เตือน! ร้อยละ 95 ของคนไทย เสี่ยงเป็นโรคงูสวัด

"แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ คนไทยวัยสูงอายุร้อยละ 95 เสี่ยงเป็นโรคงูสวัด เตือนป้องกันก่อนที่จะสาย"

 หลายๆ คนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคงูสวัดมาบ้าง แต่ข้อมูลที่ได้มานั้นจริงเท็จแค่ไหนน้อยคนนักที่จะรู้ แต่ที่แน่ๆ รู้หรือไม่ว่าเราทุกคนเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่ต้องเจ็บปวดและทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดของโรคงูสวัด และในบางรายอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อันตราย 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้มาร่วมให้ความรู้ในหัวข้อ "ความจริงที่ควรรู้....งูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ" เพื่อเผยแพร่ความรู้และไขข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคงูสวัด พร้อมผลกระทบของโรคงูสวัดต่อผู้สูงอายุ และแนวทางป้องกันโรคงูสวัดอย่างถูกต้อง

"โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ (varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส ดังนั้น ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสจึงเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ทุกคน โดยเชื้อไวรัสซอสเตอร์สามารถติดต่อผ่านทางการหายใจ และสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง ซึ่งเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสซอสเตอร์จะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายนานหลายปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จนเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เชื้อที่แฝงอยู่จะเพิ่มจำนวนและกระจายตามแนวเส้นประสาททำให้เกิดเป็นผื่นคัน แล้วกลายเป็นตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาทกลายเป็นโรคงูสวัดนั่นเอง ดังนั้น ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใส พออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันต่ำลง จึงเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ง่าย

 ซึ่งจากสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยโรคงูสวัดกว่า 1 ล้านรายต่อปี และร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคงูสวัดมีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป เพราะประชาชนเกือบทุกคนมักเคยเป็นโรคอีสุกอีใส ดังนั้น คนไทยวัยสูงอายุร้อยละ 95 จึงเสี่ยงเป็นโรคงูสวัด"

อาการของโรคงูสวัดจะเริ่มจากอาการปวดแสบร้อนบริเวณชายโครง แขน อาการปวดอาจทำให้คิดว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรนหรือโรคทางสมองได้ หลังจากนั้น 2-3 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแสบแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท มักเกิดบริเวณชายโครง ใบหน้า แขน ตามปกติผื่นอาจจะหายเองได้ภายในสองสัปดาห์ 

แต่เมื่อผื่นหายแล้วอาจจะยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง หรือ Post Herpetic Neuralgia (PHN) ซึ่งอาจจะปวดได้อีก 3-12 เดือน ในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

"จริงๆ ผื่นที่เกิดจากโรคงูสวัดสามารถหายเองได้และไม่ได้น่ากลัวมากนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลของโรคงูสวัด คือภาวะแทรกซ้อน โดยพบภาวะแทรกซ้อนและอาการปวดเรื้อรังในร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป จะเห็นได้ว่ายิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนาน[iii] อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยก็คืออาการปวดเรื้อรัง ทำให้มีอาการปวดลึกๆ ปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา อาจจะปวดแม้ถูกสัมผัสเพียงเบาๆ หรืออาจจะปวดมากเวลากลางคืนหรืออากาศเปลี่ยนแปลง และหากขึ้นที่ใบหน้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา ทำให้ตาอักเสบ หรือเป็นแผลที่กระจกตา และอาจส่งผลให้ตาบอดได้[iv],[v] หรือภาวะแทรกซ้อนทางหู หรือบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่พบได้น้อย เช่น ปอดอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้1,[vi]" ศ.นพ. สัมศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติม

"อาการปวดแทรกซ้อนและปวดเรื้อรังจากโรคงูสวัดสร้างผลกระทบแก่ผู้ป่วยมาก เพราะบางคนเจ็บปวดมากจนอาจเกิดอาการเหน็บชา ไม่สามารถขยับร่างกายได้ เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถไปทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปรกติ โดยยิ่งอายุมากอาการเหล่านี้ก็อาจรุนแรงมากตามไปด้วย และอาจเรื้อรังเป็นเวลาร่วมปี จึงส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน สูญเสียความมั่นใจ ไม่อยากเข้าสังคม ปลีกตัวจากสังคม เป็นต้น ซึ่งมีงานวิจัยเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับโรคเรื้อรังอื่นๆ พบว่า ผู้ป่วยโรคงูสวัดมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงกว่าผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง แต่กลับมีภาวะการควบคุมการทำงานของร่างกาย และสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บปวดมาก จนส่งผลต่อด้านอื่นๆ ด้วย

ดังนั้น แนวทางการป้องกันโรคงูสวัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่โรคจะแพร่กระจายและรุนแรงมากกว่า เริ่มจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ และหากเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ประวัติเคยเป็นโรคอีสุกอีใส ซึ่งวัคซีนดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันและลดภาวะการเกิดโรคงูสวัด ป้องกันภาวะปวดเรื้อรังหรือลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัดเมื่อผื่นงูสวัดหายไปแล้ว (ในกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังเกิดงูสวัด) แต่วัคซีนดังกล่าวไม่สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคงูสวัดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะไปฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับวัคซีน เพราะอาจมีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ในผู้ป่วยบางรายได้"

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ไม่ใช่วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส และวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้ ในขณะที่วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดมีความเข้มข้นสูงกว่าถึง 14 เท่า เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถึงระดับ T-Cell โดยฉีดเพียง 1 เข็ม สามารถป้องกันเป็นระยะเวลา 10 ปี วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเริ่มใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ในขณะที่ในต่างประเทศมีการใช้วัคซีนชนิดนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยจากการศึกษาพบว่า วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถลดอุบัติการณ์เกิดโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 51.3 และป้องกันการเกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาทในผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 66.5

"นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคอายุรกรรมเรื้อรังบางชนิด อาทิ โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง2 เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเป็นโรคงูสวัดได้ง่าย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงจากผู้ป่วยโรคงูสวัด แยกสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม และที่นอนจากผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วย ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจาย สามารถแพร่เชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้น ควรแยกผู้ป่วยไม่ให้ใกล้ชิดกับผู้ไม่เคยเป็นโรค" ศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวสรุป

 


เตือน! ร้อยละ 95 ของคนไทย เสี่ยงเป็นโรคงูสวัด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์