เตือนแก๊งทวงหนี้อาละวาด

เตือนแก๊งทวงหนี้อาละวาด




ลูกค้าต้องตั้งสติก่อนตกเป็นเหยื่อ

มักเป็นข่าวใหญ่ พาดหัวหนังสือพิมพ์หน้า 1 แทบทุกฉบับอยู่เสมอ เมื่อมีประชาชนหลากหลายอาชีพ ตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกลวงให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้เป็นความรู้ และประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนอีกมากที่ยังไม่ทราบถึงวิธีการต้มตุ๋นของแก๊งมิจฉาชีพให้ระมัดระวังตัวเอาไว้ แต่เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ก็ยังเป็นวงจรอุบาทว์ วนเวียนกลับมาเกิดขึ้นได้อีก!!

ต่อให้ “ตำรวจ” กวาดล้างกลุ่ม   “มิจฉาชีพ” ชนิดเข้มข้นขนาดไหน แต่เชื้อบ้านี้ ก็ยังไม่สิ้นซากจากสังคมไทย เพราะตราบใดที่ “ความโลภ” ยังเป็นแรงดึงดูดที่หอมหวาน เย้ายวนใจ ให้รีบไปรับเงินคืน จึงเป็นช่องโหว่ใหญ่โต ให้แก๊งต้มตุ๋นอาศัยเกาะสูบหาผลประโยชน์ ด้วยการล่อลวงชาวบ้านให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอเอ็มได้เรื่อย ๆ รวมถึง “ความกลัว” ของผู้เสียหายว่า จะโดนทวงหนี้คืนแบบโหด ๆ และอาจถึงชีวิตได้ จึงรีบไปเคลียร์หนี้สินให้เรียบร้อย

อีกทั้งแก๊งตุ๋นข้อมูล ได้พัฒนารูปแบบการหลอกลวงให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันไปเรื่อย ๆ ไม่ซ้ำรอยเดิม ไล่ไปตั้งแต่การใช้ “เบอร์โทรศัพท์” ติดต่อเหยื่อ ทั้งในรูปแบบของ โทรศัพท์อัตโนมัติ ที่ไม่แสดงหมายเลขโทรฯเข้า เมื่อรับสาย จะเป็นเสียงตอบรับอัตโนมัติ ระบุว่า ท่านมียอดค้างชำระค่าใช้บริการบัตรเครดิต จากนั้นจะให้กดหมายเลข 9 เพื่อติดต่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเบอร์โทรศัพท์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ มีตัวเลขโชว์ 12 หลักขึ้นไป เช่น เบอร์ขึ้นต้นด้วย 886+

อีกพิมพ์นิยมการโกงคือ ใช้  โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิเศษ ให้โชว์ หมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานต่าง ๆ ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่เหยื่อ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ หรือได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ จริง โดยเฉพาะการแอบอ้างชื่อเป็นเจ้าพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมให้หมายเลขโทรศัพท์ ธปท. ด้วย เพื่อหลอกให้เหยื่อตายใจ และล่อลวงว่า ท่านมีหนี้ต้องชำระต่อธนาคาร หากไม่ชำระหนี้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที จากนั้นจะพูดลวงสารพัด เพื่อให้ได้ ชื่อ นามสกุล ข้อมูลส่วนตัว เลขบัตรประจำตัวประชา ชน และลวงให้เหยื่อที่หลงเชื่อ ไปทำธุร กรรมเพื่อชำระหนี้ผ่านทางตู้เอทีเอ็ม ซึ่ง เท่ากับเป็นการยินยอมโอนเงินเข้าบัญชีของกลุ่มมิจฉาชีพโดยตรง

แม้ว่า กรณีที่ผู้เสียหายระบุว่าไม่มีบัตรเครดิต แต่กลุ่มมิจฉาชีพจะหลอกต่อว่า อาจถูกก๊อบปี้หรือถูกแฮ็กข้อมูลส่วนตัวไปทำบัตรเครดิตแล้วนำไปใช้ ขณะเดียวกัน ก็จะหว่านล้อมให้รีบไปแก้ไขข้อมูล หรือเปลี่ยนรหัสส่วนตัวที่ตู้เอทีเอ็มที่อยู่ใกล้สุด มิฉะนั้นอาจถูกถอนเงินจากบัญชีจนหมดก็ได้ และจะให้เบอร์โทรศัพท์ที่เป็นเบอร์หน่วยงานภายใน ธปท. จริง แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว เช่น 0-2283-5355

