เด็กไทย11ขวบสร้างชื่อ-อัจฉริยะโลก เว็บสหรัฐ ชูน้องธนัช เผยทำวิจัย กับจุฬาฯ

เด็กไทยทำชื่อเสียงระดับอินเตอร์ ′โมสาร์ทน้อย′ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี อายุ 11 ขวบ มีชื่อติดโผ 15 สุดยอดเด็กอัจฉริยะของโลก
 
จากการจัดอันดับโดยเว็บการศึกษาชื่อดังของสหรัฐ คุณพ่อคุณแม่เผยปัจจุบันทักษะของลูกก้าวไกลมาก โดยเฉพาะสายวิทย์และคอมพิวเตอร์ ทั้งยังไปร่วมทำงานวิจัยกับนักวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ คณบดีวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ในอนาคตอาจเป็นคนไทยคนแรกที่พิชิตรางวัลโนเบล ด้าน ′ธนัช′ หนูน้อยจีเนียสเปิดใจตั้งความหวังว่าสักวันจะคิดค้นบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติสำเร็จ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า เว็บไซต์จัดอันดับการศึกษาชื่อดังของสหรัฐอเมริกา thebestschools.org (เดอะเบสต์สคูลส์)
 
ประกาศผลจัดอันดับเด็กก่อนวัยรุ่นที่มีความสามารถพิเศษระดับอัจฉริยะทั่วโลก 15 คน มีชื่อ "โมสาร์ทน้อย" ด.ช.ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี เด็กอัจฉริยะชาวไทยติดโผอยู่ด้วย

สำหรับเด็กที่ได้รับการจัดอันดับ 15 คนในปี 2556 นี้เป็นเด็กอเมริกัน 6 คน อังกฤษ 4 คน และไทย ออสเตรเลีย ฮ่องกง เคนยา มอลโดวา ประเทศละ 1 คน แต่ละคนมีความสามารถพิเศษระดับสูงในสาขาแตกต่างกัน เช่น ศิลปะ ดนตรี วิชาการ ฯลฯ

เว็บเดอะเบสต์สคูลส์ บรรยายเรื่องราวความพิเศษโดยสรุปของเด็กอัจฉริยะทั้ง 15 คน

พร้อมคำพูดประกอบของเด็กๆ และในส่วนของด.ช.ธนัช เว็บไซต์ระบุไว้ว่ามีผลงานภาพเขียนแนวแอ๊บสแตร็กขายไปทั่วโลก แสดงเดี่ยวไวโอลินตั้งแต่อายุแค่ 4 ขวบ นอกจากนี้ ยังมีทักษะด้านกีฬากอล์ฟและศิลปะการต่อสู้ ขณะนี้พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนเองที่บ้าน ส่วนคำพูดของด.ช.ธนัชที่ทางเว็บระบุไว้ใต้รูปภาพ คือ "คำถามที่ผมถูกถามบ่อยๆ คือโตขึ้นจะเป็นอะไร เป็นคำถามยิ่งใหญ่มาก เพราะไม่ว่าเราจะเลือกอะไร เราก็จะต้องผูกมัดกับสิ่งนั้นไปทั้งชีวิต ผมจึงระมัดระวังก่อนจะตอบออกไป"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า "น้องธนัช" ด.ช.ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี อัจฉริยะเด็กไทย

มีความสามารถพิเศษหลากหลายทั้งศิลปะ ดนตรี และวิชาการ ปัจจุบันอายุ 11 ขวบ มีชื่อเสียงตั้งแต่วัย 3 ขวบ สามารถจัดนิทรรศการเดี่ยววาดภาพสีน้ำในแนวนามธรรม หรือ แอ๊บสแตร็ก ประกาศขายไปทั่วโลกหลายพันชิ้นจนได้รับฉายา "ปิกัสโซ่น้อย" และเคยเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกจากคลิปในเว็บยูทูบโชว์ฝีมือสีไวโอลิน ขณะอายุ 4 ขวบ จนมีผู้คลิกเข้าไปชมกว่า 7 ล้านครั้งภายในเวลาไม่กี่วัน กระทั่งได้รับฉายา "โมสาร์ทน้อย" ล่าสุดยอดวิวคลิปดังกล่าวพุ่งขึ้นไปเกือบ 23 ล้านครั้ง

