อ่างศิลา หรือ อ่างหิน


อ่างศิลา ในปัจจุบัน คนพื้นที่ดั้งเดิมเรียกกันว่า อ่างหิน สมัยรัชกาลที่ 3 ชาวตะวันตกและคนบางกอก มาพักตากอากาศกันมาก ชื่ออ่างหินก็เริ่มเปลี่ยนแปลงให้ดูเป็นสากลมากขึ้น โดยมีหลักฐานบันทึกถึงชื่อ อ่างศิลา ดังนี้

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี ได้ประทับแรมที่อ่างศิลา โดยมีลายพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2419  พรรณนา อ่างศิลา  ตอนหนึ่ง ว่า

"...เรียกชื่อว่าอ่างศิลานั้น เพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน มีศิลาก้อนใหญ่ๆ เป็นศิลาดาด และเป็นสระยาวรี อยู่ 2 แห่งๆหนึ่งลึก 7 ศอก กว้าง 7 ศอก ยาว 10 วา แห่งหนึ่งลึก 6 ศอก กว้าง 1 วา 2 ศอก ยาว 7 วา เป็นที่ขังน้ำฝน น้ำฝนไม่รั่วซึมไปได้  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบตี เห็นว่าเป็นประโยชน์กับคนทั้งปวงจึงให้หลวงฤทธิ์ศักดิ์ชลเขตร ปลัดเมืองชลบุรี เป็นนายงานก่อเสริมปากบ่อกั้นน้ำ มิให้น้ำที่โสโครกกลับลงไปในบ่อได้ ราษฎร ชาวบ้านและชาวเรือไปมาได้อาศัยใช้น้ำฝนในอ่างศิลานั้น บางปีถ้าฝนตกมาก ถ้าใช้น้ำแต่ลำพังชาวบ้านก็ได้ใช้น้ำ ทั้งสองแห่งและบ่ออื่นๆ บ้างพอตลอดปีไปได้ บางปีฝนน้อย ราษฎรได้อาศัยใช้แต่เพียง 5 เดือน 6 เดือน ก็พอหมดน้ำในอ่างศิลา แต่น้ำในบ่อแห่งอื่นๆ ที่ราษฎรขุดขัง น้ำฝนไว้ใช้นั้น มีอยู่หลายแห่งหลายตำบล ถึงน้ำในอ่างศิลา สองตำบลนี้แห้งไปหมดแล้วราษฎรก็ใช้น้ำบ่อแห่งอื่นๆ ได้จึงได้เรียกว่า "บ้านอ่างศิลา" มาจนถึงทุกวันนี้"

ปัจจุบันอ่างศิลายัง เป็นชุมชนชาวประมง มีสินค้าอาหารทะเลแปรรูปจำหน่ายมากมาย รวมทั้งมีสินค้าหัตถกรรมขึ้นชื่อคือ ครกหิน และผ้าทออ่างศิลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะมารับประทานอาหารทะเล และซื้อของฝากกันมาก


อ่างศิลา หรือ อ่างหิน


แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในอ่างศิลา

พระตำหนักมหาราช พระตำหนักราชินี
เป็น รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า "อิทธิพลทางตะวันตกแบบเมืองขึ้น" ตึกทั้งสองหลังนี้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ใน ระหว่างที่ทรงสำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสยุโรป พระราชทานนามตึกหลังใหญ่ว่า "ตึกมหาราช" ตึกหลังเล็กว่า "ตึกราชินี"  กรมศิลปากรได้ประกาศให้ตึกทั้งสองหลังขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2539

วัดอ่างศิลา
เดิม ชื่อ "วัดนอก" ตั้งอยู่ใกล้กับ "วัดใน" ภายหลังรวมกันเป็น วัดอ่างศิลา พระอุโบสถของวัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2243 อายุกว่า 300 ปี ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้ ยังมีหมู่เจดีย์ 3 องค์ และมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอีกด้วย ปัจจุบันวัดอ่างศิลาเป็นที่รู้จักของนักสะสมพระปิดตา และหลวงปู่หิน ซึ่งเป็นที่สักการะและนับถือของชาวอ่างศิลา

สะพานปลาอ่างศิลา
เดิม เรียกว่า "สะพานหิน" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสนาดี กรมท่าสร้างสะพานหินให้ยาวออกไปในทะเลจนพ้นเขตศิลาใต้น้ำ ปัจจุบันเป็นท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา มีสินค้าท้องถิ่นและอาหารทะเลจำหน่ายหลากชนิด 

ฟาร์มหอย 
มี การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและหอยแมลองภู่  ฟาร์มหอยนางรม เป็นหอยนางรมปากจีบ เลี้ยงแบบพวงอุบะแขวน โดยแขวนใต้นั่งร้านไม้ไผ่ ส่วนฟาร์มหอยแมลงภู่ เลี้ยงแบบปักหลักลงใต้น้ำทะเล 

จุดแวะชมค้างคาว ป่าโกงกาง 
เป็นป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง มีค้างคาวแม่ไก่ อาศัยอยู่ร่วมกับชุมชนบริเวณป่าโกงกางเป็นจำนวนมาก 

ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ 
อยู่ ระหว่างทางจากตลาดอ่างศิลา ไปเขาสามมุข สร้างขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 เดิมสร้างเป็นศาลเจ้าขนาดเล็ก บนเนื้อที่ 200 ตารางวา เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2541  สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จมาเป็นประธานพิธีเททองหล่อพระพุทธ 7 องค์ และประทานนามศาลเจ้าแห่งนี้ว่า "วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม" โดยมีการขยายอาคารและเนื้อที่ รวม 25 ไร่ 

ตลาดอ่างศิลา 
เดิม ตลาดอ่างศิลามีถนนเพียงสายเดียว สร้างในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. 2501 ต่อมาจึงมีการสร้างถนนสายลงทะเลขึ้นอีกสายหนึ่ง และเชื่อมต่อยาวไปจนถึงเขา สามมุข อาคารบ้านเรือนทั้งสองฝั่งถนนในตลาดเก่ามีจำนวนประมาณ 180 หลัง     ด้วยลักษณะทางธรณีวิทยาในเขตอ่างศิลาประกอบด้วยหินแกรนิตซึ่งมีสีขาวนวลและ สีเหลืองอ่อน มีความแกร่งมาก ทำให้เกิดเป็นอาชีพการทำ "ครกหิน" ปัจจุบันเป็นสินค้าที่ระลึกที่ขึ้นชื่อที่สุดของอ่างศิลา 

ในปี 2552 อ่างศิลามีอายุ 133 ปี ชาวอ่างศิลาได้ร่วมกันฟื้นฟูบรรยากาศตลาดเก่าให้คึกคักโดยมีสินค้าอาหารมา จำหน่ายมากมายในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 10.00 – 19.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการตลาดเก่า อ่างศิลา 133 ปี  โทร. 0 3839 8497 , 08 0993 6743

ที่มา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์