อย่าตกใจ!! ข้าวไทย ไม่อันตราย อย่างที่คิด

                                อย่าตกใจ!! ข้าวไทย ไม่อันตราย อย่างที่คิด


ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จะมีวิธีในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคข้าวอย่างไร เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพเรา มีเทคนิคไม่ยากดังนี้ค่ะ

ท่ามกลางกระแสข่าวที่แสนจะร้อนระอุในเรื่อง ข้าวเน่า ข้าวมีสารปนเปื้อน ไปจนถึงข่าวใช้สารพิษรมข้าวอันตรายถึงตายนั้น เป็นที่มานำพาความไม่สบายใจให้กับเรา ๆ ผู้บริโภคข้าวกันอยู่เป็นประจำใช่ไหมคะ ยิ่งกระแสการโพสต์ต่อ ๆ กันในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยหลาย ๆ โพสต์นั้น ยังให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แชร์ต่อ ๆ กันไป จนทำให้ความน่าตกใจขยายเป็นวงกว้าง เป็นที่มาของผู้เขียนคอลัมน์ “คอลัมนิสต์” ทางเดลินิวส์ออนไลน์ในวันศุกร์นี้ว่า จะให้ข้อมูลที่ถูก ที่ควร ท่ามกลางกระแสข่าวข้าวอันตรายนี้อย่างไร ผู้เขียนจึงขอนำประสบการณ์ในการคลุกคลีทำงานในส่วนของการได้ไปตรวจประเมิน เพื่อให้การรับรองระบบบริหารคุณภาพและความปลอดภัยของโรงสี โรงจัดเก็บ โรงงานแปรรูปปรับปรุงคุณภาพข้าว ตั้งแต่การผลิต การจัดเก็บ การแปรรูป การบรรจุ ไปจนถึงการส่งขายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อที่จะให้ผู้อ่านทุก ๆ ท่าน ได้มีความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับข้าว นำไปสู่การเลือกซื้อ เลือกบริโภคได้อย่างปลอดภัยกันนะคะ

ปัญหาหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของข้าวสารนั้นอยู่ที่ ความชื้นและสารเคมีปนเปื้อน ทั้งจากสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรในระหว่างการเพาะปลูก ไปจนถึงสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ.2540 ของไทยเรานั้น ในด้านความปลอดภัยจึงมุ่งเน้นไปที่ความชื้นเป็นสำคัญ ว่าสินค้าข้าวทุกประเภทจะต้องมีความชื้น ไม่เกินร้อยละ 14 ส่วนกฏหมายที่ใช้เป็นสากลอย่าง CODEX STANDARD FOR RICE (CODEX STAN 198-1995) นั้นจะกำหนดความชื้นของข้าวทุกชนิด ไม่เกินร้อยละ 15 ข้าวจะต้องปราศจากแมลง กลิ่นผิดปกติ ไปจนถึงสิ่งปนเปื้อนจากสารกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงตกค้าง และสารโลหะหนัก จะเห็นได้ว่าความชื้นมีผลทั้งต่อคุณภาพและความปลอดภัย เพราะหากข้าวมีความชื้นสูงมาก ๆ ในเชิงความปลอดภัย อาจเป็นที่มาของการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งรา ยีสต์ และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ ดังนั้นข่าวข้าวเน่าที่เราได้ยิน ได้ฟังมา จึงอาจเป็นไปได้ หากการจัดเก็บที่ไม่มีสุขลักษณะที่ดี จัดเก็บข้าวอย่างไม่เหมาะสมทำให้ข้าวชื้น หรือเปียก เป็นที่มาของข้าวเน่าได้นะคะ ซึ่งปัญหามีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีในปัจจุบันตามที่เป็นข่าว

ประเด็นถัดมาในเรื่อง สารรมยา ทั้งจากข่าวที่ว่าข้าวอันตราย โดยมีภาพข่าวของหนูตายข้าง ๆ กระสอบข้าวสาร ทั้งยังมีแมลงและสัตว์พาหะนำเชื้อตายอยู่ด้วยนั้น ผู้เขียนไม่ขอเถียงว่าไม่เป็นความจริงนะคะ แต่ลองมาฟังเรื่องสารรมยาข้าวกันก่อนดีกว่า เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกันค่ะ

ฟอสฟีน (Phosphine) หรือ เมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) นั้นเป็นสารที่ผู้ประกอบการทั่วโลกใช้ในการรมยาพืชผลทางการเกษตรมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว โดยนายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูผลผลิตเกษตรโดยการใช้สารรมยาที่ชื่อ เมทิลโบรไมด์ และฟอสฟีนเป็นสารที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เนื่องจากสามารถทำลายแมลงศัตรูได้ทุกชนิดและทุกระยะการเจริญเติบโต ไม่มีพิษตกค้าง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารฆ่าแมลง

ทั้งนี้ การรมสารกำจัดศัตรูพืช เป็นวิธีการเพื่อลดการสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว และเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซึ่งวิธีการรมไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก จึงง่ายต่อการปฏิบัติและทำได้สะดวกและรวดเร็ว แต่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่กำหนด ที่สำคัญ คือ ทุกประเทศทั่วโลกก็ใช้สารทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นมาตรฐาน SPS และได้รับการกำหนดให้ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชภายในโรงเก็บจากคณะอนุกรรมการด้านสุขอนามัยขององค์การค้าโลก (WTO)