กรณีที่มีผู้หลงเชื่อ และไปแก้ไขข้อมูลที่ตู้เอทีเอ็ม จะถูกหลอกให้ใช้เมนูภาษาอังกฤษทำรายการ พร้อมทั้งใช้น้ำเสียงในทำนองเร่งรีบ เพื่อให้เหยื่อตื่นตระหนก ขาดความระมัดระวัง กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็โอนเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น หากมีโทรศัพท์ลักษณะนี้เข้ามา ให้ตั้งสติไว้ก่อน เมื่อมีข้อสงสัยให้โทรฯไปสอบถาม หรือร้องเรียนกับธนาคารพาณิชย์ ที่มีบัญชีอยู่ เพื่อตรวจสอบกรณีที่ถูกหลอกไปแล้ว ให้รีบแจ้งตำรวจทันที โดยจดเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รับ รวมถึงเบอร์บัญชีที่โอนเงินไปให้ เพื่อให้ตำรวจมีหลักฐานในการติดตามตรวจสอบบัญชีต่อไป


เตือนแก๊งทวงหนี้อาละวาด



ล่าสุดมีข่าวครึกโครมเป็นกรณีตัวอย่างอีกครั้ง เมื่อ น.ส.ซีแนม สุนทร นักล่าฝัน จากเวทีอะคาเดมี่แฟนเทเชีย ซีซั่น 1 อายุ 25 ปี ถูกคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม และสูญเงินไปกว่า 160,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพ !!


ทำให้ “โชค ณ ระนอง” ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ ต้องออกโรง ประกาศเตือนลูกค้าอีกครั้ง ให้ระวังแก๊งโทรศัพท์หลอกล่อ ล้วงตับ นำข้อมูลส่วนตัว หรือเลขที่บัตรเครดิตไปใช้ โดยยืนยันว่าธนาคารไม่มีวิธีการทวงหนี้ หรือการทำธุร กรรมการเงินผ่านโทรศัพท์ทุกประเภท ตามที่แก๊งล้วงข้อมูลเหล่านั้นแอบอ้าง และไม่ว่าใครก็ตาม ทันทีที่ได้รับโทรศัพท์ลักษณะนี้ ขอให้ตั้งสติก่อน อย่าหลงเชื่อไปทำธุรกรรม หรือนำบัตรเครดิตไปดำเนินการใด ๆ ตามที่แก๊งโทรศัพท์หลอกล่อให้ทำ

ทั้งนี้ ถ้าเป็นการโทรศัพท์ติดต่อจากธนาคารจริง เจ้าหน้าที่จะแจ้งชื่อตัวเองก่อนพูดคุยกับลูกค้า ที่สำคัญ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่เจ้าหน้าที่ต้องขอข้อมูลรายละเอียดส่วนตัวของลูกค้า เพราะเป็นข้อมูลที่ธนาคารมีอยู่ครบถ้วนแล้ว!!

ฝั่งธนาคารกรุงไทย ก็ไม่น้อยหน้า โดย ยืนยันว่า ขณะนี้ได้ ติดประกาศเตือนลูกค้า ด้วยการติดสติกเกอร์ที่ตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ!! แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากลูกค้าไม่ค่อยอ่านข้อความต่าง ๆ ที่ธนาคารส่งไปให้ จึงไม่ได้ระมัดระวังตัวเท่าที่ควร

“ว่าที่ร.ต.ไพโรจน์ ดีรักษา” ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนช่องทางอิเล็ก ทรอนิกส์ ธนาคารกรุงไทย ยอมรับว่าการแก้ปัญหาลักษณะนี้ เป็นเรื่องยาก เพราะลูกค้าทำรายการบนตู้เอทีเอ็ม ตามที่กลุ่มมิจฉาชีพหลอกล่อให้ทำทุกอย่าง แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวตลอดเวลา และในช่วงที่ทำรายการ จึงเกิดปัญหาเกิดขึ้น


“ผมเองก็เคยถูกโทรศัพท์หลอกลวงเหมือนกัน โดยอ้างว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตแบงก์กรุงเทพ และให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม แต่ผมพบว่าเป็นข้อความอัตโนมัติ ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนว่า อะไรที่เป็นรหัสลับ ไม่ควรบอกให้ใครรู้ และไม่ควรตั้งรหัสเอทีเอ็มเป็นวัน เดือน ปีเกิด เพราะหากทำกระเป๋าสตางค์หาย กลุ่มมิจฉาชีพได้บัตรประชาชน จะนำเอทีเอ็มไปกดเงินได้”

