เคล็ดลับของการมีผิวสวยใส

คุณเคยรู้สึกแปลกใจบ้างไหมว่าเหตุใดผู้หญิง บางคนจึงมีประกายความงามโดดเด่น สะดุดตาคุณเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่เธอผู้นั้นก็ไม่ได้มีใบหน้าที่สวยสมบูรณ์แต่อย่างใด อันที่จริงแล้วคุณเองก็สามารถเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความงามโดดเด่นได้เช่นกัน เพียงเอาใจใส่และดูแลผิวอย่างสม่ำเสมอ

เคล็ดลับง่าย ๆ ของการมีผิวสวยใส ไร้ริ้วรอย คือ การรู้จักเลือกใช้ครีมบำรุงผิวอย่างเข้าใจ

เลือกใช้ครีมบำรุงผิวอย่างไรจึงจะดี

ครีมบำรุงผิวโดยทั่วไปที่ผู้หญิง ส่วนใหญ่ใช้จะมีองค์ประกอบหลัก คือ น้ำ น้ำมัน และสารอีมัลชั่น ซึ่งจะช่วยให้น้ำและน้ำมันเข้ากันเป็นเนื้อครีมอย่างที่เห็นโดยทั่วไป ครีมบำรุงผิวที่ดี เมื่อทาบนผิวหนังแล้ว เนื้อครีมควรจะเข้ากับผิวหนังได้ดี ไม่ทำให้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะและเนื้อครีมควรกระจายได้ง่ายบนผิวหนัง ที่สำคัญต้องช่วยปกป้องผิวหนังได้นานหลายชั่วโมงในแต่ละวัน องค์ประกอบของน้ำมันต้องซึมซาบได้ดี สามารถซึมลึกสู่ผิวหนังกำพร้าชั้นลึกลงไปได้ ปัจจุบันจึงมีการเลือกสรรชนิดของน้ำมันที่จะให้ประโยชน์ต่อผิวหนังมากกว่าการเป็นเพียงน้ำมันที่เป็นสารหล่อลื่นผิวหนังธรรมดา เช่น น้ำมันโจโจ้บา น้ำมันจากดอกทานตะวัน น้ำมันจากผลแตงกวา และอื่น ๆ น้ำมันที่สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติเหล่านี้ อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อเซลล์ผิวหนัง นอกจากนี้ครีมบำรุงผิวที่ดีควรจะมีอาหารเสริมให้แก่ผิวหนังอีกด้วย วิตามินชนิดต่าง ๆ รวมถึงสมุนไพรที่ได้รับการวิจัย ค้นพบและรับรองว่าปลอดภัย เช่น วิตามินเอ, วิตามินอี, วิตามินซี, โคเอ็นไซม์ Q10 เป็นต้น

วิตามินเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือสารต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยแห่งวัย ซึ่งสารต้านการเกิดอนุมูลอิสระสามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. สารแอนตี้ออกซิแดนท์ชนิดเอนไซม์ (Enzymatic Anti-Oxidants) ปกป้องเซลล์ที่อยู่ภายในร่างกาย ได้แก่ ซุปเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส (Super Oxide Dismutase - SOD) คาทาเลส (Catalase) กลูทาไทโอน เพอร์ออกซิเดส (Glutathione Peroxidases - GSHP) กลูทาไทโอน รีดักเทส (Glutathione Reductase) และกลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase - G-6-PD)

2. สารแอนตี้ออกซิแอนท์ที่ไม่ใช่เอนไซม์ (Non-Enzymatic Anti-Oxidants) มีโมเลกุลขนาดเล็ก ทำงานได้ทั้งภายในและภายนอกเซลล์ แต่จะทำงานภายนอกเซลล์เป็นส่วนใหญ่ คือ ในเส้นเลือด และระหว่างชั้นเนื้อเยื่อ โดยแบ่งประเภทตามการละลายได้เป็น 2 ชนิด

2.1 ไฮโดรฟิลิก แอนตี้ออกซิแดนท์ (Hydrophilic Anti-Oxidants) คือ สารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในน้ำ เช่น กรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี

2.2 ไลโพฟิลิก แอนตี้ออกซิแดนท์ (Lipophilic Anti-Oxidants) คือ สารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมัน ได้แก่ อัลฟ่า โตโกฟิรอล (Alpha Tocopherol) หรือวิตามินอี, เบต้าแคโรทีน (Beta Carotene), ยูบีควิโนน-ยูบีควินอล (Ubiquinone-Ubiquinol) และรีดิวส์ กลูทาไทโอน (Reduced Glutathione - GSHR)

ผิวชั้นนอก (Epidermis) มีปริมาณของสารแอนตี้ออกซิแดนท์มากกว่าผิวชั้นใน (Dermis) หลายเท่า เนื่องจากเป็นส่วนที่ปกคลุมร่างกายชั้นนอกสุด จึงต้องมีระบบต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นปราการด่านแรกในการปกป้องผิวจากมลภาวะต่าง ๆ

คุณสมบัติสำคัญของสารแอนตี้ออกซิแดนท์ในอุดมคติที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นเพื่อนำมาใช้ผสมในครีมบำรุงผิวต่อต้านริ้วรอย คือ

1. มีหน้าที่สำคัญทางสรีรศาสตร์ต่อผิวหนัง

2. สามารถต่อต้านอนุมูลอิสระได้หลายชนิด

3. หาง่าย ไม่เป็นพิษและไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง

4. ดูดซึมทางผิวหนังได้ดีในรูปของสารออกฤทธิ์

5. ผลิตภัณฑ์มีความคงตัว

6. ไม่เกิดการสันดาปกับออกซิเจนได้ง่าย ๆ ในบริเวณส่วนของผิวที่ต้องการการซ่อมแซมและปกป้อง


เคล็ดลับของการมีผิวสวยใส

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์