เตือนกรดไหลย้อน โรคทรมานชีวิตประจำวัน

เตือนกรดไหลย้อน โรคทรมานชีวิตประจำวัน


    หากท่านมีอาการเหล่านี้ บ่อยๆ อย่านิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของ “โรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร” หรือ โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD) เป็น ภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยสิ่งที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างหรือน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีภาวะหลอดอาหารอักเสบก็ได้

    ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการแสบยอดอก หรือมีภาวะเรอเปรี้ยวร่วมด้วย (มีความรู้สึกเหมือนมีกรด หรือน้ำย่อยรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือที่ปาก) ภาวะนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบได้ ถ้าเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรงอาจทำให้หลอดอาหารส่วนปลายตีบ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร ในบางรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ นอกจากนี้ ในบางรายอาจมาด้วยอาการของโรคทางระบบหู คอ จมูก เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรืออาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ หรือมีกลิ่นปาก เป็นต้น

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. หลอดอาหารส่วนปลายมีการคลายตัวที่เกิดขึ้นเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับการกลืน ทำให้กรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารสามารถไหลย้อนกลับขึ้นไปสู่บริเวณหลอด อาหารได้ ซึ่งสาเหตุนี้จัดเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรค
2. ความดันของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าคนปกติ หรือเกิดมีการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น
3.เกิดจากความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารเอง
4.ปัจจัยทางพันธุกรรม


จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน
    อาการสำคัญคือ แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แล้วลามมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ อาการนี้จะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือเมื่อโน้มตัวไปข้างหน้า ยกของหนัก หรือนอนหงาย อาการสำคัญอีกประการก็คือ อาการเรอเปรี้ยว คือมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก โดยผู้ป่วยอาจมีทั้ง 2 อาการหรืออาการใดอาการหนึ่งก็ได้ ในคนไทยที่เป็นโรคนี้บางครั้งอาจพบอาการนี้ไม่ชัดเจนอย่างคนในแถบตะวันตก หรืออเมริกา อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือกลืนลำบากในบางรายที่เป็นมาก บางรายอาจมาด้วยอาการที่ไม่ใช่อาการของหลอดอาหาร เช่น เจ็บหน้าอก จุกที่คอ มีอาการคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณลำคอ เสียงแหบ หรือเจ็บคอเรื้อรัง หอบหืด หรือปากมีกลิ่นโดยหาสาเหตุไม่ได้

เตือนกรดไหลย้อน โรคทรมานชีวิตประจำวัน


จะวินิจฉัยอย่างไร
    โดยปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการดังที่กล่าวมา โดยผู้ป่วยที่มีอาการทั้งแสบยอดอก และ/หรือ เรอเปรี้ยว (ทั้งนี้ไม่ควรมีอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคอื่น อาทิ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้) แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อน และให้การรักษาเบื้องต้นได้ โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ส่องกล้องทางเดินอาหาร ตรวจทางรังสีวิทยา การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำและดีที่สุดในปัจจุบัน

ควรปฏิบัติอย่างไรถ้าเป็นโรคนี้
    โดยทั่วไปเป้าหมายของการรักษา แพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น โดยรักษาอาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันภาวะแทรกซ้อน การรักษาประกอบไปด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้องรักษาและการผ่าตัด ในเบื้องต้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

1.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
2.หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อคโกแลต
3.ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป
4.ระวังอาหารมื้อเย็น ไม่กินปริมาณมากและไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
5.ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
6.ไม่ใส่เสื้อรัดรูปเกินไป
7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
8.นอนตะแคงซ้ายและนอนหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว


เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรทำอย่างไร
    ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย โดยยาที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันคือยาลดกรดในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPI) โดยที่แพทย์จะให้รับประทานยาในกลุ่มนี้เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ ในบางรายที่เป็นมากอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือ เป็นปี ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาแบบช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่กี่วันตามอาการที่มี หรือกินติดต่อกันตลอดเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดีการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ในรายที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาการรักษาด้วยการส่องกล้อง หรือการผ่าตัด

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์