หลักการครองงาน

หลักการครองงาน


หลักการครองงานหมายถึง หลักธรรมข้อปฏิบัติ ให้ถึงความสำเร็จความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคงในหน้าที่กิจการงานโดยชอบ ในการประกอบสัมมาอาชีวะ ซึ่งย่อมยังผลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงความเจริญก้าวหน้า และความสุขในชีวิต

หลักการครองงานนั้น จะต้องเป็นหน้าที่กิจการงาน หรือเป็นการประกอบอาชีพโดยสุจริต โดยชอบธรรม จึงจะได้ผลเป็นความเจริญและความสุขในชีวิต

ถ้าเป็นหน้าที่กิจการงาน หรืออาชีพที่ทุจริตที่ไม่ชอบธรรม เรียกว่า "มิจฉาอาชีวะ" แม้จะกระทำกิจการงานในหน้าที่หรือในอาชีพอันทุจริต ไม่ชอบธรรมเช่นนั้นได้สำเร็จ ก็ย่อมจะหาความเจริญและความสันติสุขที่แท้จริงในชีวิตได้ยาก หรือหาไม่ได้เลย เพราะความทุจริตหรือความชั่วที่ได้กระทำไปแล้วนั้น ย่อมจะให้ผลเป็นความทุกข์เดือดร้อนได้ในภายหลัง ไม่ช้าก็เร็ว

หลักการครองงาน คือ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่กิจการงาน หรือในอาชีพโดยชอบธรรมในที่นี้ ก็คือ
ความเป็นผู้มีอิทธิบาทธรรม 4 ประการ ได้แก่

1. ฉันทะ ความรักงาน คือ จะต้องเป็นผู้รักงานที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ และทั้งจะต้องเอาใจใส่กระตือรือร้นในการเรียนรู้งาน และเพิ่มพูนวิชาความรู้ความสามารถในการทำกิจการงาน และมุ่งมั่นที่จะทำงานของตนให้สำเร็จเรียบร้อยอยู่เสมอ ต้องทำงานด้วยใจรัก จิตใจจึงมีศรัทธา มีพลังกล้าแข็ง ผลักดันให้กิจการงานที่ทำนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ ถ้าขาดใจรักที่จะทำแล้ว กิจการงานนั้นหวังความสำเร็จและความเจริญได้ยาก

2. วิริยะ ความเพียร จะต้องเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ประกอบด้วยความอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากในการประกอบกิจการงานในหน้าที่ของตน จึงจะถึงความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าได้ ผู้มีปกติเกียจคร้านในการทำกิจการงาน ไม่อดทนต่อความยากลำบากแล้ว ยากที่จะกระทำกิจการใดๆ ให้สำเร็จด้วยดีได้

3. จิตตะ ความเป็นผู้มีใจจดจ่ออยู่กับการงาน ผู้ที่จะทำงานได้สำเร็จด้วยดีมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องเป็นผู้เอาใจใส่ต่อกิจการงานที่ทำ และมุ่งกระทำงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสำเร็จ ไม่ทอดทิ้งหรือวางธุระเสียกลางคัน ไม่เป็นคนจับจด หรือทำงานแบบทำๆ หยุดๆ เหมือนกิ้งก่าที่มีปกติคลานๆ ไปหน่อยก็หยุดเสียแล้ว ไม่มุ่งต่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางให้สำเร็จ กิจการงานจึงล้มเหลวหรือสำเร็จได้ยาก

4. วิมังสา ความเป็นผู้รู้จักพิจารณาเหตุสังเกตผล คือ จะต้องหมั่นพิจารณาไตร่ตรองการปฏิบัติงานของตนและของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอ เพื่อให้ทราบเหตุผลของปัญหาหรืออุปสรรคข้อขัดข้องในการทำงาน แล้วพิจารณาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ปรับปรุงพัฒนาวิธีการทำงานให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จ ให้ถึงความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้

ความเป็นผู้มีอิทธิบาทธรรม คือ ฉันทะ ความรักงาน, วิริยะ ความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน, จิตตะ ความเอาใจใส่ มีใจจดจ่ออยู่กับงานในหน้าที่รับผิดชอบ และวิมังสา ความรู้จักพิจารณาเหตุสังเกตผลในการทำงาน เป็นคุณธรรมในการทำกิจการงานให้ถึงความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้า

บุคคลผู้หวังความสำเร็จในหน้าที่กิจการงาน พึงหมั่นประกอบอิทธิบาท 4 นี้ไว้เสมอ จะประสบความเจริญรุ่งเรืองและความสุขในชีวิตได้ ไม่มีเสื่อมอย่างแน่นอน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์