เจาะข่าวตื้น 14 ต.ค. 2516 วันมหาวิปโยคของแผ่นดินไทย





ขอนำมาให้ดูหลายๆแหล่งข้อมูลนะครับ ของเจาะข่าวตื้นก็ดีนะครับ ไม่ลงรายละเอียดลึกทำให้เห็นภาพกว้างๆของเหตุาการณ์ แต่ถ้าอยากรุ้ลึกๆต้องอ่านข้อมูลเพิ่มเติม





บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย "เหตุการณ์14 ตุลาคม 2516" หรือ "วันมหาวิปโยค" เมื่อนิสิต นักศึกษาและประชาชนกว่า 500,000 คนชุมนุมประท้วงเพื่อ"เรียกร้องรัฐธรรมนูญ­"และ"คัดค้านอำนาจรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร" (ซึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองเมื่อวันที­่ 17 พฤศจิกายน 2514) การเดินขบวนเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาส­ตร์ ออกไปตามถนนราชดำเนินสู่ลานพระบรมรูปทรงม้­า ก่อนจะปะทะระกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร กลายเป็นการจราจล และเกิดการนองเลือด มีนักศึกษาและประชาชนสูญเสียชีวิต 77 คนและบาทเจ็บ 857 คน เหตุการณ์สงบลงในค่ำวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อ ถนอม ประภาส ณรงค์ หนีออกนอกประเทศ และมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ปัจจุบันได้มีการก่อสร้าง "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวบริเวณ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิ 14 ตุลา ขึ้นด้วย ต่อมาในปี 2545 รัฐบาลได้มีการกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นับเป็นการแสดงพลังทางการเมืองของประชาชนค­รั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย­­สมัยใหม่ (นิตยสารสารดคี)




บันทึกเหตุการณ์


00.00น.-01.00น.

จัดขบวนใหม่มุ่งไปสวนจิตร


เวลาประมาณ 00.05 น. หลังจากที่นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หัวหน้าฝ่ายควบคุมการเดินขบวน สั่งให้เคลื่อนขบวนไปสวนจิตรลดาฯ เพื่อขอพึงพระบารมี ก็มีการจัดขบวนใหม่ ขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนได้เคลื่อนไปตามถนนศรีอยุธยาแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระราม 5
ทางด้านคณะกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อทราบข่าวการเคลื่อนไหว จึงได้รีบออกจากสวนรื่นฤดีพร้อมด้วยรถติดเครื่องขยายเสียงของทหาร 2 คัน เพื่อไปยับยั้งการเคลื่อนขบวนโดยเร็วที่สุด


01.00-02.45 น.


โจมตีกันเอง


เวลาประมาณ 01.00 น. ส่วนหน้าของขบวนประมาณ 5,000 คน ได้เคลื่อนผ่านประตูทางด้านทิศตะวันตกของสวนจิตรลดาฯ แล้วเผชิญหน้ากับแถวปิดกั้นของตำรวจปราบจลาจล จึงไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้
เมื่อคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยมาถึงหลังแนวปิดกั้นของตำรวจ เลขาธิการและกรรมการของศูนย์ฯ ได้ผลัดขึ้นไปพูดผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุลว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ มีคอมมิวนิสต์สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และขอให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนสลายตัวกลับไป เพราะคณะกรรมการศูนย์ฯ ได้ตกลงกับรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว สักครู่ก็แยกรถอีกคันเข้าไปในสวน!ดุสิต แล้วกรรมการศูนย์ฯ จำนวนหนึ่งก็ขึ้นพูดโจมตีนายเสกสรรค์เช่นเดิม

จนถึงเวลาประมาณ 02.10 น. กรรมการศูนย์ฯ ทั้งหมดก็หยุดอภิปรายโจมตีนายเสกสรรค์ เพราะไม่สามารถทำให้ฝูงชนสลายตัวตามที่ต้องการได้ แต่กลับมีคนในขบวนโห่ร้องขับไล่แทน ส่วนหนึ่งเพราะไม่ยอมเชื่อศูนย์ฯ อีกต่อไป และส่วนหนึ่งไม่ยอมเชื่อว่าเป็นเสียงของกรรมการศูนย์ฯ จริง ๆ

02.45-03.30 น.


ปรับความเข้าใจ


พอถึงเวลาประมาณ 02.45 น. นายธีรยุทธ บุญมีได้เข้าไปพบกับนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุลที่รถควบคุมขบวน จึงรู้ว่าเกิดการเข้าใจผิดกันหลังจากที่ขาดการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันหลายเรื่องในการควบคุมขบวน หลังจากปรับความเข้าใจกันแล้วก็ได้ช่วยกันประกาศผ่านไมโครโฟนเพื่อให้ผู้ชุมนุมคลายความสงสัยลง แล้วนายธีรยุทธก็ประกาศว่าจะพานายเสกสรรค์ไปขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลา 03.00 น.

