เตือน สารพิษที่มากับพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหาร

ภาพประกอบอินเตอร์เน็ตภาพประกอบอินเตอร์เน็ต


สารพิษที่มากับพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหาร
ผศ. ดร. นันทพร ภัทรพุทร

ผู้คนในยุคไอทีคงคุ้นเคยกับอาหารถุงหรือกล่องโฟม เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่พลาสติกและกล่องโฟมถูกใช้แทนใบตอง หรือกระดาษ ในการบรรจุอาหาร อาจเป็นเพราะสะดวก และราคาไม่แพง แต่จะมีผู้บริโภคสักกี่คนที่ตระหนักถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในภาชนะบรรจุที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกล่องโฟมมักถูกนำไปใช้ในการบรรจุอาหารที่ร้อนและมีน้ำมัน อาจทำให้เกิดอันตรายจากสารปนเปื้อนที่แยกตัวออกมาจากภาชนะบรรจุได้

ชนิดของสารที่ใช้ในการทำภาชนะบรรจุมีหลายประเภท ได้แก่ โพลีเอทิลีน (ใช้เป็นถุงเย็นหรือถุงร้อนสีขาวขุ่น) โพลีโพรพิลีน (ใช้เป็นถุงร้อนใส) โพลีไวนิลคลอไรด์ (พบในพลาสติกพีวีซี) โพลีสไตรีน (ใช้ทำถ้วย ถาด กล่อง แก้ว ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง)

สารพิษที่พร้อมจะปนเปื้อนกับอาหารจากการใช้ถุงพลาสติกหรือกล่องโฟมเหล่านี้มีมากมายหลายชนิด เช่น ในกล่องโฟม / ถาดโฟมที่ใช้บรรจุอาหาร เมื่อได้รับความร้อนสูงจะให้สาร 2 ชนิด คือ เบนซีน (benzene) และสไตรีน (styrene) ซึ่งสารดังกล่าวจะละลายได้ดีในอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน สำหรับเบนซีน หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานอาจทำให้เป็นโรคโลหิตจาง (anemia) หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) ได้ ส่วนสไตรีน ผลต่อร่างกายเมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง หากสูดดมเข้าไปจะมีอาการไอ  และหายใจลำบาก  เพราะไปทำให้เยื่อเมือกเกิด
ความระคายเคือง ปวดศีรษะ ง่วงซึม อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลระบุความเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง นอกจากเบนซีนและสไตรีนแล้ว ยังมีสารไวนิวคลอไรด์ (vinylchloride) ที่ปนเปื้อนในพลาสติกพีวีซี ซึ่งสารตกค้างของไวนิลคลอไรด์ อาจทำให้เกิดมะเร็งตับได้ และสารไดออกซิน (dioxin) ซึ่งพบในพลาสติกบางประเภท ไดออกซินเป็นสารก่อมะเร็งในปอด กระเพาะอาหาร ตับ ต่อมน้ำเหลือง และผิวหนัง มีผลต่อระบบการสืบพันธุ์ ในเพศชายทำให้มีตัวอสุจิน้อยลง ส่วนเพศหญิงรังไข่และมดลูกจะผิดปกติ ซึ่งทารกที่เกิดจากหญิงที่ได้รับสารชนิดนี้ในปริมาณมาก มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติในวัยแรกเกิดด้วย

สารพิษเหล่านี้กว่าจะย่อยสลายได้ต้องใช้เวลานานหลายร้อยปีเลยทีเดียว และที่สำคัญ คือ อันตรายที่จะเกิดกับร่างกายของคนที่รับสัมผัส โดยปริมาณที่ปนเปื้อนจะขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร ระยะเวลาสัมผัสกับอาหาร และอุณหภูมิของอาหาร ดังนั้นการเลือกใช้พลาสติก หรือโฟมต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร และเหมาะสมกับการใช้งาน

โฟมชานอ้อย หรือภาชนะบรรจุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากมันสัมปะหลัง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถใช้บรรจุอาหารร้อน เย็นได้ และปลอดภัยจากสารปนเปื้อนดังกล่าว อีกทั้งไม่มีสารคลอรีนตกค้าง และใช้กับเตาอบและไมโครเวฟได้ด้วยหรือถ้าจะหันกลับไปใช้ปิ่นโตเหมือนยุคโบราณได้ก็จะดีไม่น้อย เพราะนอกจากจะลดต้นทุนค่ารักษาโรคที่เกี่ยวกับสารพิษ ลดต้นทุนค่าเก็บและกำจัดขยะ แล้วยังช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย


เอกสารอ้างอิง
1. วิถีมีเดีย. โฟม.
2. ชิตพงษ์ กิตตินราดร. ความมหัศจรรย์ของการใช้ปิ่นโต.
3. จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี และ สุชัญญา พลเพชร. พลาสติกบรรจุอาหารและกล่องโฟม ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย.
4. อย่าละเลยกับถุงพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหาร.

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักวิชาการ ม.บูรพา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์