นอกจากนั้น ด.ช.ธนัชยังมีความโดดเด่นด้านวิชาการ ทำให้ผู้ปกครองตัดสินใจนำออกจากระบบโรงเรียน เพื่อจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองในรูปแบบของแฟมิลี่ อคาเดมี ซึ่งจัดการเรียนรู้ได้เฉพาะเจาะจงตรงตามศักยภาพผู้เรียน เปิดกว้างให้เรียนรู้ได้ทั้งในแนวกว้างและลึกไร้ขีดจำกัด

นายธนู เปลวเทียนยิ่งทวี บิดาของด.ช.ธนัช เปิดเผยว่า

เว็บเดอะเบสต์สคูลส์แจ้งเข้ามาให้ทราบถึงการจัดอันดับดังกล่าว เมื่อราวกลางเดือนก.ย. 2556 ว่าน้องธนัชติด 1 ใน 15 เด็กเก่งของโลก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่แสดงในเว็บเป็นข้อมูลเมื่อ 2-3 ปีก่อน ปัจจุบันน้องธนัชก้าวล้ำไปมาก โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ตนเห็นแววทางวิชาการของลูกตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือได้คล่องด้วย ตัวเอง ธนัชเป็นนักอ่าน อ่านเยอะ เร็ว จับใจความและจดจำได้ดี ชอบอ่านหนังสือที่มีสาระความรู้ ทั้งวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี อ่านหนังสือทุกแนวอย่างมีความสุข แม้แต่ตำราทางวิชาการจากต่างประเทศที่หนามากๆ และหนักหลายกิโลกรัมก็อ่านได้สนุก

"ลูกชายเข้าโรงเรียนแบบเด็กทั่วไปตั้งแต่เตรียมอนุบาล พอถึงประถม แววทางวิชาการชัดเจนขึ้นเมื่อไปสอบแข่งขันทางวิชาการวิชาวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ตอนอยู่ ป.2 สอบแข่งกับเด็กประถมต้นก็บอกให้แม่ช่วยซื้อหนังสือให้ เป็นหนังสือระดับป.3 ถึง ป.6 แล้วมานั่งอ่านเอง ทำแบบฝึกหัดเอง ปรากฏว่าสอบติดระดับเหรียญทองแดง หลังจากนั้นครอบครัวจึงส่งเสริมอย่างจริงจัง ให้โอกาสได้อ่านและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้น พอป.3 ได้เหรียญทอง" นายธนู กล่าว


ยอดคุณพ่อผู้เลี้ยงดูเด็กอัจฉริยะวัย 11 ขวบ ระบุว่า การที่ลูกชายไม่ต้องไปโรงเรียนทำให้มีเวลาเรียนรู้ในแต่ละวิชาอย่างเจาะลึก

และมีโอกาสไปทำงานวิจัยกับ 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย คือ 1. ร่วมงานวิจัย Riboflavin Binding Protein X-ray Crystallography ที่ภาคชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างต่อเนื่องอยู่เกือบ 5 เดือน กับรศ.ดร.จิรันดร ยูวะนิยม และ ดร.วรพจน์ อุณอนันต์ ภายใต้การสนับสนุน ส่งเสริมจากศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล 2. งานวิจัยวิทยาการคอมพิวเตอร์ Computer Science ในการพัฒนาแปลภาษามนุษย์ให้เป็นภาษาคอมพิวเตอร์จากหลายขั้นตอนให้เหลือเพียงขั้นตอนเดียว กับศ.ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมจาก ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"การทำงานวิจัยกับ 2 สถาบัน ทำให้น้องธนัชได้รับประสบการณ์ตรง ได้เห็นชีวิตการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ไทยว่าต้องทำงานทุ่มเทเพียงใดภายใต้งบประมาณและข้อจำกัดมากมายกว่าจะประสบความสำเร็จกับงานวิจัยแต่ละเรื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมธนัชได้รับเชิญจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อนวัตกรรมใหม่แห่งการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 ด้วย" นายธนู กล่าว

