หน้าหนาวอากาศเปลี่ยนแปลง ระวัง! ปอดบวมในเด็กระบาด

หน้าหนาวอากาศเปลี่ยนแปลง ระวัง! ปอดบวมในเด็กระบาด


ช่วงหน้าหนาวนี้ภูมิอากาศของไทยมีการแปรปรวนทำให้มีอากาศเย็น ๆ ร้อน ๆ สลับกันไป พบว่าคนส่วนใหญ่ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือไม่แข็งแรงพอ

โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ หรือผู้สูงอายุ มักล้มป่วยเป็นหวัดได้ง่าย ถ้าเป็นหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสอย่างเดียวก็ไม่ต้องทำอะไรเพียงแค่พักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ รับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ร่างกายก็จะรักษาตัวเองได้ แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงมักจะป่วยซ้ำได้ด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้การเกิดโรคปอดบวมได้ง่าย ซึ่งพบได้บ่อยมาก
 
สำหรับอาการเบื้องต้นของโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็กเล็ก

นพ.อนุชา เสรีจิตติมา กุมารแพทย์ โรงพยาบาลมหาราช จ.นครราชสีมา ได้ให้ข้อมูลว่า "โรคปอดบวมในเด็กเล็กจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ไม่มีอาการบ่งชี้ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจน แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถสังเกตความผิดปกติในเบื้องต้นจาก อัตราการหายใจ ซึ่งหากมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบ ขึ้นไป หากมากกว่า 40 ครั้ง นั่นหมายความว่าเด็กอาจจะหอบ ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมสูง อีกปัจจัยหนึ่งได้แก่ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะการหายใจ กล่าวคือ เด็กเล็กต้องใช้กล้ามเนื้อพิเศษในการช่วยหายใจ เช่น กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อท้อง ทำให้เวลาหายใจจะมีอาการคอบุ๋ม ท้องบุ๋ม ซี่โครงยก จมูกบาน เป็นต้น รวมทั้งเด็กเล็กที่หายใจแล้วมีเสียงดัง หรือเสียงหวีด ให้รีบนำเด็กไปพบแพทย์ทันที"


หน้าหนาวอากาศเปลี่ยนแปลง ระวัง! ปอดบวมในเด็กระบาด


ในการรักษาโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็กเล็กนั้นก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุ

แต่ในปัจจุบันมีการดื้อยาของเชื้อโรคพวกนี้มากขึ้น ทำให้การรักษามีความยากลำบากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะ “สเต็ปโตคอคคัส นิวโมนิเอ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “นิวโมคอคคัส” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปอดบวมชนิดรุนแรงในเด็กเล็กที่เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของเด็กเล็กทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคน และยังเป็นสาเหตุของกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง หรือที่เรียกว่า “กลุ่มโรคไอพีดี” (Invasive Pneumococcal Disease: IPD) ซึ่งประกอบไปด้วย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น กลุ่มโรคนี้ที่แม้จะพบไม่บ่อย แต่ก็รุนแรง ทำให้เด็กเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว หรือหากรักษาหายเด็กก็มีอัตราการพิการทางสมองสูง
 
เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม และกลุ่มโรคไอพีดีนี้ เป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอ และคอหอย พบได้ในเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบมากในเด็กเล็ก ซึ่งหากร่างกายแข็งแรงดี เชื้อนิวโมคอคคัสจะไม่ก่อให้เกิดโรค  ใด ๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ หรือเยื่อบุโพรงจมูกโดนทำลาย เชื้อนิวโมคอคคัสก็   จะหลุดเข้าไปสู่อวัยวะต่าง ๆ และทำให้เกิดโรคติดเชื้อ  ดังที่กล่าวมา
 
สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส คือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กสุขภาพดีก็ตาม และโอกาสเสี่ยงจะสูงขึ้นในเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน เด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามบกพร่อง ตลอดจนในเด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคปอด โรคเบาหวาน และโรคซิกเคิลเซลล์ และในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ที่ตัดม้ามออก ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น


หน้าหนาวอากาศเปลี่ยนแปลง ระวัง! ปอดบวมในเด็กระบาด


ข้อมูลจาก นพ.วิชัย โกสลาทิพย์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เปิดเผยว่า

"เด็กเล็กที่เป็นไข้หวัดเป็นเวลานาน ๆ หรือไข้หวัดเรื้อรัง ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอย่างในปัจจุบัน ทำให้อัตราการเป็นโรคไข้หวัดของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งนี้เพราะ เด็กยังไม่มีภูมิต้านทานที่มากพอ และยังไม่สามารถจัดการกับเสมหะ และน้ำมูกของตัวเองได้ ทำให้เกิดการสะสมตกค้างของน้ำมูก และเสมหะ ซึ่งมีเชื้อนิวโมคอคคัสอยู่ อีกทั้งการเป็นหวัดนาน ๆ ทำให้เยื่อบุโพรงจมูก ลำคอ โดนทำลาย ทำให้เชื้อนิวโมคอคคัสหลุดออกมาได้ หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจจะเกิดการติดเชื้อ และเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้ในที่สุด"
 
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส จะเป็นโรคที่มีความรุนแรงแต่ก็มีวิธีป้องกันในเบื้องต้นอย่างง่าย ๆ

ได้แก่ ให้ทารกกินนมแม่ เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ฝึกให้ลูกน้อยล้างมือเป็นกิจวัตร การสร้างสุขอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นในบ้าน บริโภคอาหารที่สุกสะอาด ไม่ค้างมื้อ ควรรับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ รวมทั้งหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และในปัจจุบันมีวัคซีนไอพีดีสำหรับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ซึ่งสามารถป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง หรือกลุ่มโรคไอพีดีได้กว่า 70% รวมทั้งสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสนี้ได้

แต่ปัจจุบันในประเทศไทย ยังไม่ได้บรรจุวัคซีนชนิดนี้เข้าเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ฉีดให้กับเด็กทุกคน ฉะนั้นพ่อแม่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนให้ลูกน้อย ซึ่งการฉีดวัคซีน  ที่มีประสิทธิภาพหสูงสุดคือ การฉีดให้กับเด็กเล็ก  ที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องนำไปฝากไว้ที่เนอร์สเซอรี่   ซึ่งเป็นแหล่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ดังนั้นในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยนี้คุณพ่อคุณแม่จึงต้อง  ดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวโดยเฉพาะ   เด็กเล็ก ๆ อย่าให้เจ็บป่วย หากมีอาการหวัดก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่าละเลยอาการต่าง ๆ โดยเฉพาะต้องพักผ่อนและดื่มน้ำ  ให้มาก ๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่อาจทำ ให้ท่านต้องเสียใจในภายหลังได้ แบบว่ากันไว้ดีกว่าแก้จะดีที่สุด


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์