ห้ามข้าราชการ เล่น′เฟซบุ๊ก′ แก้′อู้งาน-สื่อสารสะดุด′ได้จริงหรือ ???

ห้ามข้าราชการ เล่น′เฟซบุ๊ก′ แก้′อู้งาน-สื่อสารสะดุด′ได้จริงหรือ ???


เป็นข่าวฮือฮาและเฮฮาอยู่เล็กๆ เมื่อสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย โดย "ประชา เตรัตน์" รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ สั่งห้ามข้าราชการเล่นเฟซบุ๊กระหว่างเวลางาน พร้อมกับแนบสถิติการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตให้ในคำสั่ง

คำสั่งดังกล่าวได้อ้างถึงข้อมูลการตรวจสอบของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

พบว่าการใช้งานของระบบอินเตอร์เน็ตในรอบ 8 เดือน ของปี 2555 โดเมนที่มีจำนวนการเรียกใช้มากที่สุด 10 อันดับแรก เป็นการใช้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียง จากเว็บไซต์ของต่างประเทศในลักษณะออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์โซเชียลมีเดียยอดฮิตนั่นเอง

ทางสำนักปลัดฯ เห็นว่า
การใช้งานดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ ทำให้สิ้นเปลืองช่องสัญญาณจำนวนมาก

เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการประชุมทางไกล ผ่านดาวเทียม ไม่ว่าจะระหว่างทำเนียบมากระทรวง และกระทรวงไปจังหวัด หรือ ทำเนียบไปจังหวัด เกิดปัญหาภาพหรือเสียงขัดข้อง การสื่อสารสะดุด

เพราะข้อมูลเครือข่ายงานด้านการใช้ช่องสัญญาณหนาแน่นมาก เช่น ข้าราชการเปิดใช้อินเตอร์เน็ต 100 เครื่อง มีการเปิดหน้าจอเฟซบุ๊ก หรือดาวน์โหลดภาพและเสียงผ่านเว็บไซต์ยูทูบถึง 80 เครื่อง ทำให้การใช้งานอีก 20 เครื่อง ในการสืบค้นข้อมูลทางราชการ เป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งหนังสือสั่งการระบบสารบรรณ ไม่สามารถเรียกขึ้นมาใช้งานได้ทันที

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องบล็อกการใช้เฟซบุ๊ก โดยถือว่าเป็นการเอาเครื่องราชการมาใช้ในงานส่วนตัว และไม่ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของข้าราชการ

แต่หากใครใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตจากโทรศัพท์ส่วนตัวเชื่อมต่อกับเครื่องส่วนตัวก็สามารถทำได้ ทั้งนี้การปิดกั้นสัญญาณดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการได้เองผ่านเครือข่ายของกระทรวง

ในคำสั่งดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการในการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต โดยระงับการเข้าถึง เว็บไซต์ ที่ให้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียง เช่น เฟซบุ๊ก ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานบางเว็บไซต์ และงดการใช้งานเว็บ ออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป ในช่วงระหว่างเวลา08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น.

แม้ว่า "รองประชา" จะให้เหตุผลว่า "การใช้งานดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ ทำให้สิ้นเปลืองช่องสัญญาณ"

แต่ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการออกคำสั่งนั้น เป็นการออกคำสั่งเพื่อต้องการแก้ปัญหาช่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต

หรือว่าเป็นการแก้ปัญหาข้าราชการไม่ทำงาน หรือที่เรียกว่า "อู้งาน" เอาเวลาไปขลุกหน้าจอเฟซบุ๊กกันแน่

ลองมาสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศดูว่าแท้จริงแล้วมีเหตุผลสำคัญมาจากเรื่องอะไรกันแน่?

"ณัฐ พยงค์ศรี" นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ต้องเรียนตามตรงที่ว่าการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียงทำให้ระบบอินเตอร์เน็ตล่าช้าลงนั้นมีส่วนถูกต้อง ตัวเฟซบุ๊กเฉยๆ อาจไม่มีส่วนเท่าไรนัก แต่ว่าการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ในเฟซบุ๊ก ทั้งการโพสต์รูปและวิดีโอ เป็นต้นนั้น จะไปสร้างความสิ้นเปลืองในช่องทางการสื่อสารของระบบอินเตอร์เน็ตได้

ในหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีการะงับใช้สื่อโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว เนื่องจากอาจไปรบกวนระบบอื่นๆ เช่น ระบบข้อมูลภายใน อีกทั้งเป็นมาตรการป้องกันความปลอดภัยในส่วนข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการลักลอบขโมยข้อมูลจากระบบของหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆและข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

"การประชุมวีดิทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) จะต้องใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพราะว่ามีการปล่อยภาพเคลื่อน ไหวทั้งภาพและเสียงตลอดเวลาที่มีการสนทนา สมมุติเหมือนกับรถไฟวิ่งก็จะวิ่งอยู่บนรางนั้นไปจนถึงปลายทาง ซึ่งต่างจากรถที่แล่นอยู่บนถนนที่อาจมีช่องว่างให้พอแซงไปข้างหน้าได้ ดังนั้นถ้าหน่วยงานใดมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในช่วงเวลาเดียวกันเป็นจำนวนมากก็จะมีผลทำให้ระบบอินเตอร์เน็ตติดขัดหรือระบบล่มก็เป็นไปได้ทั้งหมด"

ด้าน "นนท์ อิงคทานนท์" ผู้จัดการทั่วไป สายงานบริการบรอดแบนด์ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า โดยส่วนตัวคิดว่าอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องช่วยการทำงานได้ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียก็อาจทำให้เราอัพเดตข่าวสารเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลซึ่งนำมาเสริม ในการทำงานหรือการหาข้อมูลในที่ต่างๆ ได้ประโยชน์อยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเกิดพนักงานใช้ในเรื่องส่วนตัวมากเกินไปก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานเท่าไรนัก

เรื่องนี้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมของหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐว่าในช่วงเวลาใดจะให้ใช้ได้หรือว่าไม่ให้ใช้เลย อย่าง "ทรู" เองเท่าที่ทราบ ในช่วงเวลาทำงานบางเว็บไซต์ที่มีความบันเทิงมากๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานก็จะไม่ให้ใช้ในช่วงเวลาทำงาน แต่ถ้านอกเวลาก็ให้ใช้ได้ เป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นให้พนักงานได้ผ่อนคลาย

"แน่นอนการไม่มีมาตราการใดๆ ออกมา แล้วพนักงานก็ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานก็จะไปแย่งพื้นที่ช่องสัญญาณของระบบอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งระบบสารสนเทศที่ดีจะสามารถป้องกันหรือระงับไม่ให้เข้าเว็บไซต์ที่ไม่ควรเข้าในช่วงเวลาไหนได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนมากกว่า ระบบสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง" นนท์กล่าวทิ้งท้าย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์