หลากเรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ยาลดน้ำหนัก ...


หลากเรื่องควรรู้เกี่ยวกับ 'ยาลดน้ำหนัก' ...

สืบเนื่องจากข่าวครึกโครม เรื่อง การบุกทลาย โรงงานผลิต อาหารเสริมลดน้ำหนักยี่ห้อดัง ที่มีปนเปื้อนยาอันตราย "ไซบูทรามีน" (Sibutramine )ซึ่งเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาและควบคุมโรคอ้วน (obesity)และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษซึ่งห้ามซื้อขายในร้านขายยาโดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ ... ล่าสุด ในเวบไซต์ชื่อดัง pantip.com  ได้มี เภสัชกร ท่านหนึ่ง ได้มาตั้งกระทู้ ถึงประเด็นน่ารู้ต่างๆ เกี่ยวเนื่องกับ อาหารเสิรม ลดความอ้วน ระบุว่า

สวัสดีค่ะ ช่วงนี้คุณเภสัชขาเห็นข่าวการจับกุมอาหารเสริมลดน้ำหนักยี่ห้อดังในโลกออนไลน์ เลยทำให้มีแรงฮึดมาบ่น เอ๊ย!! เขียนเรื่องเกี่ยวกับยาลดความอ้วนและผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักให้ได้อ่านกันนะคะ

สำหรับรายชื่อผู้เข้ารอบที่มีการสอบถามกันมาบ่อยๆ และฮิตกันมากเหลือเกิน มีดังนี้ค่ะ




Phentermine (เฟนเทอร์มีน)

เฟนเทอร์มีนถือเป็นยาลดความอ้วนที่ได้รับความนิยมสูงมากในตลาดมืด ไม่ว่าจะเป็นยาชุดลดน้ำหนัก หรือ การแอบนำเอาไปปลอมปนในอาหารเสริมลดน้ำหนักต่างๆ เพราะผู้บริโภคนิยมชมชอบใน “ความเฉียบขาด” ของการออกฤทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันเฟนเทอร์มีนก็เป็นยาลดความอ้วนที่พรากชีวิตผู้ใช้ไปแล้วหลายรายเช่นเดียวกัน

โดยตามกฎหมายประเทศไทย เฟนเทอร์มีน ถูกจัดอยู่ในยากลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งห้ามจำหน่ายในร้านยาโดยเด็ดขาด (จำหน่ายนอกร้านยาก็ไม่ได้นะคะ…คุกทั้งนั้นแหละค่ะ ต้องมีคุณหมอควบคุมการจ่ายยาโดยมีการวินิจฉัยที่เหมาะสมเท่านั้นค่ะ) เหตุผลที่ต้องควบคุม เพราะเฟนเทอร์มีนเป็นยาที่มีโครงสร้างหน้าตาจัดเป็นอนุพันธ์ของ amphetamine (แอมเฟตามีน) หรือยาบ้านั่นแหละค่ะ ดังนั้นเฟนเทอร์มีนจึงเปรียบประหนึ่งเป็นญาติฝ่ายหลานของยาบ้านั่นเองค่ะ (เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจนทำให้ฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางน้อยลงมากๆ คงไว้แต่ผลของการออกฤทธิ์ต่อสมองที่ทำให้เบื่ออาหารเท่านั้น) แต่ผลข้างเคียงของยาเฟนเทอร์มีนก็ละม้ายคล้ายคลึงกับการเสพยาบ้านั่นแหละค่ะ เช่น นอนไม่หลับ ใจสั่น เหงื่อออกมาก กระวนกระวาย เวียนศีรษะ เห็นภาพหลอน หรืออาจทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทได้ (ใครเคยใช้ยาชุดลดความอ้วนที่แอบขายกัน แล้วมีอาการที่ว่ามา สงสัยได้เลยว่าอาจจะประสบพบเจอกับเฟนเทอร์มีนเข้าแล้วค่ะ)

 และที่สำคัญเฟนเทอร์มีน ก็ทำให้เกิดการเสพติดได้เหมือนยาบ้าที่เป็นต้นตระกูลได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ใช้เฟนเทอร์มีน ในระยะสั้นๆเท่านั้น คือใช้ติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 เดือนและแพทย์ที่จ่ายยาต้องดูแลใกล้ชิด รวมทั้งจะจ่ายยานี้ก็ต่อเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนที่มีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) เกิน 30 kg/m2 