03.30-06.00 น.


อัญเชิญพระบรมราโชวาทสลายการชุมนุม


เวลาประมาณ 03.30 น. นายธีรยุทธ บุญมี กับนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ออกจากขบวนไปพบเลขาธิการและกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อพูดถึงปัญหาความขัดแย้งและความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น จากนั้นทั้งหมดก็ได้เข้าไปในสวนจิตรลดาฯ เพื่อขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จนกระทั่งเวลา 04.45 น. พ.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจประจำสำนักพระราชวัง นายธีรยุทธ นายเสกสรรค์ เลขาธิการและกรรมการศูนย์ฯ ก็ออกจากพระราชวังสวนจิตรลดาฯ ตรงไปยังรถบัญชาการแล้วช่วยกันประกาศให้ผู้ชุมนุมได้เข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและความสำเร็จในการเจรจากับรัฐบาล รวมทั้งชี้แจงความไม่เข้าใจกันที่เกิดขึ้นระหว่างคณะกรรมการศูนย์ฯ กับฝ่ายควบคุมขบวน

ต่อมาเวลา 05.30 น. พ.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชรได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง และเมื่ออ่านเสร็จ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุลรวมทั้งกรรมการศูนย์ฯ ก็ได้ขึ้นพูดให้ทุกคนพอใจและขอให้สลายตัว จากนั้นฝูงชนก็เริ่มแยกย้ายกันออกจากที่ชุมนุมในเวลาประมาณ 06.00 น.

06.00-07.00 น.

เริ่มปะทะกับตำรวจ


ขณะที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนกำลังแยกย้ายกันกลับนั้น ส่วนหนึ่งก็มุ่งไปตามถนนพระราม 5 เพื่อออกไปทางสี่แยกดุสิต แต่แล้วกลับถูกกั้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 250 คน ซึ่งไม่ยอมให้เดินผ่านไปโดยสะดวก ทำให้ฝูงชนเกิดความไม่พอใจกระทั่งเริ่มมีการขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ ใส่ตำรวจ

จนเมื่อเวลาประมาณ 06.30 น. เกิดการขว้างปาและประจันหน้ารุนแรงขึ้น ในที่สุดตำรวจหน่วยปราบปรามภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.ท. มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ก็ได้ใช้ไม้กระบองกับโล่เข้าตีและดันผู้เดินขบวนให้ถอยร่นไป ขณะเดียวกันตำรวจกองปราบในแนวหลังก็ได้รับคำสั่งให้ยิงแก๊สน้ำตาจนฝูงชนแตกหนี ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกดัน ถูกตี และสำลักแก๊สน้ำตาจนตกน้ำ ต่างคนก็วิ่งหนีเอาชีวิตรอด บางคนต่อสู้โดยใช้มือเปล่า ไม้ ก้อนหิน และขวดเท่าที่จะหยิบฉวยได้ตามพื้นถนน ชายหญิงและเด็กหลายคนถูกตีจนแขนหัก ศีรษะแตก บ้างถูกเหยียบซ้ำเนื่องจากการถอยร่นของผู้ร่วมชุมนุม บางคนถูกไล่ตีตกน้ำทั้ง ๆ ที่ยังสำลักแก๊สน้ำตา บางส่วนหนีไปฝั่งสวนจิตรฯ และฝั่งสวน!ดุสิต

ด้านเลขาธิการและกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่งได้ติดกลุ่มไปกับฝูงชนที่ถอยร่นไปอยู่ในสวนจิตรลดาฯ จำนวนพันคนเศษ ขณะที่นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หัวหน้าผู้ควบคุมขบวน ได้เดินออกไปจากขบวนแล้ว

08.00-09.00 น.


ลุกลาม


เวลาประมาณ 08.00 น. นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ทราบข่าวการปะทะที่สวนจิตรลดาฯ ได้เริ่มทยอยเข้าไปรวมกันในธรรมศาสตร์จำนวนมาก คนที่หนีมาจากสวนจิตรฯ ได้นำข่าวเกี่ยวกับความทารุณของตำรวจมาเล่าให้เพื่อนฟัง บางคนมีอารมณ์แค้นพุ่งสูงขึ้น ต่างฉวยไม้ขึ้นรถพากันออกไป ส่วนที่เหลือช่วยกันทำระเบิดเพลิงอย่างเร่งรีบ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งศูนย์พยาบาลสนามขึ้นในธรรมศาสตร์ด้วย

สถานการณ์ลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ เวลาประมาณ 08.30 น. นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนราว 5,000 คน ได้เคลื่อนจากลานพระบรมรูปทรงม้า ตรงไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีการขว้างปาไม้และก้อนหินเข้าไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล และมีรถกระจายเสียงของนักศึกษาประกาศให้ไปรวมตัวกันที่ธรรมศาสตร์

ส่วนที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ก็มีนักศึกษาประชาชนชุมนุมกันหลายพันคน โดยผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์และสำนักงานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป. เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.


