เตือนภัย ของเล่น ปนเปื้อนตะกั่ว

เตือนภัย ของเล่น ปนเปื้อนตะกั่ว


เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่แพทยสภา ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวเรื่อง "อันตรายจากของเล่นเด็กและอุบัติเหตุใน กทม."

โดย นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ปี 2551 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯร่วมกับภาคี ดำเนินการเก็บตัวอย่างของเล่นที่เล่นแล้วจากศูนย์พัฒนาเด็กสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 23 ศูนย์ มาตรวจหาสารตะกั่ว

พบว่าของเล่นจาก
4 ศูนย์ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดที่ 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อีกทั้งยังได้เก็บตัวอย่างของเล่นที่มีการวางขายหน้าโรงเรียนใน กทม. 26 แห่ง พบว่ามีของเล่นจากหน้าโรงเรียน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15 มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด นอกจากนี้ ช่วงปลายปี 2551 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ได้ซื้อของเล่นที่ราคาไม่สูง ครอบครัวสามารถซื้อให้เด็กได้ง่าย

ในพื้นที่ กทม. พิจิตร บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี จำนวน
126 ชิ้น ส่งตรวจคุณสมบัติทางกายภาพจำนวน 50 ชิ้น พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด 9 ชิ้น หรือร้อยละ 18 โดยมีเสียงดังเกิน 75-85 เดซิเบลเป็นอันตรายต่อเซลประสาทการได้ยิน 4 ชิ้น เส้นสายยาวเกินกว่า 30 เซนติเมตรมีความเสี่ยงต่อการพันรัดคอเด็ก 3 ชิ้น มีช่องรูระหว่าง 5-12 มิลลิเมตร เสี่ยงต่อนิ้วเด็กติดค้างในช่องรู 2 ชิ้น และมีขอบแหลมคม 1 ชิ้น รวมถึงส่งตรวจคุณสมบัติทางเคมีโดยตรวจหาสารตะกั่วจำนวน 80 ชิ้น พบว่ามีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด 6 ชิ้น

 

นพ.อดิศักดิ์กล่าวต่อว่า ของเล่นที่มีค่าสารตะกั่วเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะอมของเล่นเข้าทางปาก จะทำให้สารตะกั่วเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก และจะติดอยู่กับตัวเด็กไปจนโตแล้วจะละลายเข้าเนื้อเยื่อ จะทำให้มีผลต่อเซลสมอง หากได้รับซ้ำๆกันเป็นเวลนานจะก่อให้เกิดพัฒนาการที่ล่าช้าและระดับไอคิวต่ำ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์