หลาย ๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมต้องรมยา นั่นเพราะผู้ประกอบการต้องการให้อายุการจัดเก็บข้าวมีอายุยาวนานขึ้นด้วยเหตุผลทางการค้าที่เราต้องส่งออกข้าวไปขายนานับประเทศทั่วโลก เพราะข้าวทั่วไปที่ไม่รมยา เพียงระยะเวลาไม่กี่เดือน มอดและแมลงก็ทำการกัดกินข้าวจนเสียหายเป็นที่เรียบร้อย แต่เนื่องจากสารฟอสฟีนและเมทิลโบรไมด์นั้นด้วยคุณสมบัติทางเคมีเป็นที่เป็นก๊าซ จะสามารถสลายตัวอย่างรวดเร็วในสภาวะเปิด นั่นเป็นที่มาว่าทำไมจึงไม่มีอันตรายตกค้างในข้าวจากสารที่ใช้รมยากลุ่มดังกล่าว ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ต้องมีวิธีปฏิบัติในการรมยาที่ถูกต้องและเหมาะสมตามคำแนะนำ ซึ่งการสลายตัวของสารรมยานี้ จะใช้เวลาเพียง 12-24ชั่วโมง หากสภาวะที่จัดเก็บเปิดโล่งและมีพัดลมระบายอากาศ แต่หากไม่มีพัดลมระบายอากาศการตั้งทิ้งไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้ปกติ เจ้าสารตัวนี้จะสลายตัวภายใน 2 – 5 วันขึ้นอยู่กับสถานที่จัดเก็บและรมยาข้าว แต่ในปัจจุบันเมทิลโบรไมด์นั้นได้มีการส่งเสริมให้เลิกใช้ และใช้สารกลุ่มฟอสฟีนแทน เนื่องจากสารเมทิลโบรไมด์ส่งผลต่อการทำลายชั้นบรรยากาศ เป็นผลให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง สารสองกลุ่มนี้เป็นพิษหากสูดดมในปริมาณมาก คือในขณะที่มีการรมยา ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะมีผลทำให้เสียชีวิตได้ นั่นเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงเห็นภาพของหนูตาย และสัตว์พาหะนำเชื้อต่าง ๆ ตายรอบ ๆ กระสอบข้าวสารที่เก็บไว้ในขณะทำการรมยา ซึ่งการตายของสัตว์เหล่านี้มาจากการได้รับก๊าซในขณะรมยา หาใช่ตายเพราะกินข้าวสารเข้าไป

อ่านมาถึงตรงนี้คงสบายใจขึ้นนะคะ กับเรื่องสารรมยาข้าว ดังนั้นในเชิงผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จะมีวิธีในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคข้าวอย่างไร เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพเรา มีเทคนิคไม่ยากดังนี้ค่ะ

1. เลือกซื้อข้าวที่มีความชื้นต่ำ อย่างที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ตอนต้นว่าความชื้นของข้าวไม่ควรเกินร้อยละ 14-15 หลายคนอาจบอกว่า ไม่มีเครื่องมือวัดความชื้นแล้วจะรู้ได้อย่างไรล่ะ เราเคยเห็นและสัมผัสข้าวสารทั่ว ๆ ไปกันใช่ไหม นั่นแหละคะข้าวสารที่แห้ง ๆ ไม่เกาะกันเป็นกลุ่มก้อน ไม่ชื้นแฉะ และมีสีของข้าวสม่ำเสมอ คือข้าวที่เราสมควรเลือกซื้อ หากมีสีแปลกปลอมเช่น สีส้ม สีเขียว สีดำ หรือมีกลิ่นหมัก ก็ให้ระวังนะคะ เพราะข้าวอาจมีส่วนที่ชื้นแฉะจนเกิดราได้

2. เลือกข้าวที่ไม่มีกลิ่นสารเคมีปะปน วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยให้เราเช็คเบื้องต้นถึงความผิดปกติของการปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ ส่วนเรื่องยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรนั้น ไม่สามารถดูหรือดมกลิ่นได้นะคะ คงต้องพึ่งผลการตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการเท่านั้น ในส่วนผู้บริโภคหากอยากมั่นใจว่าข้าวจะไม่มีสารเหล่านี้ตกค้าง คงต้องเลือกซื้อข้าวที่ผ่านการผลิตจากโรงงานที่มีระบบรับรองไม่ว่าจะเป็น GMP/HACCP หรือระบบประกันความปลอดภัยทั้งหลาย เพราะโรงงานที่มีระบบเหล่านี้ จะถูกตรวจสอบผลของสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างโดยผู้ตรวจประเมิน ซึ่งผู้เขียนเองก็ทำงานในส่วนของการตรวจที่ว่ามานี้ด้วย ยังมีข้าวจากหลาย ๆ โรงงานที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคนะคะ อยู่ที่เราควรเลือกให้ดี

เห็นไหมคะว่า ไม่ได้ยากเลยกับการเลือกข้าวที่มีความปลอดภัย ข้าวไทยที่มีคุณภาพดียังมีอยู่มากมายนะคะ อย่าทำลายผู้ประกอบการ ไปจนถึงเกษตรกร โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของการโพสต์ การแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงกันต่อ ๆ ไปเลยคะ ใครจะเป็นอะไรไม่สน เราสนแค่ว่าเรารู้วิธีในการเลือกข้าวที่ปลอดภัยกันก็พอแล้วนะคะสำหรับวันศุกร์นี้

อย่าลืมนะคะว่า You are what you eat อยากสุขภาพดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ใส่ใจเรื่องอาหารที่เราจะหยิบเข้าปากกันเสมอ ๆ นะคะ


อย่าตกใจ!! ข้าวไทย ไม่อันตราย อย่างที่คิด

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์