เจ็บ ตาปลา ทำไงดี ?!?


บางคนรักษาหายแล้ว กลับมาเป็นใหม่ได้อีก หากไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ










เจ็บ ตาปลา ทำไงดี ?!?



ใครเป็น ตาปลา ที่เท้า คงจะรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างดี เพราะกว่าจะรักษาหายต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ แต่ปัญหา คือ ใน

รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ตาปลาเป็นก้อนของหนังขี้ไคลซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังเรื้อรัง พบบ่อยบริเวณฝ่าเท้าซึ่งรับน้ำหนักตัวจึงเกิดอาการเจ็บเวลาเดิน

ทั้งนี้ผิวหนังของคนเราประกอบด้วยชั้นผิวหนังกำพร้ากับชั้นหนังแท้ โดยมีสารเชื่อมให้เกาะกัน เมื่อผิวหนังมีการเสียดสีรุนแรง ผิวหนังกำพร้าแยกเป็นตุ่มน้ำพองใส แต่การเสียดสีเป็นแบบเรื้อรังจะกระตุ้นให้ผิวหนังกำพร้าสร้างหนังขี้ไคลหนาเพิ่มขึ้นกลายเป็นรอยด้านแข็ง พบบ่อยบริเวณด้านข้างของฝ่าเท้าซึ่งมีการเสียดสีกับรองเท้า และในบางจุดหนังขี้ไคลหนาแข็งเป็นก้อนเล็กฐานของก้อนแหลมคล้ายลิ่มจึงเจ็บเมื่อกดลง และเมื่อปาดส่วนบนของก้อนออกจะเห็นหนังขี้ไคลกลมใสคล้ายตาปลา

ปัญหาหนังฝ่าเท้าด้านและตาปลาพบบ่อยขึ้น เพราะการสวมใส่รองเท้าแฟชั่นซึ่งไม่สอดคล้องกับโครงสร้างของกระดูกเท้า โดยเท้าประกอบด้วยกระดูกขนาดเล็กจำนวนมากเรียงต่อกันเป็นแนว ข้อกระดูกเชื่อมโยงด้วยพังผืดและมีเส้นเอ็นเกาะกระดูกเพื่อบังคับการทรงตัวให้มั่นคง กระดูกเท้ามีหนังฝ่าเท้าห่อหุ้ม ผิวหนังบางส่วนมีการเสียดสีกับวัสดุรองเท้าเรื้อรังจึงหนาด้านขึ้น ถ้ารองเท้าบีบรัดให้การเรียงตัวของกระดูกผิดทิศทางมีการรับน้ำหนักของกระดูกบางชิ้นเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้การเสียดสีเพิ่มมากขึ้น ก้อนหนังที่หนาแข็งของหนังกำพร้าหรือตาปลาจะกดหนีบเนื้อหนังแท้และชั้นไขมันซึ่งมีใยเส้นประสาทกับกระดูกทำให้เจ็บปวดเวลาเดิน

ลักษณะหนังหนาและตาปลา ยังพบได้บริเวณซอกนิ้วนางและนิ้วก้อย ซึ่งมีการเสียดสีของหนังซึ่งทับกันระหว่างซอกนิ้วกับกระดูกนิ้ว นอกจากนี้ยังพบบริเวณฝ่าเท้าระหว่างโคนหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ และฝ่าเท้าบริเวณโคนนิ้วกลางและนิ้วนาง จากการสวมใส่รองเท้าหัวแหลมบีบนิ้วทั้ง 2 ข้างเข้าหากัน หนังฝ่าเท้าจะห่อเข้าหากันเกิดการเสียดสีเรื้อรังเมื่อเดินเป็นก้อนแข็งยาวตามร่องฝ่าเท้า และอาจมีตาปลาตรงกลางก้อนแข็ง

ด้านบนของหลังเท้าบริเวณนิ้วนางก็พบตาปลาบ่อยเนื่องจากการสวมรองเท้าหัวแบน ผิวหนังบริเวณดังกล่าวเสียดสีกับรองเท้าซึ่งหุ้มหลังเท้า ส่วนผิวหนังหนาด้านข้างฝ่าเท้าบริเวณหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย มักเกิดจากการสวมรองเท้าหลวมเกินไป

ผู้ป่วยสามารถวินิจฉัยตาปลาได้เอง โดยตาปลาส่วนใหญ่จะเป็นทั้ง 2 เท้า แต่ก้อนเจ็บบริเวณฝ่าเท้าคล้ายตาปลาอาจเป็นโรคหูดจากไวรัส เอชพีวีได้ โดยไวรัสจะกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเป็นก้อนในชั้นหนังกำพร้า แต่มีข้อแตกต่าง คือ หูดมักเป็นเท้าเดียวและเจ็บมากถ้าบีบก้อนทางด้านข้างเข้าหากัน ส่วนตาปลามักเจ็บมากเมื่อกดลง และเมื่อปาดผิวหูดออก เนื้อหูดเป็นเส้นสีขาวอัดแน่น หรือถ้าตัดลงลึกจะมีเลือดออกเพราะหูดเป็นเนื้องอกของหนังกำพร้ามีเซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าหนาขึ้น และมีหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น แต่ตาปลามีเฉพาะผิวหนังขี้ไคลหนาเท่านั้น

ตาปลาจะหายขาดต้องรักษาที่ต้นเหตุ ว่าเป็นจากความผิดปกติของกระดูก หรือการสวมรองเท้าไม่เหมาะสม แต่การผ่าตัดแก้ไขกระดูกยุ่งยากมาก จึงนิยมรักษาตามอาการ เช่น ขูดหรือเฉือนส่วนแข็งออก ใช้ยากัดหูดซึ่งประกอบด้วยกรดซาลิซิลิคหรือกรดแลคติก นอกจากนี้การแก้ไขรองเท้าเพื่อลดการเสียดสี และการใช้อุปกรณ์เสริมวางบนเท้าหรือรองเท้าเพื่อกระจายน้ำหนักหรือลดการเสียดสีจะช่วยทุเลาอาการ เช่น บริเวณพื้นรองเท้าอาจตัดแผ่นรองใต้ฝ่าเท้าให้เป็นหลุมเพื่อลดการกดทับเมื่อเดิน.


นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน


ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์






ข้อมูลโดย : นิตยสาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์