เชิดชู10สตรีใต้ ยืนหยัดสู้เพื่อสันติสุข


เป็นเวลาอันต่อเนื่องยาวนานที่ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องประสบกับปัญหาความไม่ปลอดภัย และเผชิญหน้ากับความรุนแรง

ทว่า...ท่ามกลางความมืดมนและทุกข์โศก ยังปรากฏ "ความงดงาม" ซึ่งเปรียบดังแสงสว่างของหนทางไปสู่สันติสุข นั่นคือ ผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่า "สตรี" ผู้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม

เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม องค์การอ๊อกแฟม ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิยูนิลิเวอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จัดโครงการมอบรางวัล "สตรีต้นแบบ" เชิดชูเกียรติ 10 ผู้นำสตรีใน 3 จังหวัดปลายด้ามขวาน โดยได้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล

"สตรีต้นแบบ" ทั้ง 10 คน ประกอบด้วย
นางสม โกไศยกานนท์,
นางมาริสา สมาแห,
นางนิเด๊าะ อิแตแล,
นางสาวกัลยา โสพาศรี,
นางสาวอรอุมา ธานี,
นางแยแน๊ สะแลแม,
นางสาวดวงสุดา สร้างอำไพ,
นางนฤมล สา
และ, นางสีตีนอร์ เจ๊ะเล๊าะ นางอารีด้า สาเม๊าะ

พวกเธอ...เปรียบดั่ง "ดอกไม้เหล็ก" ที่เพียบพร้อมด้วยความกล้าหาญและจิตใจที่งดงาม


เชิดชู10สตรีใต้ ยืนหยัดสู้เพื่อสันติสุข


นางมาริสา สมาแห เป็นครูที่โรงเรียนบ้านพ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี แม้สามีเธอซึ่งเป็นอดีตกองอาสารักษาดินแดนจะถูกยิงเสียชีวิต แต่ที่ผ่านมา เธอสามารถใช้หลักศาสนา กำลังใจ ความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ยืนหยัดต่อสู้กับความเจ็บปวดและความสูญเสีย ปัจจุบัน เป็นคณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์และประเมินผลการเยียวยา

"ดิฉันเป็นครอบครัวแรกในหมู่บ้านที่สามีถูกลอบยิงเสียชีวิต สามีเป็นเสาหลักของบ้าน เมื่อไม่มีเขาก็ไม่รู้จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร กินไม่ได้นอนไม่หลับจนต้องพึ่งยานอนหลับ ใช้เวลาทำใจเกือบ 2 ปีกว่าจะลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง"

เมื่อก้าวข้ามความเจ็บปวด เธอก็ใช้ประสบการณ์ที่มีเข้าไปทำงาน "เยียวยา" ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบคนอื่นๆ

"พอได้ยินข่าวว่า ครอบครัวไหนถูกลอบยิง หรือถูกระเบิด ดิฉันเข้าใจความรู้สึกของเขาเลยว่า เจ็บแบบไหน เพราะผ่านมาแล้ว วันนี้ความเจ็บปวดหมดไปแล้ว ไม่มีความแค้นใดๆ เหลืออยู่แล้ว และวันนี้ แม้เราอยู่ท่ามกลางไฟ เราร้อน แต่เราจะไม่ถอย แต่จะสู้เพื่อสันติภาพ" มาริสาทิ้งท้าย

เชิดชู10สตรีใต้ ยืนหยัดสู้เพื่อสันติสุข


(จากซ้าย) อารีด้า สาเม๊าะ รับรางวัลจากนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี, มาริสา สมาแห, แยแน๊ สะแลแม และดวงสุดา สร้างอำไพ


เชิดชู10สตรีใต้ ยืนหยัดสู้เพื่อสันติสุข




ขณะที่ นางแยแน๊ะ สะแลแม หนึ่งในผู้ประสานงาน "คดีตากใบ" ลูกชายของเธอเคยเป็นหนึ่งในจำเลย 58 คน ในคดีดังกล่าว ซึ่งศาลได้ยกฟ้องในเวลาต่อมา และหลังจากสามีเธอถูกยิงเสียชีวิต เมื่อปี พ.ศ.2552 เธอจึงลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากผู้หญิงที่จบชั้น ป.4 วันนี้เธอรู้กฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญา กฎหมายความมั่นคง และเธอคือหนึ่งในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนจากหลากหลายสถาบัน รวม 5 รางวัล

"ดิฉันพยายามอย่างที่สุด เพื่อพี่น้องชาวใต้ การทำงานไม่เคยหวังรางวัล ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาภูมิใจที่ช่วยให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น" นางแยน๊ะกล่าว



