เกิดเป็นหญิงแท้จริงต้องระวัง 4 โรคร้าย

เกิดเป็นหญิงแท้จริงต้องระวัง 4 โรคร้าย


โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มาเยี่ยมเยือนผู้หญิงเราโดยเฉพาะนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อใช้ดูแลและป้องกันตัวเองค่ะ

      การดูแลตัวเองทั้งในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย พยายามรักษาจิตใจให้แจ่มใส เฝ้าระวังระไวและตรวจตราตัวเองอยู่สม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันเราไม่ให้เฉียดกรายเข้าใกล้โรคภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเราโดยเฉพาะ ได้แก่ เนื้องอกมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และกระดูกพรุน

      การดูแลสุขภาพสม่ำเสมออย่างหนึ่ง นอกจากจะไปตรวจสุขภาพประจำปีแบบเดียวกับหนุ่ม ๆ เขาแล้ว ผู้หญิงเราควรจะไปหาหมอเพื่อตรวจภายในกันปีละหน แต่สาวปูนนี้มีเหมือนกันที่ยังเหนียมอายอยู่ บางคนก็กลัวว่าตรวจแล้วพบเนื้อร้ายหรือความผิดปกติต้องขึ้นเขียงผ่า จึงหลีกเลี่ยงไม่ค่อยยอมไปตรวจกัน ชะล่าใจแบบนี้เท่ากับเป็นการเสี่ยงนะคะ

        สิ่งที่ดีที่สุดคือการตรวจเป็นการตรวจประจำ ถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้แม้จะเป็นมะเร็ง ที่พบแล้วเจอแจ๊กพ็อตเพราะว่าในชีวิตนี้ไม่เคยไปตรวจภายในเลย หรือชะล่าใจอย่างที่เล่าล่ะค่ะ

เตรียมตัวไปตรวจภายใน

       เตรียมใจยังไม่พอค่ะ ต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับการตรวจด้วย ควรเลือกวันหลังประจำเดือนหมดไปก่อน งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนไปตรวจ 24 ชั่วโมง ไม่สวนล้างช่องคลอด 3 วันก่อนไปตรวจ รักษาอาการติดเชื้อหรืออักเสบที่ช่องคลอด เช่น เชื้อราในช่องคลอดให้หาย เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ผลการตรวจออกมาไม่แน่นอน

      การตรวจภายในจะทำให้พบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับระบบภายในอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง ที่ควรระวัง คือ เนื้องอกในมดลูกและมะเร็งปากมดลูก

เนื้องอกมดลูก   


      ทุกวันนี้พบจำนวนผู้หญิงเป็นเนื้องอกมดลูกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน บางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อเนื้องอกโตขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้ประจำเดือนมามาก นาน หรือบ่อยเกินไปอาจทำให้โลหิตจาง หรือไปกดทับกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะลำบาก หรือปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ปวดหน่วง ๆ ในท้องน้อย ถ้ากดทับช่วงทวารหนัก จะทำให้มีอาการท้องอืด ท้องผูก เท้าบวม หรือสังเกตได้อีกอย่างว่าอาจเป็นคนที่มีลูกยาก

       เนื้องอกเกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อผนังมดลูกที่เจริญเติบโตผิดปกติ จนเป็นก้อนอยู่ในผนังมดลูก แรก ๆ อาจเล็กนิดเดียว แล้วค่อย ๆ โตขึ้น สำหรับคนไม่เป็นปัญหาก็ไม่ต้องไปจัดการอะไร เพียงแต่ติดตามดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าใกล้จะถึงวัยหมดประจำเดือนเนื้องอกจะเล็กลงไปเอง เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอกลดลง เนื้องอกนี้ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง

       การรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการของเนื้องอกว่าหนักหนาแค่ไหน บางรายกินยา บางรายผ่าตัดออกเฉพาะเนื้องอก เก็บมดลูกไว้เผื่อมีลูกได้ต่อไป แต่แบบนี้ก็อาจเป็นเนื้องอกได้อีก ถ้าเนื้องอกใหญ่มาก มีหลายก้อน หรือเกิดความผิดปกติมากหมอจะพิจารณาตัดมดลูกออกไป ส่วนจะตัดรังไข่ไปด้วยหรือไม่ก็ต้องดูว่าจำเป็นต้องเก็บรังไข่ไว้สร้างฮอร์โมนเพื่อรักษาสมดุลในร่างกายหรือเปล่า หรือกรณีที่ประจำเดือนมากผิดปกติ แต่เนื้องอกเล็กมีไม่หลายก้อนนัก ก็ใช้การจี้ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกและเนื้องอกในโพรงมดลูก

        ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่า เจ้าเนื้องอกมาโผล่ตรงมดลูกได้อย่างไร แต่สาเหตุหลักก็หนีไม่พ้นลักษณะการดำเนินชีวิตสภาพแวดล้อม อาหารที่เรากินเข้าไป และความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุของทุกโรค

มะเร็งปากมดลูก    


      เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผู้หญิงไม่น้อยต้องเสียชีวิตไป เพราะไม่ได้ตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้งที่เป็นเรื่องป้องกันได้ เพราะยิ่งพบเร็วยิ่งมีโอกาสหายขาดได้มาก

      สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV - Huma Papilloma Virus) เชื้อไวรัสนี้ใช้เวลานานนับ 10 ปี กว่าจะก่อตัวเป็นมะเร็งปากมดลูกขั้นรุนแรง ถ้าพบก่อนรักษาหายขาดได้ ไม่นำไปสู่การก่อตัวของมะเร็งปากมดลูก

      ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเพียงคนเดียว แต่เขามีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายๆ คน หญิงรักเดียวใจเดียวก็มีสิทธิ์รับเชื้อได้ ยังพบอีกว่าผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 20 ปีก็เสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกด้วยเพราะมดลูกในวัยนี้ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าไปทำอันตรายง่ายกว่า เตือนลูกสาววัยรุ่นของเราไว้นะคะว่า ค่านิยมตะวันตกมาแรงแซงค่านิยมไทย เรื่องรักนวลสงวนตัว อย่างไรข้อเท็จจริงเรื่องมะเร็งปากมดลูกยังคงเป็นเช่นนี้อยู่

      บุหรี่และเหล้ายาทั้งหลายที่เราดูดและดื่มเข้าไป ยังคงเป็นผู้ร้ายหน้าเก่าตัวเดิมที่จะลดภูมิต้านทานของร่างกาย เปิดโอกาสให้เชื้อเอชพีวีเล่นงานง่ายขึ้น

มะเร็งเต้านม   


      ทรวงอกคือจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของผู้หญิงค่ะ เราอาจใส่ใจแต่เรื่องความสวยงามว่ามีขนาดเล็กใหญ่ หย่อนคล้อยลงตามแรงโน้มถ่วงของโลกมากน้อยแค่ไหนแล้ว แต่ความสวยงามไม่น่าจะเป็นปัญหาหนักอกเท่ากับสุขภาพของทรวงอก มะเร็งเต้านมน่ะสิคะออกจะน่ากลัวอยู่ เกิดมาเป็นผู้หญิงเมื่อไหร่ ไม่ว่าวัยไหนก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมค่ะ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายข้อ

       เราจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมถ้า

       มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านม

       ไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรกหลัง อายุ 30 ปี

       ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

       คนที่ใช้ยาคุมกำเนิดก็มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่เคยกินเลย

       ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดเทนเป็นเวลานาน (ราว ๆ 10 ปีขึ้นไป) หลังจากวัยหมดประจำเดือน

       คนที่ดื่มเหล้าวันละ 1 แก้ว จะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่พวกคอแป๊บคอทองแดงดื่มวันละ 2-5 แก้วทุกวัน มีสิทธิ์เสี่ยงมากกว่าคนที่อ้วนมาแต่เกิด

       ชอบกินอาหารประเภทเนื้อแดงไขมัน

        มะเร็งเต้านมป้องกันได้

      
เราจะไม่ตกไปอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ถ้ารู้จักดูแลรักษาตัวเองอย่างสม่ำเสมอค่ะด้วยการ

      ออกกำลงกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เฉลี่ยเกลี่ยกันไปไม่ใช่วันเดียว 4 ชั่วโมงรวด อาจว่ายน้ำ วิ่ง บริหารตามวิดีโอ เล่นกีฬาที่ชอบ หรือกวาดเช็ดถูบ้าน

      ลดอาการเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เปลี่ยนมากินปลาแทน กินผัก ผลไม้ ธัญพืชในสัดส่วนที่มากขึ้น

      เหล้าบุหรี่ละไว้

      ตรวจหน้าอกตัวเองเดือนละครั้ง หาความผิดปกติ อาจมีสัญญาณเตือน เช่น มีก้อนเนื้อในหน้าอก มีรอยบุ๋มย่นเหมือนเปลือกฟักทอง บางส่วนเป็นสะเก็ด หัวนมเปลี่ยนแปลงไป เช่น หดตัว เจ็บเต้านม เส้นเลือดดำขอด หรือความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ

      ไปหาหมอตรวจเต้านมปีละครั้งตั้งแต่อายุ 20 พออายุ 35 ปีขึ้นไป เริ่มตรวจเมมโมแกรมปีละครั้ง

      ถ้าตรวจพบมะเร็งเต้านม แล้วรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มีโอากาสรักษาหายได้

        ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

         ควรตรวจทุกเดือน ระยะเวลาที่เหมาะที่สุดคือหลังประจำเดือนหมดไปแล้ว 7-10 วัน เพราะช่วงนี้เต้านมไม่คัดตึง มีก้อนแข็งน้อยที่สุด ถ้าตั้งครรภ์อยู่หรือวัยหมดประจำเดือนแล้ว ควรตรวจเดือนละครั้งอาจกำหนดเลยไปเช่น ทุกวันที่ 1 ของเดือนจะได้ไม่ลืม

กระดูกพรุน

      กระดูกพรุนอาจดูไม่รุนแรงเท่ากับมะเร็งในระบบสืบพันธ์แต่มองข้ามเรื่องนี้ไป ไม่ได้ค่ะถ้าเราเกิดเป็นหญิง เพราะเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกไป ร่างกายจะหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่ดูแลกระดูกให้แข็งแรง คอยดูดซึมแคลเซียมสารจำเป็นสำหรับสร้างความแข็งแกร่ง เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน จึงมักพบปัญหากระดูกพรุนได้ง่ายกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า

      กระดูกที่มีความหมายหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อย จะอ่อนแอเปราะบาง หักง่าย ข้อมือ สะโพก สันหลังบริเวณเอว จะเป็นส่วนที่ควรระวัง

      สำหรับคนที่มีการสะสมแคลเซียมสร้างความแข็งแรงในกระดูกมาตั้งแต่เล็ก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีโอกาสรับแสงแดดยามเช้าเป็นประจำ กินอาหารที่ประกอบด้วยแคลเซียมเพียงพอ ปัญหากระดูกพรุนในวัยนี้จะไม่มากมายเท่ากับคนที่วัน ๆ เอาแต่นั่งทำงานในตึก ไม่เคยหาเวลาออกกำลังกาย

      การออกกำลังกายจะมีผลดีต่อการสร้างกระดูก ถ้าได้ออกกำลังกายวันละ 20 นาทีเป็นอย่างน้อย ไปวิ่งในสวนเดินไปทำงานในช่วงแต่เช้าตั้งแต่ 7 โมงถึง 9 โมงเช้าจะดีต่อกระดูกมาก

      เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมาก อาหารที่รสเค็มจัด โปรตีน และฟอสฟอรัสจะเพิ่มการสูญเสียแคลเซียมไปกับการปัสสาวะมากกว่าคนที่ไม่ดื่ม

      การสูบบุหรี่ หรือกินยาบางชนิด เช่นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ก็จะทำให้เนื้อกระดูกบางลงเช่นกัน

      มีความเข้าใจว่าการซื้อแคลเซียมชนิดเม็ดกิน จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างกระดูก แต่ความจริงแล้วไม่สามารถกินได้ตามใจชอบ ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ การกินแคลเซียมทดแทนเข้าไปโดยไม่ได้ออกกำลังกายเลย แคลเซียมก็ไม่ได้เข้าไปสร้างเสริมกระดูกแต่อย่างใด ถ้าคุณหมอไม่ได้บอกว่าเราต้องกินแคลเซียมเม็ด เลือกแคลเซียมที่หาได้ง่าย ๆ ในอาหารประจำวันดีกว่าค่ะ เช่น กุ้งแห้ง งาดำ กะปิ ปลาเล็ก ปลาน้อย ใบแมงลัก ปลานิล ส้มเขียวหวาน ยอดคะน้า นมหรือเต้าหู้ เลือกกินอย่างเหมาะสมและออกกำลังกายสม่ำเสมอไว้แต่เนิ่น ๆ เท่ากับการเป็นการสะสมทุนไว้ใช้ยามแก่ค่ะ


 
           การดูแลสุขภาพของตัวเองสม่ำเสมอนั้น ก็เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บมิให้มากล้ำกราย เป็นของฝากจากผู้หญิงสู่ผู้หญิงด้วยกันค่ะ



ที่มา .... Momypedia

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์