ฮีทสโตรกโรคร้ายช่วงหน้าร้อน คน-สัตว์ต้องระวัง


อีกหนึ่งภัยหน้าร้อนที่ไม่ควรมองข้าม “ฮีทสโตรก” หรือโรคช็อคแดด ที่มาพร้อมกับอากาศอันร้อนจัด ทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันจนเกิดอาการหน้ามืด ช็อค บางรายอากาศอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แม้ว่าจะเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตแต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักโรคนี้เท่าที่ควร “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงได้สอบถามกับนายแพทย์นริศ สมิตาสิน อายุรแพทย์ระบบประสาทโรงพยาบาลเวชธานี ถึงความรู้เกี่ยวกับโรคฮีทสโตรกที่ควรรู้

นพ.นริศ กล่าวว่า โรคฮีทสโตรกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ คลาสสิคเคิลฮีทสโตรก เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด ทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นเด็กและผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ต้องรับประทานยาหลายชนิด และบางชนิดจะไปช่วยขับเหงื่อออกจากร่างกาย ดังนั้นหากจำเป็นต้องปล่อยให้ผู้สุงอายุอยู่บ้าน ควรเป็นห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ มีน้ำให้จิบตลอดเวลา

ส่วนประเภทที่2 คือ เอ็กเซอร์ชั่นนอลฮีทสโตรก เกิดในกลุ่มที่ออกกำลังกายในอากาศร้อนจัด หรือประมาณ 38 - 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิของร่างกายที่ 37 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เนื่องจากร่างกายของมนุษย์มีการถ่ายเทความร้อนทางเหงื่อ แต่ถ้าน้ำในร่างกายถูกขับออกมาจนหมด แต่อุณหภูมิในร่างกายยังสูงจะมีผลต่อระบบภายในร่างกายและสมอง จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงเวลากลางวัน แล้วหันไปออกในเวลา 18.00-20.00 น. สวมเสื้อผ้าที่โปร่งเพื่อให้ความร้อนสามารถถ่ายเทได้ง่าย จิบน้ำในระหว่างการออกกำลังกายอยู่เสมอด้วย

นพ.นริศ กล่าวต่อว่า แม้ว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคจะมีหลากหลาย แต่ลักษณะของอาการจะคล้ายคลึงกันคือ รู้สึกกระสับกระส่าย เวียนศีรษะ มึน ตาลาย หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อสลายตัวจนนำไปสู่การเสียชีวิต ดังนั้นโรคฮีทสโตรกจึงถือเป็นโรคที่อันนตรายแม้ว่าจะจะเกิดขึ้นน้อยในเมืองไทย แต่ประเทศที่มีอาการร้อนจัดอย่างซาอุดิอาระเบียมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ถึง100คนต่อประชากร1แสนคน ใน1ปี ซึ่งร้อยละ50ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา

โรคฮีทสโตรกนี้ไม่ได้เป็นอันตรายกับมนุษย์เท่านั้น แต่สัตว์เองก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โดย น.สพ. บูรพงษ์ สุธีรัตน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน เปิดเผยว่า สัตว์เสี่ยงที่จะเป็นโรคฮีทสโตรกได้มากกว่ามนุษย์ เนื่องจากสัตว์ไม่สามารถขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนในร่างกายได้อย่างมนุษย์ จึงทำได้เพียงการหายใจเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่เพียงพอ

นพ.บูรพงษ์ เผยอีกว่า สัตว์ที่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคนี้มากที่สุดคือกระต่าย แต่เพราะคนเราต้องจะเลี้ยงกระต่ายไว้ในบ้านไม่ได้พาออกไปวิ่งเล่น จึงไม่น่าเป็นห่วงนัก ผิดกับสุนัขที่มักจะถูกพาออกไปทำกิจกรรมและออกกำลังกายในที่โล่งอยู่เสมอ ทำให้สุนัขต้องเผชิญกับความเครียดและอากาศร้อนมากกว่า อีกทั้งยังมีภาวะของโรคเห็บที่อาจแทรกซ้อนอยู่ในสุนัขบางตัวจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้น

รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน กล่าวว่า อาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคฮีทสโตรกจะไม่แตกต่างจากมนุษย์ โดยอาการสำคัญคือ มีไข้ขึ้นสูง ซึ่งหากปล่อยไว้นานก็จะเกิดอาการชัก หากสัตว์เลี้ยงมีอาการ ให้ผู้เลี้ยงตัดขนให้สั้น ใช้น้ำค่อย ๆ ราดที่ลำตัว และใช้สายยางสวนที่ก้นเพื่อระบายความร้อนจากข้างใน แล้วนำส่งสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา

อย่างไรก็ตาม จากความรู้ที่ได้พบว่าไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ล้วนแต่ควรหลีกเลี่ยงอยู่ในที่กลางแจ้งช่วงฤดูร้อนเพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคฮีทสโตรกที่อันตรายถึงชีวิต.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์


ฮีทสโตรกโรคร้ายช่วงหน้าร้อน คน-สัตว์ต้องระวัง

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์