เตือนภัย′บุหรี่ไฟฟ้า′ ยาเสพติดแปลงกาย



ครที่เริ่มสูบบุหรี่แล้วก็ยากจะหยุด แม้จะทราบถึงอันตรายนานาที่สื่อต่างๆ ให้ความรู้ แต่ที่ไม่เลิกเพราะว่าเลิกยาก

สิงห์อมควันกลับใจหลายรายพยายามหาวิธีเลิกบุหรี่นานา ไม่ว่าจะเป็นการกินลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง ฝังเข็ม บางคนก็หักดิบไปเลย ช่วงหลังยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ บุหรี่ไฟฟ้า ได้รับความนิยมด้วยความเชื่อว่าปลอดภัยและทำให้เลิกบุหรี่ได้

ใครที่สนใจจะเลิกบุหรี่ด้วยวิธีนี้ ต้องกลับมาทบทวนอีกหลายรอบ เมื่อ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกมาเตือนถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า กับความเข้าใจผิดจากโฆษณาชวนเชื่อของผู้จำหน่ายสินค้า

วันนี้หากลองเสิร์ชคำว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" ในอินเตอร์เน็ต จะพบร้านค้าออนไลน์จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาหลากชนิด พร้อมให้ข้อมูลว่าไม่มีอันตราย สามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ น้ำยามีกลิ่นหลากหลาย เลือกผสมได้ ควันมีกลิ่นหอม ไม่เป็นอันตรายต่อคนใกล้ชิด

แต่เมื่อฟังคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนี่คือคำโฆษณาเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

ผศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สรุปสถานการณ์ผลิตภัณฑ์ยาสูบไฟฟ้าให้ฟังว่า ปัจจุบันยาสูบไฟฟ้ามี 3 ประเภท คือ บุหรี่ไฟฟ้า บารากุไฟฟ้า และซิการ์ไฟฟ้า หน้าตาสวยงามไม่เหมือนบุหรี่ และผู้ขายทุกรายจะระบุว่าไม่มีนิโคติน แต่ที่ตัวผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อก็ระบุไว้ว่ามีนิโคติน

"ตอนนี้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก เพราะมีช่องทางการจำหน่ายที่แพร่หลาย ทั้งในห้างหรือในอินเตอร์เน็ต เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม มีการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าไม่ใช่สินค้าอันตราย สูบได้ทุกที่ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการขาย โปรโมตด้วยราคา ลดแลกแจกแถม และเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุผลเรื่องราคา ความสะดวก การขาย และความหอมกลิ่นรส

"ที่สำคัญ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 13-18 ปี 2,426 ราย พบว่า เยาวชน 78% รู้จักบารากุไฟฟ้าเป็นอย่างดี 44% สูบบารากุไฟฟ้า และ 12% สูบบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกัน 42% ก็สูบบุหรี่ธรรมดาด้วย เหตุผลของนักสูบเยาวชนส่วนใหญ่ 83% มาจากความเชื่อผิดๆ และรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่หลอกลวง คือ เห็นว่าเป็นสิ่งน่าสนใจแปลกใหม่ เชื่อว่าสูบง่ายกว่าบุหรี่ ปลอดภัย ลองได้ไม่เสพติด" อ.ศรีรัชเผย

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดจึงเป็นเยาวชนที่อยากลองเพราะคิดว่าปลอดภัย เพิ่มโอกาสในการสูบบุหรี่ธรรมดา นำไปสู่การเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่

ส่วนเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยนั้น มีคุณหมอมาไขข้อข้องใจให้

เตือนภัย′บุหรี่ไฟฟ้า′ ยาเสพติดแปลงกาย



(จากซ้าย) ศรีรัช ลอยสมุทร, สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา, คฑา บัณฑิตานุกูล, เศรณีย์ จุฬาเสรีกุล

ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่า สิ่งที่ผู้ขายพยายามอ้างคือ บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย สูบแล้วไม่มีพิษภัย ปัจจุบันมีงานวิจัยทางการแพทย์ชี้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เรายังไม่รู้จักพิษภัยของบุหรี่ สถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าขณะนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ที่เรายังไม่รู้จักพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าดีพอ

"งานวิจัยต่างๆ ชี้ให้เห็นชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา ซึ่งพบสารก่อมะเร็งหลายๆ ชนิด เช่น ไดเอธิลีนไกลคอล ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี ปรอท สารหนู แคดเมียม ในปริมาณที่สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากใช้อย่างต่อเนื่อง งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาชี้ชัดว่า บุหรี่ไฟฟ้าไปลดสมรรถภาพปอดและการหายใจเหมือนบุหรี่ทั่วไป และทำให้เซลล์ของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ เมื่อสัมผัสควันบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 5 นาที

"สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีความเข้มข้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการเติมนิโคตินแบบน้ำโดยผู้ใช้เอง บางยี่ห้อเข้มข้นถึง 24 มก.ต่อมวน มีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต หลอดเลือดตีบ ผนังหลอดเลือดแข็งเปราะง่าย ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่าการเสพไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีผลให้หลอดลมตีบแคบและบวมมากขึ้น ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัยแต่งานวิจัยยังไม่มากพอ" คุณหมอสุทัศน์กล่าว

ข้อมูลสำคัญจากผลการวิจัยบอกว่าผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้วจำนวนไม่น้อยใช้บุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป โดยติดทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า

ภก.คฑา บัณฑิตานุกูล เครือข่ายเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ กล่าวว่า ปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยมากกว่าบุหรี่ทั่วไป โดยยกตัวอย่างว่า บุหรี่ปกติมีสารพิษกว่า 6,000 ชนิด แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีแค่นิโคติน แต่การศึกษาพบว่า ในบุหรี่ไฟฟ้าจะมีปริมาณนิโคตินที่เข้มข้นสูงกว่าใบยาสูบทั่วไป และไม่สามารถควบคุมปริมาณนิโคตินได้

"สิ่งที่อันตราย คือ นิโคตินจะทำให้อัตราการเต้นหัวใจสูง และอาจส่งผลต่อความดันโลหิต และเมื่อมีการเผาไหม้ สารโพรไพลีน ไกลคอล (propylene glycol) ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดสารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ และจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ต่ำและงานวิจัยไม่ชัดเจน เพราะกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป อีกทั้งยังพบว่า แม้จะหยุดสูบบุหรี่ธรรมดาได้ แต่ผู้สูบกลับต้องการบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น หมายถึงทำให้ติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน" ภก.คฑาเผย

ส่วนในแง่กฎหมายนั้น การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดบางมาตราที่คนทั่วไปยังไม่ทราบ

เตือนภัย′บุหรี่ไฟฟ้า′ ยาเสพติดแปลงกาย


เศรณีย์ จุฬาเสรีกุล กลุ่มพัฒนาภารกิจกฎหมาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ ให้ความรู้ว่า การขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ กรมควบคุมโรคจึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า

"ความผิดที่เข้าข่ายคือ1.ฐานนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักร 2.ฐานช่วยซ่อนเร้น จําหน่าย หรือรับไว้โดยรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือโดยหลีกเลี่ยงอากร 3.ฐานประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจ กรณีที่เป็นการจำหน่ายทางเว็บไซต์ และ 4.ฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก แต่กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขกฎหมาย ให้ครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้าในทุกมิติต่อไป" เศรณีย์กล่าว

นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้าที่ทำรูปร่างเลียนแบบบุหรี่ ยังถือเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 10 คือ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อขาย หรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไป หรือโฆษณาสินค้าอื่นใดที่มีรูปลักษณะทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเภทบุหรี่ซิกาแร็ต หรือบุหรี่ซิการ์ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

แม้ยังไม่มีข้อกฎหมายที่เอาผิดโดยตรง แต่ในอนาคตกำลังมีการผลักดันกฎหมายให้ครอบคุลมตามทันผลิตภัณฑ์ยาสูบแปลงกายในทุกรูปแบบ เพื่อจะได้ควบคุมและลดโอกาสเกิดนักสูบหน้าใหม่ที่เกิดความเข้าใจผิด เพราะการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้า

ข้อน่ากังวลสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดาอยู่แล้วและพยายามเลิกด้วยบุหรี่ไฟฟ้า อาจยังไม่น่าวิตกเท่าความเย้ายวนใจให้เยาวชนได้ลิ้มลองบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีกลิ่นรสหอมหลากหลาย นำไปสู่การเสพติดสารนิโคตินในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้า

หนทางที่ดีที่สุดคือ การหักห้ามใจ อย่าริลอง คนที่คิดเลิกบุหรี่ก็ต้องหนักแน่น คิดถึงอันตรายที่ยังไม่เกิดผลวันนี้ แต่จะสะสมแล้วสำแดงเดชในวันหน้า

เตือนภัย′บุหรี่ไฟฟ้า′ ยาเสพติดแปลงกาย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์