เช็ก 9 สัญญาณอันตราย..ก่อนไข้เลือดออกระบาด


          ศาตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า “จากสถิติการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย พบว่าในปี 2556 คาดว่าจะมีอัตราการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกสูง และคาดจะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 5 ปี

โดยจากการนับอัตราการป่วยของประชาชนไทยระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน รวมระยะเวลา 4 เดือน พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 24,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 28 ราย เฉลี่ยผู้เสียชีวิตสูงสุดต่อปีประมาณ 70-100 ราย โดยมีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เท่า ๆ กัน และพบมากในช่วงอายุ 10-25 ปี โดยอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากโรคอื่น ๆ โดยเด็กที่ได้รับเชื้อโรคจะมีอาการไข้สูงลอย 2-7 วัน มักไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกไหล เด็กเล็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก ทำให้ต้องดูแลเป็นพิเศษและรักษาเป็นกรณีพิเศษ อาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นแดงตามร่างกาย มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟันผิดปกติ หรือเด็กบางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการช็อกซึ่งสังเกตได้ยาก เนื่องจากยังรู้สติดีอยู่ แต่จะดูอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ข้อสังเกตุคืออาการช็อกจะตรงกับวันที่ไข้ลง หรือไข้ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ถ้าเฝ้าสังเกตและพบเห็นอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นอาการนำของภาวะช็อกควรรีบนำตัวเด็กเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน”

9 อาการเร่งด่วน รีบเดินทางพบแพทย์


1.ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ อาทิ เบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย
2.คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา
3.ปวดท้องมาก
4.มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
5.พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ
6.กระหายน้ำตลอดเวลา
7.ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
8.ตัวเย็นชื้น สีผิวคล้ำลง หรือตัวเป็นลายๆ
9.ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4-5 ชั่วโมง


เตรียมความพร้อมก่อนไข้เลือดออกระบาดหนัก


ไข้เลือดออกเกิดจากการที่มียุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ยุงลายมักกัดเวลากลางวัน ต้องช่วยกันกำจัดยุงลาย โดยพ่นสารเคมี ซึ่งต้องให้ความระมัดระวัง การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจะง่ายกว่า แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย คือภาชนะที่มีน้ำขังที่อยู่ในบ้านหรือรอบ ๆ บ้าน

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและดูแลเด็กให้ห่างไกลโรคไข้เลือดออก สามารถป้องกันแบบบูรณาการโดยดำเนินการควบคู่กันตั้งแต่ระดับตัวเอง อาทิ ใส่เสื้อผ้าแขนยาวและกางเกงขายาว หรือนอนหลับในห้องที่ติดมุ้งลวดมิดชิด ทาสารกันยุงที่ปลอดภัยเช่นตะไคร้หอม ระดับครัวเรือนควรกำจัดแหล่งน้ำขังตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ อุปกรณ์ในครัวเรือนและอุปกรณ์ซักล้างควรคว่ำหรือปิดฝาให้เรียบร้อย เปลี่ยนน้ำรองขาโต๊ะหรือในแจกันทุกสัปดาห์ หรือผสมเกลือ หรือตรวจสอบรอบบริเวณบ้าน รางระบายน้ำบนหลังคาว่ามีแอ่งขังน้ำหรือไม่ และการป้องกันในระดับชุมชน ต้องร่วมมือกันในการรณรงค์กำจัดแหล่งน้ำขังภายในชุมชนปีละ 2-3 ครั้ง หรือพ่นยาฆ่าแมลงในเขตชุมชนปีละ 2-4 ครั้ง เป็นต้น เพียงเท่านี้ เด็กน้อยและตัวคุณเองก็ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกอย่างแน่นอน

สำหรับผู้ใหญ่ใจดีที่สนใจร่วมบริจาคสมทบทุนสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 มหาราชินี (ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคเด็ก) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร/แฟกซ์ 0-2640-9363 (เวลาราชการ) มือถือ 08-8874-4671 หรือ 08-8874-4673


เช็ก 9 สัญญาณอันตราย..ก่อนไข้เลือดออกระบาด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์