อันตรายจากไฟประดับ ไฟกระพริบ ในงานสังสรรค์ เทศกาลรื่นเริง

อันตรายจากไฟประดับ ไฟกระพริบ ในงานสังสรรค์ เทศกาลรื่นเริง



          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนอันตรายจากไฟประดับ ไฟกระพริบ หากอยู่ในสภาพชำรุด ห้ามนำมาใช้งานอย่างเด็ดขาด ติดตั้งให้อยู่สูงกว่าระดับพื้น และห่างจากบริเวณที่ชื้นแฉะ ในการประดับไฟให้ใช้  สายรัดแบบพลาสติก แทนการใช้ลวดเย็บหรือหนีบสายไฟ เพราะจะทำให้สายไฟฉีกขาด จนเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วไหล  ตลอดจนดูแลมิให้เด็กเล่นใกล้ไฟประดับ เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต

นายวิบูลย์  สงวนพงศ์  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า งานสังสรรค์ต่างๆ ในช่วงเทศกาลรื่นเริงส่งท้ายปลายปี มักมีการประดับประดาสถานที่ด้วยไฟประดับ และไฟกระพริบหลากหลายสี แต่หากขาดความระมัดระวัง ภายใต้ความสวยงามอาจมีภัยร้ายจากไฟฟ้าซ้อนเร้น ทำให้เกิดอันตรายจากไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เพื่อความปลอดภัย ขอแนะข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

การเลือกใช้ เลือกใช้สายไฟ หลอดไฟ สายไฟพ่วงที่อยู่ในสภาพปลอดภัย และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่ติดตั้ง เช่น ภายในอาคาร ภายนอกอาคาร  หากตรวจพบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่นำมาตกแต่งอยู่ในสภาพชำรุด ขั้วต่อหลวม หรือมีรอยฉีกขาด  ห้ามนำมาใช้งานอย่างเด็ดขาด

การติดตั้ง ติดตั้งขั้วต่อสายไฟฟ้าให้อยู่สูง จากระดับพื้นในระยะที่ปลอดภัย และอยู่ห่างจากบริเวณที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำ
กระเด็นถึง เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด

การประดับไฟ
  ให้ใช้สายรัดแบบพลาสติกแทนการใช้ลวดเย็บ หมุด ตะปูเจาะหรือหนีบสายไฟ เพราะจะทำให้สายไฟ  ฉีกขาด รวมถึงห้ามตกแต่งไฟประดับใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง และหลอดไฟริมถนน เพราะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดและเพลิงไหม้ ตลอดจนห้ามเสียบต่อชุดไฟประดับที่มีกระแสไฟเกินขนาดที่กำหนด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

ข้อควรระวัง  ในการติดตั้งไฟประดับ ห้ามนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานมาเป็นเวลานานจนพลาสติกหุ้มสายไฟมีสภาพกรอบแตก หรือขั้วต่อสายไฟแตกหัก ชำรุดมาใช้งานอย่างเด็ดขาด ระมัดระวังมิให้เด็กเล่นใกล้ไฟประดับ หรือดึงสายไฟที่ตกแต่งสถานที่เล่น เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ ดับไฟและถอดปลั๊กไฟออกทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน ห้ามเปิดไฟทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ดูแล พร้อมทั้งปิดสวิตซ์ไฟฟ้าทันที หากพบเห็นอาการผิดปกติของระบบไฟฟ้า



ที่มา วิชาการดอทคอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์