดว่า มีประเด็นอะไรบ้าง แบ่งออกเป็นกี่หัวข้อ มีรูปอะไรบ้างที่เราจะต้องรู้จัก เราจะต้องรู้ว่า รูปนี้คืออะไร จากนั้นให้คิดว่า บนกระดาษว่างๆ หนึ่งแผ่น เราจะเอาหัวข้ออยู่ข้างบน หรืออยู่ข้างล่าง หรืออยู่ตรงกลาง มีรูปอะไรบ้าง หัวข้อตรงนี้ มีรูปเท่านี้ๆ มีคอลัมน์ตรงนี้ และจะใช้สีอะไรบ้าง ออกแบบในหัวก่อน และทำแบบประณีต ทำแบบตั้งใจ เพราะจะได้ใช้ยาวนาน"

"การทำแบบนี้จะง่ายเวลาสอบ ไม่ต้องอ่านเยอะ เช่น อาจารย์สั่งให้อ่าน 5 บท มี 10 หน้า แต่เราก็มีแค่ 5 หน้าแค่นี้เอง ก็จะทำให้เรามีกำลังใจอ่านหนังสือ เพราะแค่นิดเดียวเอง"

กว่าจะมีวันนี้ ศิรดา บอกว่า เกิดจากการทำงานหนัก ใส่ใจในการเรียน และตั้งใจทำอย่างทุ่มเท 

"ตอน ม.4 ปรางยังไม่สนใจการเข้ามหาลัย ก็ไม่ได้ศึกษาข้อมูลว่า การเข้ามหาลัยต้องทำอย่างไรบ้าง เพิ่งมารู้ทีหลังว่า ต้องใช้เกรดที่โรงเรียน แต่ด้วยความที่ว่า ปรางเต็มที่กับการเรียนทุกครั้ง และไม่ได้ตั้งใจเก็บเกรดเพื่อเข้ามหาลัย แต่ด้วยความที่เราทำดีในอดีต มันก็ช่วยมาก ส่งผลมาในปัจจุบัน ซึ่งปรางก็ดีใจมากๆ ในตรงนี้" 

สุดท้าย เธอฝากไว้ว่า เคล็ดลับความสำเร็จของเธอคือ "ทำดีให้ตลอด"

"ทำอะไรให้เต็มที่ เพราะเราไม่รู้ว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าเราเต็มที่ทุกครั้ง ตั้งใจ ใส่พลังไปเต็มที่กับมัน ปรางเชื่อว่าอนาคตต้องมีผลดีๆ ตามมาแน่นอน" 

เธอโด่งดังด้วยคุณค่าที่น่าชื่นชม

สูตรลับที่ 1 แอดมิสชั่นส์ ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา ทำอะไรทำให้เต็มที่


สูตรลับที่ 1 แอดมิสชั่นส์ ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา ทำอะไรทำให้เต็มที่


สูตรลับที่ 1 แอดมิสชั่นส์ ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา ทำอะไรทำให้เต็มที่

ขอบคุณข่าวจาก 
prachachat.net


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์