ขณะที่ “ธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี เผยว่า แม้ว่าลูกค้าบัตรเครดิตของเคทีซีกว่า 1.6 ล้านใบ ยังไม่เคยเจอกรณีดังกล่าว แต่ก็ไม่ประมาท ขอย้ำเตือนว่า ต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ และสอบถามกับเจ้าของบัตรเครดิตอย่างละเอียด ไม่ควรโอนเงิน หรือบอกเลขบัตรเครดิต เพราะ ปกติจะไม่มีใครรู้ว่า ลูกค้าแต่ละรายมีเลขที่บัตรอะไรบ้าง และต้องระวังเบอร์โทรศัพท์ที่โทรฯเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเบอร์โทรฯ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือเป็นการใช้โทรฯผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

“หากมีโทรศัพท์แจ้งว่าเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้ค้างชำระภาษี ต้องซักถาม อย่างละเอียด และอย่าไปหลงเชื่อ ซึ่งผมเองก็เคยถูกหลอกเช่นกัน คือ มีเสียงตามสายอัตโนมัติ แจ้งว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ ผมคิดว่าธนาคารคงไม่ใช้วิธีนี้ทวงหนี้ แต่เป็นการทวงถามทางเอกสารอย่างเป็นทางการมากกว่า และยอมรับว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีวิธีการหลอกลวงหลายรูปแบบ เพราะบางคนยังอ้างตัวว่าเป็น ดีเอสไอ จึงขอให้ประชาชนต้องระวังตัว”

“กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของธนาคาร ได้พยายามหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ ด้วยการปรับระบบตู้เอทีเอ็มของธนาคารใหม่ทั้งหมด โดยลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นภาษาอังกฤษ จะมีภาษาไทยกำกับอยู่ด้วยทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้ลูกค้าสับสน

“กลุ่มมิจฉาชีพมีการเกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ขอเตือนว่าอย่าโลภ เช่น การคืนภาษี ถ้าคิดว่าไม่ใช่ และไม่เคยมีธุรกรรมนี้ก็ไม่ควรคุย เพราะเรื่องนี้มีมานานแล้ว”

ขณะที่ “พล ธนโชติ” ประธานชมรมธุรกิจบริการเอทีเอ็ม กล่าวว่า ศูนย์คอล เซ็นเตอร์ที่โทรศัพท์หลอกลวงลูกค้านั้นส่วนใหญ่ตั้งอยู่ต่างประเทศ ซึ่งชมรมฯ ได้ประสานงานกับกองบัญชาการสอบสวนกลาง เพื่อให้ข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน จับกุม และกวาดล้างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้วางเครือข่ายไว้พอสมควร พอทำให้รู้ช่องทาง และหาทางป้องกัน ปราบปรามอยู่

“ที่ผ่านมา เมื่อลูกค้าเจอปัญหาดังกล่าว และติดต่อเข้ามา ธนาคารก็จะเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการสกัดกั้นการโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งบางครั้งล็อกทันบ้าง แต่บางครั้งก็ล็อกไม่ทัน”

นอกจากนี้ ได้ขอให้สมาชิกชมรมฯ จัดทำข้อมูลซอฟต์แวร์เตือนลูกค้า ในระหว่างการโอนเงิน เพื่อให้ลูกค้ามีสติ ก่อนที่จะตอบตกลงโอนเงิน โดยจะมีข้อความขึ้นหน้าจอแจ้งให้ลูกค้าว่า จะตกลงโอนเงินเข้าบัญชีนี้หรือไม่ ถ้าไม่ต้องการโอนเงิน ก็ยกเลิกคำสั่งได้ รวมทั้งมีสติกเกอร์ติดที่หน้าตู้เอทีเอ็ม แจ้งเตือนให้ลูกค้าระวังตัว

“เนื่องจากปัจจุบันนี้ การคัดลอกข้อมูลแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตต่าง ๆ นั้น ทำได้ยากขึ้น จึงเป็นเหตุผลักดันให้กลุ่มมิจฉาชีพเปลี่ยนช่องทางไปใช้วิธีการโทรศัพท์แทน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจว่าดีหรือไม่ เพราะแก๊งต้มตุ๋นเหล่านี้ทำเป็นอาชีพหลัก และหาทุกช่องทางเพื่อให้ได้เงินมาอย่างง่าย ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความรู้ แต่ใช้ในทางที่ผิด ดังนั้นเราต้องป้องกันทุกเรื่อง และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากความประมาท และเชื่อคนมากเกินไป”
ด้าน “กำธร ประเสริฐสม” หัวหน้าศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า