พ่อน้องธนัช ระบุด้วยว่า ลูกยังมีความเป็นเด็กเช่นเดียวกับเด็กๆ ทั่วไปเป็นเด็กที่เข้าสังคมได้ดี เราพยายามรักษาตรงนี้ไว้

แต่จะคุยกับเด็กรุ่นเดียวกันไม่ค่อยสนุก เนื่องจากความสนใจของธนัชก้าวไปไกลกว่าเด็กทั่วไป แต่ถ้าได้คุยกับนักวิชาการ
ด๊อกเตอร์ หรือศาสตราจารย์ดูจะสนุกและมีความสุขมาก เหมือนต่อยอดความรู้

"ธนัชยังสนใจด้านกีฬา รักการออกกำลังกายโดยเล่นกอล์ฟจึงไม่ค่อยป่วย และชอบเชียร์นักกีฬาไทย ทั้งน้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ รวมถึงล่าสุดทีมวอลเลย์บอลสาวไทย นัดชิงชนะเลิศ น้องธนัชเชียร์แบบกระโดดตัวลอยโดยลืมว่ากำลังเจ็บเท้าอยู่ อาหารการกินจะกินตามปกติ แต่ไม่กินอาหารเผ็ด เราไม่ได้ให้กินอาหารเสริมหรือวิตามินใดๆ เลย แต่ตอนนี้ห่วงเรื่องการนอนดึก เพราะเขาสนใจเรียนออนไลน์ซึ่งปัจจุบันเรียนสดแบบเรียลไทม์กับอาจารย์ใน 4 มหาวิทยาลัยดังของสหรัฐ คือ มหาวิทยาลัยเอ็มไอที ฮาร์วาร์ดสแตนฟอร์ด และเบิร์กลีย์"

นางวัชราภรณ์ เปลวเทียนยิ่งทวี คุณแม่ เผยสาเหตุที่ตัดสินใจนำด.ช.ธนัชออกจากระบบโรงเรียนว่า

ตอนแรกคิดว่าโรงเรียนที่มีโครงการพัฒนาเด็กผู้มีความสามารถพิเศษจะเหมาะกับลูก แต่ค้นพบว่าพัฒนาการที่ก้าวหน้าของลูกล้วนมาจากศักยภาพของลูกผนวกกับการส่งเสริม ความทุ่มเทและใส่ใจจากที่บ้านทั้งสิ้น จึงตัดสินใจออกจากระบบโรงเรียนเมื่อจบ ป.3 เทอมต้นมาจดทะเบียนขอจัดการศึกษาโดยครอบครัวกับเขตการศึกษาพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ประเมินและรับรองผลการศึกษาของธนัช

"การเรียนของน้องธนัชใช้หลักสูตรกำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นแนวทาง โดยผู้ปกครองออกแบบบูรณาการให้เหมาะสมเป็นการเฉพาะเจาะจงตามความชอบ ความสนใจ ความถนัด และพัฒนาก้าวหน้าไปตามศักยภาพ หลังออกจากระบบโรงเรียนมาถึงขณะนี้ 3 ปีเต็ม วิชาการทั่วไปตอนนี้ศึกษาในระดับมัธยมต้นแต่หลายวิชาเรียนก้าวหน้าไปถึงระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย" นางวัชราภรณ์ กล่าว

ด้านด.ช.ธนัช ให้สัมภาษณ์ว่า ชอบระบบจัดการศึกษาแบบแฟมิลี่ อคาเดมี ที่คุณพ่อคุณแม่จัดให้มาก เพราะวันหนึ่งๆ สามารถเรียนรู้ แสวงหา และทำอะไรที่อยากทำได้มากมาย คุณแม่จะเป็นคนวางแผนในแต่ละวันว่าต้องเรียนอะไรบ้าง สลับกับการออกกำลังกาย ซ้อมไวโอลิน เล่น หรือทำอย่างอื่นที่กำลังสนใจอยากเรียนรู้

