เตรียมน้ำดื่ม “ปลอดภัย” ในภาวะน้ำท่วม

เตรียมน้ำดื่ม “ปลอดภัย” ในภาวะน้ำท่วม



น้ำดื่ม "ปลอดภัย" สามารถนำไปดื่มได้เลย หรือจะเก็บไว้ในภายหลังก็ได้ แสงแดด ความร้อน และออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากันฆ่าเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ 99.9% แต่อาจจะมีสาหร่ายเซลล์เดียว ซึ่งทนรังสียูวีและความร้อนซึ่งอาจจะจับตัวเป็นตะไคร่น้ำในขวดได้ถ้าเก็บขวดไว้นาน แต่น้ำที่มีสาหร่ายเหล่านี้ไม่มีอันตรายต่อผู้ดื่มทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกัน ปกติ

สิ่งที่ต้องเตรียม
           1. ขวดน้ำพลาสติกใสที่ดื่มน้ำหมดแล้วพร้อมฝาที่ปิดได้แน่นสนิท ขนาดไม่เกินสองลิตร เมื่อวางนอนแล้วความหนาที่แสงอาทิตย์ที่ผ่านไม่เกิน 10 ซม. ขวดยิ่งชะลูดยิ่งดี รังสีดวงอาทิตย์จะได้ทะลุทะลวงได้มาก พลาสติกไม่เก่าหรือมีรอยขีดข่วนมากเกินไปเพราะรังสีจะผ่านได้ไม่ดี ภายในขวดสะอาด แกะพลาสติกภายนอกออกหมด

           2. แหล่งน้ำสะอาดที่สุดเท่าที่จะหาได้ วิธีนี้ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ดี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในภาวะปกติ ครัวเรือนที่ดื่มน้ำฝน ถ้าต้องการประหยัดพลังงานและทุกคนในบ้านแข็งแรงดี อาจจะใช้วีนี้แทนการต้มก็ได้

           3. ถ้าน้ำขุ่นควรมีผ้ากรองตะกอนดิน เช่น ผ้าขาวบาง หรือผ้าขาวม้าสะอาดหลายๆ ชั้น เมื่อกรองได้ที่บรรจุน้ำเต็มขวด เปิดฝาวางทับหนังสือพิมพ์รายวันหน้าแรก ควรจะสามารถมองลงไปก้นขวด อ่านพาดหัวข้อข่าวรองได้ (ตัวอักษรในแนวหลักขนาด 3.5 ซม.)

           4. บริเวณที่
จะวางขวดตากแดดที่ร้อน โดยเฉพาะถ้ามีโลหะ เช่น แผ่นสังกะสีลูกฟูก หรืออะลูมิเนียมจะดีมาก

วิธีการเตรียม
           1. กรองน้ำที่หาได้ กรอกลงขวดให้ได้ประมาณ 3 ใน 4 ขวด
           2. เขย่าแรงๆ อย่างน้อย 20 ครั้งในอากาศ (ออกซิเจน) ผสมกับน้ำให้ทั่ว
           3. เติมน้ำให้เต็มขวดปิดฝาแน่นสนิท
           4. วางขวดในแนวนอน ตากแดดตามข้อ 4 ข้างบนทิ้งไว้ อย่าพยายามขยับขวดโดยไม่จำเป็น เพื่อให้ออกซิเจนไม่แยกตัวออกจากน้ำ

ตากแดดโดยใช้เวลา
           - 2 ชั่วโมงถ้าแดดจัด พื้นที่วางเป็นโลหะและน้ำค่อนข้างใส
           - 6 ชั่วโมงบนพื้นกระเบื้องหรือซีเมนต์
           - 2 วันถ้ามีเมฆมาก

           ถ้าฝนตกตลอดแดดไม่ออกเลยให้กรองน้ำฝนดื่มแทน

หมายเหตุ
           1. เทคโนโลยีง่ายๆ ที่วิจัยและพัฒนาโดยองค์การนานาชาติ  ฆ่าเชื้อโรคโดยพลังแสงแดด ซึ่งมีรังสียูวี + รังสีความร้อน + อนุมูลออกซิเจนและโอโซน ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างออกซิเจนที่เราผสมน้ำระหว่างเขย่าขวด เหมือนน้ำบรรจุขวดขายซึ่งผ่านรังสียูวีหรือโอโซนในระดับที่เข้มข้น
           2. ขวดน้ำใส PET หรือ Poly Ethylene TErephthalate (โพลีเอทธิลีนเทเรฟทาเลต) ที่ตากแดดในระดับนี้ ปลดปล่อยสารเคมีน้อยมาก ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่เหมือนวัสดุประเภท PVC ทุกวันนี้เราก็ดื่มน้ำบรรจุขวด PET กันอยู่แล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส. และวิชาการดอทคอม
thaihealth.or.th




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์