(ลองคำนวณ BMI ตัวเองเล่นๆก็ได้นะคะ โดยนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วย ส่วนสูงยกกำลังสอง แต่ใช้หน่วยเป็นเมตรนะคะ ไม่ใช่เซ็นติเมตร ยกตัวอย่าง เภสัชฮอบบิท สูง 157 เซนติเมตร ก็ต้องแปลงเป็น 1.57 เมตรก่อนค่ะ) และคุณหมอต้องประเมินโรคหรือความเสี่ยงอื่นๆของผู้ป่วยด้วยค่ะ ว่าไม่มีข้อห้ามในการใช้เฟนเทอร์มีน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเฟนเทอร์มีน จัดเป็นยาลดความอ้วนที่ต้องมีการดูแลใกล้ชิด เพื่อให้เกิดอันตรายจากยาน้อยที่สุดนะคะ ใครที่คิดจะใช้ยานี้ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเท่านั้นค่ะ ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้ และหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ยังต้องให้คุณหมอควบคุมดูแลการใช้ ห้ามเด็ดขาดที่จะสั่งยาจากอินเตอร์เน็ตมากินเองนะคะ อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นค่ะ ว่าเฟนเทอร์มีนพรากชีวิตผู้ใช้ไปหลายรายแล้ว...ไม่ได้ขู่นะคะ แต่ไม่อยากให้คุณเป็นเหยื่อรายต่อไปของเฟนเทอร์มีน (แถวบ้านเรียก “ขู่” ชัดๆ^^)

Sibutramine(ไซบูทรามีน)

จัดเป็นยาลดความอ้วนยอดฮิตอีกตัวเหมือนกรณียาเฟนเทอร์มีนในการถูกนำไปผสมทั้งในอาหารเสริม สมุนไพร และกาแฟลดน้ำหนัก ปัจจุบันในวงการแพทย์ไม่มีการใช้ยาไซบูทรามีนในการรักษาโรคอ้วนแล้วค่ะ เนื่องจากยาถูกบริษัทผู้ผลิตถอนทะเบียนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553  แต่กระนั้นก็ยังมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบผสมยานี้วางจำหน่ายกันอยู่ค่ะ โดยสาเหตุที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตยาทำการถอนทะเบียนยาไซบูทรามีน ทั้งในยุโรป อเมริกา รวมทั้งประเทศไทยด้วย เนื่องมาจากมีการศึกษาพบว่ายาไซบูทรามีน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ดังนั้นถ้าคุณพบว่าผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักต่างๆที่ซื้อไปรับประทาน ทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการแน่นหน้าอก อย่างนิ่งนอนใจนะคะ รีบแจ้งไปทาง อย. เพื่อให้เกิดการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวค่ะ ว่ามีการลักลอบผสมยาลดความอ้วนลงไปหรือเปล่า? แต่ทางที่ดีที่สุด คือ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักทั้งหลาย ลองมองหาเลข อย. ไว้สักนิดนะคะ 

แต่เอาให้แน่นอนกว่านั้นลองนำเลข อย.ที่ปรากฏหราบนกล่องผลิตภัณฑ์ไปค้นดูใน website http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/food/FSerch.asp?id=food  จะดีกว่าค่ะ เพราะปัจจุบันพบว่ามีเหล่าแม่ค้าพ่อค้าหัวใส แต่จริยธรรมต่ำ ทำการปลอมหรือแอบอ้างเลข อย. จากผลิตภัณฑ์อื่นเอามาแปะ แล้วโมเมว่าเป็นเลข อย. ของตัวเองก็มีนะคะ 

นอกจากนี้ พวกผลิตภัณฑ์ที่อ้างกันว่าโด่งดังมาจากต่างประเทศ หรือผลิตภัณฑ์ขี้โวที่โอ้อวดว่าผอมได้ภายใน 7 วัน 14 วัน....ขอให้หลีกเลี่ยงให้ไกลนะคะ เพราะไม่รู้ว่ามีการปลอมปนอะไรมาบ้าง อยากผอมอย่างปลอดภัย ต้องใจเย็นๆนะคะ ก็แหม!!กว่าจะทำน้ำหนักขนาดนี้ ใช้เวลาตั้งนาน พอจะลด ก็อย่าใจร้อนค่ะ ค่อยเป็นค่อยไปนะคะ อย่าไปยอมเป็นเหยื่อให้ผู้ผลิตที่ขี้โกง หวังแต่ผลประโยชน์กันเลยค่ะ คุณเภสัชขอร้องงงงงง....รักนะคะเลยเตือน^^