ผู้สื่อข่าวถามถึงเพื่อนๆ และการใช้ชีวิตในสังคม เจ้าของฉายาโมสาร์ทน้อย กล่าวว่า
 
"ผมมีโอกาสดีมากที่ได้พบเพื่อนๆ มาจากที่ต่างๆ ด้วยวัย ประสบการณ์ และความสนใจหลากหลาย มีโอกาสเรียนรู้สังคมรอบตัว ทำให้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้มากกว่า ผมจึงมีสังคมที่เปิดกว้างกว่าแค่เพื่อนในวัยเดียวกันที่จะพบตอนไปโรงเรียน ผมมีเพื่อนเล่นตั้งแต่วัยเด็กกว่าไปจนถึงอายุมากกว่า แต่คนที่ผมชอบคุยด้วยส่วนใหญ่จะอายุมากกว่า หลายท่านเป็นระดับศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ที่เอ็นดูและกรุณาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์หลายๆ เรื่อง ช่วยย่นระยะเวลาการเรียนรู้ ผมนำสิ่งที่ได้จากท่านเหล่านั้นไปต่อยอดค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้อื่นๆ เช่น ตำราหรืออินเตอร์เน็ต เมื่อผมเรียนรู้และฝึกฝนแล้วเจออุปสรรคปัญหาก็กลับไปหาท่านใหม่ ท่านจะชี้จุดให้ ผมก็เดินต่อได้"

เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่มีรายชื่อเป็น 1 ใน 15 เด็กอัจฉริยะของโลกประจำปีนี้ ด.ช.ธนัชกล่าวว่า

รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติ แต่เส้นทางสู่ความสำเร็จยังอีกยาวไกล ยังต้องใช้เวลาเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอีกมาก ทั้งลองผิดลองถูก สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้างแบบคนธรรมดาทั่วไป เมื่อผิดหวังจะบอกตัวเองว่าไม่ใช่ความล้มเหลว เพียงแต่ยังเดินไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะฉะนั้นต้องก้าวเดินต่อไป และหวังอย่างยิ่งว่าสักวันหนึ่งจะสามารถคิดบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับมนุษยชาติได้

วันเดียวกัน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ย้อนเบื้องหลังการเปิดโอกาสให้ธนัชมาร่วมทำงานวิจัย ว่า
 
รู้จักกับน้องธนัชเมื่อ 2 ปีก่อนในงานนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ขณะนั้นธนัชมาเล่นดนตรีและเข้าไปรับฟังบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น เห็นว่ารับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ แปลกใจว่าทำไมถึงมาฟังและดูแล้วฟังอย่างรู้เรื่อง เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อน้องธนัช ถึงความสนใจของเด็ก ประกอบกับศ.ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ พบว่าธนัชสนใจและฟังเข้าใจจึงหาโครงการให้ลองทำเพื่อหยั่งเชิงว่าสามารถรับได้แค่ไหน สิ่งน่าสนใจคือเมื่ออ.ชิดชนก อธิบายด้วยภาษานักวิชาการ น้องธนัชจดจำและสรุปประเด็นสิ่งต่างๆ ได้ดี เมื่อเจอกับผู้อื่นสามารถอธิบายเรื่องวิชาการในภาษาพูดธรรมดาที่คนฟังเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย

"ปัจจุบัน ธนัชทำโครงการวิจัยวิทยา ศาสตร์คอมพิวเตอร์กับศ.ดร.ชิดชนก ตอนนี้เราคุยไปถึงขั้นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลของไทย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี น้องธนัชอาจเป็นความหวังเพราะมีทักษะหลายด้าน ด้านวิทยาศาสตร์ก็ทำได้ดี โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ถ้ามีเวลาอยากให้ทำต่อเนื่อง สิ่งที่ต้องคอยระวังคือความรู้พื้นฐานในระดับมัธยศึกษาที่แน่นจริงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะแล้วไม่ต้องเรียน ความรู้พื้นฐานยังเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตามเด็กที่เรียนขนาดนี้และไม่ค่อยมีเพื่อน แต่กลับกลายเป็นเด็กที่ร่าเริงมาก อัธยาศัยดี มีความสุภาพมาก นับว่าเป็นคุณลักษณะที่ดี" ศ.ดร.สุพจน์กล่าว



เด็กไทย11ขวบสร้างชื่อ-อัจฉริยะโลก เว็บสหรัฐ ชูน้องธนัช เผยทำวิจัย กับจุฬาฯ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์