09.30 น.

บิดเบือน


เวลา 09.30 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้กระจายเสียงแถลงการณ์ของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี บิดเบือนว่ามีนักเรียนและผู้แต่งกายคล้ายทหารก่อวินาศกรรม บุกเข้าไปในสวนจิตรลดาฯ และสถานที่ราชการ โดยมุ่งหมายที่จะลบล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลจึงขอประกาศว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเจ้าหน้าที่จะเข้าระงับสถานการณ์อย่างเด็ดขาด

และระหว่างนั้นเอง พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการปราบปรามจลาจล พร้อมกับทหารและตำรวจ ก็ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ บินตรวจการณ์และรายงานข่าวถึงจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร บิดเบือนว่าในธรรมศาสตร์มีการซ่องสุมอาวุธและผู้คน และการจลาจลครั้งนี้เป็นไปตามแผนของคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังมีการยิงปืนเอ็ม 16 และระเบิดแก๊สน้ำตาลงมาใส่ประชาชนด้วยตลอดทั้งวัน

10.00-17.00 น.

ปะทะรุนแรง ตอบโต้เผด็จการ


เหตุการณ์ได้บานปลายลุกลามออกไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ ทหารและตำรวจออกปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ มีการต่อสู้ปะทะกันตลอดสายถนนราชดำเนินตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงสนามหลวง โดยเฉพาะที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร กองสลากกินแบ่ง โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตึก ก.ต.ป. กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า รวมทั้งบริเวณสถานีตำรวจชนะสงครามและย่านบางลำภู

นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ก็เริ่มตอบโต้กลับรุนแรงมากขึ้น มีการยิงและปาระเบิดขวดตอบโต้ทหารตำรวจเป็นบางจุด มีการบุกเข้ายึดและทำลายสถานที่บางแห่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเผด็จการคณาธิปไตย สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ตึก ก.ต.ป. และป้อมยามถูกเผา บางคนได้ขับรถเมล์ รถขยะ และรถบรรทุกน้ำของเทศบาลวิ่งเข้าชนรถถัง ศพวีรชนที่สละชีวิตหลายคนถูกแห่เพื่อเป็นการประจานความทารุณของทหารตำรวจและชักชวนให้ประชาชนไปร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักศึกษาก็ลำเลียงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลศิริราชทางเรือตลอดเวลา

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกแถลงการณ์โจมตีนักศึกษาประชาชนผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีคำสั่งให้ปิดสถาบันการศึกษาของรัฐในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการทุกแห่ง และประกาศไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้านในเวลากลางคืน

17.20 น.

จอมพลถนอมลาออก


ต่อมาเวลาประมาณ 17.15 น. เลขาธิการและคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางออกจากพระราชวังสวนจิตรลดาฯ เพื่อไปพบจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่กองบัญชาการปราบปรามจลาจล สวนรื่นฤดี แต่ก็สวนทางกับจอมพลถนอมซึ่งได้เดินทางไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลา 17.20 น.

ขณะเดียวกันการปราบปรามนักศึกษาประชาชนก็ยังดำเนินต่อไป สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ได้กระจายเสียงประกาศของกองบัญชาการทหารสูงสุดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นเขตอันตราย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังจะเข้ายึดพื้นที่ภายในเวลา 18.00 น. ขอให้นักเรียนนักศึกษาออกจากเขตดังกล่าว


18.45-24.00

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ การต่อสู้ดำเนินต่อไป


พอถึงเวลา 18.30 น. สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์และสถานีโทรทัศน์ทุกสถานีจึงได้ถ่ายทอดแถลงการณ์การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งขณะนั้นฝ่ายนักศึกษาประชาชนได้ถอยมาชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยราว 3 หมื่นคน

เวลา 18.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และในเวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยังคงมีประชาชนมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และยังคงมีตำรวจทหารยิงทำร้ายประชาชนอยู่ในบางบริเวณ

ท่ามกลางความสับสน คณะกรรมการศูนย์ปวงชนชาวไทยก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นชั่วคราวเมื่อเวลา 20.45 น. ท่ามกลางประชาชนประมาณ 5 หมื่นคนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประสานงานและคลี่คลายสถานการณ์

และเมื่อถึงเวลา 23.30 น. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้ปราศรัยทางโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายคืนสู่ความสงบ และประกาศจะใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน

ตลอดคืนนั้นยังคงมีเสียงปืนดังขึ้นประปราย ท้องฟ้าแถบถนนราชดำเนินเป็นสีแดง ควันพวยพุ่งอยู่เป็นหย่อม ๆ การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยดำเนินไปตลอดคืน

ที่มา

.pramool.com
รายการ เจาะข่าวตื้น 73 : เจาะ 14 ตุลา



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์