Orlistat (ออร์ลิสแตท)

เป็นยาลดความอ้วนตัวเดียวในขณะนี้ที่จัดอยู่ในหมวดที่อนุญาตให้วางจำหน่ายในร้านยาได้ค่ะ ย้ำอีกทีว่า “ในร้านยา” ไม่ใช่ในอินเตอร์เน็ตนะคะ โดยยามีกลไกการทำงานไปยับยั้งเอนไซม์ที่ย่อยไขมันที่ชื่อว่า “lipase (ไลเปส)” อธิบายให้ง่ายๆ คือ ยายับยั้งการทำงานของสิ่งที่ทำหน้าที่เป็น “กรรไกร” ที่ใช้ในการตัดไขมันให้เป็นก้อนเล็กๆค่ะ เมื่อไขมันไม่มีกรรไกรมาตัด มันก็จะคงสภาพเป็นก้อนใหญ่ๆอยู่ ร่างกายเราจะดูดซึมก้อนไขมันใหญ่ๆนี้ไม่ได้ค่ะ (คุณผู้ป่วยมักเรียกกลไกนี้ว่า “การบล็อกไขมัน”) เมื่อไขมันส่วนนี้ไม่ถูกดูดซึมก็จะถูกขับถ่ายออกมาค่ะ ดังนั้นผลข้างเคียงหนึ่งที่ชัดเจนของยาออร์ลิสแตท คือ ทำให้ “อึ๊มัน” คือมีไขมันปนออกมากับอุจจาระหรือบางทีแค่ผายลมก็มีน้ำมันไหลออกมาด้วยแล้วค่ะ 

ซึ่งคุณผู้ป่วยสาวๆที่ออกแนวฮาร์ดคอร์มักจะนิยมชมชอบกับผลข้างเคียงนี้มากๆ เนื่องจากให้ผลทางจิตใจเป็นอย่างดีว่าไขมันที่ได้บริโภคเข้าไปนั้นจะไม่ไปสะสมในร่างของเธอเป็นแน่แท้ แต่ในความเป็นจริง ยาออร์ลิสแตทให้ผลในการยับยั้งการดูดซึมไขมันได้เพียง 30% เท่านั้นค่ะ ดังนั้นไขมันอีก 70% ที่บริโภคเข้าไป ยังสามารถดูดซึมเข้าไปและเกิดการสะสมในร่างกายได้อยู่นะคะ แปลว่าถึงแม้จะกินยา “บล็อกไขมัน” แล้วก็ตาม ก็ยังมีความจำเป็นในการควบคุมอาหาร ไม่บริโภคอาหารไขมันสูงๆอยู่นะคะ และที่จะลืมไม่ได้เลย คือ ยาออร์ลิสแตทไม่ได้มีผลในการยับยั้งการดูดซึมอาหารกลุ่มแป้งและคาร์โบไฮเดรตเลย ดังนั้นก็ต้องควบคุมปริมาณการบริโภคอาหารกลุ่มข้าว แป้งและน้ำตาลด้วยนะคะ 