อีกหนึ่งสตรีต้นแบบ นางสาวดวงสุดา สร้างอำไพ เธอผู้นี้ นอกจากสูญเสียคุณปู่และคุณพ่อไปแล้ว บ้านที่เธอและครอบครัวอยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคนยังถูกเผาจนราพณาสูรเพื่อกดดันให้ครอบครัวไทยพุทธเช่นเธอ ต้องอพยพออกจากชุมชนบ้านเฑียรยา ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

ในที่สุด เธอ คุณย่าและพี่น้องคนอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้หญิงก็ต้องอพยพเข้าไปอยู่ในตัวเมือง และทำงานสู้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด หลังจากได้รับการเยียวยา เธอสามารถสร้างทัศนคติใหม่จนได้กลายเป็นนักจัดรายการวิทยุ "กระบอกเสียงระหว่างคนไทยพุทธ-มุสลิม" ในฐานะแกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

"กำลังใจที่ทำให้ยืนอยู่ได้มาจากครอบครัว และจากการสูญเสียพ่อและปู่ ทำให้รู้ว่าจะเป็นเพียงผู้รับฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้จักให้ การเผชิญหน้ากับปัญหาแล้วแก้ไขมัน ดีกว่าการนิ่งเฉย แล้วเราคิดว่า เรามีสิทธิความเป็นมนุษย์ มีสิทธิบนแผ่นดินเกิด จะต่อสู้ให้ได้อยู่ในพื้นที่บ้านเกิด โดยที่ไม่ต้องถูกแบ่งแยกว่าเป็นพุทธหรือมุสลิม"

เนื้อหาการจัดรายการวิทยุของเธอจึงเน้นหนักไปในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธและมุสลิมเพื่อให้เกิดความสันติสุข

"เราทำงานให้ตั้งอยู่บนความเป็นกลางไม่หนักไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื้อหาเน้นไปทางเผยแพร่ให้ตระหนักถึงความคิดให้เกิดความสงบสุขและเกิดสันติภาพในการอยู่ร่วมกัน โดยเผยแพร่ความเป็นอยู่ของคนยุคก่อนจนถึงปัจจุบัน ขอฝากถึงผู้หญิงทุกคน แม้หลายคนจะคิดว่าเราเป็นเพศที่อ่อนแอ แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อดทนและแข็งแกร่งมากที่สุด ผู้หญิงมีพลังมากในการต่อสู้ชีวิต" ดวงสุดาทิ้งท้าย



ปิดท้ายอีกหนึ่งหญิงเก่ง นางสาวอารีด้า สาเม๊าะ สูญเสียบิดาขณะศึกษาอยู่ชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หลังจากร่วมกับองค์กรต่างๆ ขับเคลื่อนยุติความรุนแรงและได้มีโอกาสศึกษากระบวนการสร้างสันติภาพที่ประเทศฟิลิปปินส์ วันนี้ เธอเป็น "นักสื่อสารเพื่อสร้างบรรยากาศสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

จากการลงไปศึกษา เธอพบว่า "ทุกความขัดแย้งมีเบื้องหลัง"

"สิ่งที่สำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เราต้องหันกลับไปมองว่า รากฐานความขัดแย้งมันคืออะไร เราต้องให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับปัญหาโดยเข้าใจรากเหง้าของมันก่อน ซึ่งถ้าเราเข้าใจปัญหาหรือเข้าใจรากเหง้า ก็จะสามารถคุยหรือแก้ไขได้ เพราะถ้าเราไม่คุยกันที่ต้นตอของความขัดแย้ง ก็จะใช้ความรุนแรงต่อไปเรื่อยๆ และที่น่ากลัวก็คือ พอใช้ความรุนแรงจนชิน จนลืมไปว่า สรุปเราทะเลาะกันเพราะอะไร ก็จะทำให้หยุดปัญหาความรุนแรงไม่ได้"

สำหรับอารีด้า เธอมองว่า ผู้หญิงเป็นกำลังสำคัญในการเจรจาสันติภาพ

"ลักษณะมุมมองของผู้หญิงต่างจากผู้ชาย ผู้ชายมักมองศัตรูเป็นศัตรู แต่ผู้หญิงนั้นมักจะมองฝ่ายตรงข้ามด้วยความเข้าใจ และมองในแง่บวกเสียมากกว่า โดยเฉพาะการมองแบบเมตตา" อารีด้ากล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า

"ขอสันติสุขจงเกิดแก่ทุกท่าน"


ที่มา นสพ.มติชน




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์