ส่วนผลข้างเคียงและข้อควรระวังอื่นๆที่ควรทราบของผู้ที่สนใจ อยากจะปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรว่าจะใช้ยานี้ ก็คือ เนื่องจากยาทำให้การดูดซึมไขมันลดลงได้ ดังนั้นยาอาจทำให้วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ, ดี, อี, เค เกิดการดูดซึมลดลงได้นะคะ และย้ำอีกรอบว่า “Orlistat” เป็นยาค่ะ ซึ่งไม่สามารถนำไปผสมลงในสูตรของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักได้นะคะ เพราะฉะนั้นถ้าพลิกเจอคำว่า “Orlistat” บนอาหารเสริมยี่ห้อใด ถึงจะให้ดังเป็นพลุแตกในโลกออนไลน์ขนาดไหนก็ตาม อย่าได้ซื้อมารับประทานเลยค่ะ แค่ฉลากก็ผิดกฎหมายแล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรคะว่าในเม็ดแคปซูลที่บรรจุมานั้นบริษัทผู้ผลิตใส่ส่วนผสมอะไรลงไป พอมีข่าวโดนจับที บริษัทผู้ผลิตก็ไม่ได้ออกมารับผิดชอบอะไร นอกจากการจ่ายค่าปรับ ส่วนเหล่าแม่ค้าในโลกออนไลน์ที่เคยการันตีความปลอดภัยของสินค้าที่ตัวเองขายก็มักจะออกมาแก้ตัวในแนวเดิมๆว่าล็อตที่ อย. ตรวจจับได้เป็นของปลอม ถ้าเป็นของจริงจะถูกกฎหมายแน่นอน คุณเภสัชขาเห็นจนเพลียค่ะ....เอาเป็นว่าไม่มีใครรักเรามากกว่าที่เรารักตัวเองนะคะ (คุณเภสัชขาก็รักคุณผู้ป่วยนะ^^) ดังนั้นศึกษาให้มากๆก่อนจะตัดสินใจซื้อหรือบริโภคนะคะ อย่าหูเบาเชื่อเหล่าแม่ค้า หรือเชื่อในรูปรีวิวหลังการผลิตภัณฑ์เลยค่ะ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวไกล จะแต่งภาพหรือไปขโมยรูปมาจากไหน ก็ทำได้แค่กระดิกนิ้วนะคะ

L-carnitine (แอล-คาร์นิทีน)

แอล-คาร์นิทีน จัดเป็นกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้ และยังสามารถได้รับจากการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ด้วยค่ะ ซึ่งเจ้านี่จะมีหน้าที่ในการผลิตพลังงานให้กับเซลล์ร่างกายโดยการเปลี่ยนไขมันที่สะสมเอาไว้มาเป็นพลังงาน ดังนั้นจากหน้าที่การทำงานแบบนี้ จึงทำให้แอล-คาร์นิทีน ถูกนำมาโฆษณาในทางการตลาดว่าสามารถช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันและช่วยให้ผอมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีการศึกษาหลายการศึกษาที่พบว่า L-carnitine ไม่ได้มีผลต่อการลดน้ำหนักเลย หรือ การศึกษาของ Kalpana and Aruna พบว่า L-carnitine 

 ช่วยให้น้ำหนักของอาสาสมัครที่อยู่ในเกณฑ์อ้วนและน้ำหนักเกินลดลงได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องมีการออกกำลังกายร่วมด้วยอยู่นั่นเอง ดังนั้นถ้าคิดจะรับประทาน L-carnitine เป็นอาหารเสริมเพื่อการลดน้ำหนักแล้วล่ะก็ แนะนำว่าควรออกกำลังกายร่วมด้วยนะคะ ไม่งั้นไม่มีทางเห็นผลแน่ๆ (จริงๆแล้ว L-carnitine เป็นสารอาหารหนึ่งที่นักกีฬานิยมใช้ เพื่อให้สามารถออกกำลังกายได้ทนขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงประสิทธิภาพนี้ของ L-carnitine เหมือนกันค่ะ)

และที่ลืมไม่ได้เลย คือ L-carnitine ไม่มีอาการข้างเคียงของอาการใจสั่น ปากแห้ง คอแห้ง หิวน้ำรุนแรงนะคะ ถ้าพบอาการเหล่านี้ สันนิษฐานไว้ได้เลยว่าเจอ L-carnitine ที่ปลอมปนยาลดความอ้วนมาด้วยแล้ว ไม่ปลอดภัยแน่ๆค่ะ เหวี่ยงทิ้งด่วนๆค่ะ อ่อๆ ก่อนทิ้งรบกวนแจ้งไปทาง อย. ให้ดำเนินการตรวจสอบอาหารเสริมยี่ห้อนั้นๆด้วยค่ะ

หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักอื่นๆ สอบถามกันได้นะคะ จะรีบรวบรวมข้อมูลแล้วมาอัพเดทอีกครั้งค่ะ

ขอบพระคุณที่กดกันเข้ามาอ่านนะคะ หวังว่าเนื้อหานี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยกับผู้ที่กำลังเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักกันได้บ้างนะคะ^^

หลากเรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ยาลดน้ำหนัก ...

ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก :: pantip.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์