เพียงแค่ช่วงระหว่างวันที่ 18 พ.ค.-30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้รับโทรศัพท์ร้องเรียนเกี่ยวกับแก๊งมิจฉาชีพที่หลอกให้โอนเงินโดยอ้างว่าเป็นหนี้บัตรเครดิต รวมทั้งสิ้น 1,672 ราย มีผู้เสียหายที่เกิดขึ้นจริง 31 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 3.42 ล้านบาท

จึงขอเตือนประชาชนอีกครั้ง ว่าอย่าหลงเชื่อ!!

มูลค่าความเสียหายนี้ เพียงเฉพาะที่ร้องเรียนเข้ามาเท่านั้น แต่หากประเมินทั้งระบบ เชื่อว่ายังมีผู้เสียหายอีกจำนวนมาก แต่ไม่ได้แจ้งผ่าน ธปท. โดยอาจไปร้องเรียนกับตำรวจ และเท่าที่ได้ประสานงานกัน ทราบ ว่ามูลค่าความเสียหายของผู้ถูกหลอกลวงทั่วประเทศไทย น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาททีเดียว

“แก๊งพวกนี้ทำงานกันเป็นทีม หลังจากที่หลอกให้โอนเงินสำเร็จแล้ว ก็จะมีอีกคนคอยถอนเงินออกทันที แล้วนำเงินออกนอก ประเทศผ่านโพยก๊วน ทำให้ผู้เสียหายโทรฯ ไปอายัดเงินในบัญชีไว้ไม่ทัน และที่ผ่านมายังไม่มีกรณีใดที่ผู้เสียหายได้เงินคืน ดังนั้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ ให้สอบถามที่ธนาคารที่มีบัตร หรือบัญชีอยู่ หรือสอบถามที่ศูนย์ประ สานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2283-5900 ในวันและเวลาทำการ”

อีกประเด็นหนึ่ง คือ การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของไทยในเรื่องระบบเอทีเอ็ม มักเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มที่คอยโกง ก็จะรับรู้ความเคลื่อนไหว รวมทั้งการป้องกันไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น ใครที่มีบัตรเอทีเอ็ม จึงจำเป็นต้องมีความรู้ เรื่องรูป แบบการทุจริต และวิธีป้องกันไว้ด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง มาจากผู้ใช้บัตรไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลความปลอดภัยของตัวเองเท่าที่ควร

ฟากรัฐบาลเอง ก็เร่งที่จะผลักดัน “กฎหมายการติดตามทวงหนี้อย่างเป็นธรรม” ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาการติดตามทวงหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ในหลาย ๆ ลักษณะ ตั้งแต่ข่มขู่ ทุบตี และร้ายแรงถึงขั้นเอาชีวิต ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีกฎหมายใดเข้ามาดูแลการทวงหนี้โหด มีเพียงแนวปฏิบัติในการติดตามทวงหนี้ของธปท. สำหรับการดำเนินงานของสถาบันการเงินเท่านั้น และยังไม่มีหลักเกณฑ์ใดครอบคลุมถึงการกระทำของผู้ที่รับจ้างติดตามทวงหนี้ดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ หรือมีหน่วยงานใดกำกับดูแลโดยตรง

ดังนั้น รัฐจึงเห็นว่าสมควรที่จะมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแลผู้ที่ติดตามทวงถามหนี้ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการติดตามทวงหนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และมีมาตรฐาน รวมทั้งมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนอย่างชัดเจน เพื่อสร้างมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. ... ไปแล้ว และได้รับความเห็นชอบจากครม.ไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงได้เสนอร่างพ.ร.บ.การติดตามการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ....ควบคู่ไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะ เสนอเข้า ครม.พิจารณาได้ในเร็ว ๆ นี้
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม ประกอบด้วย กำหนดให้ผู้ที่รับจ้างจากผู้ให้ สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ ในการติดตามทวงถามหนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ หากเป็นการติดตามหนี้โดยเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อโดยตรงไม่ต้องจดทะเบียน

ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดต่อผู้ใด ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เพื่อติดตามทวงถามหนี้ และติดต่อบุคคลอื่น ให้ทำได้เพื่อติดต่อสอบถามสถานที่ติดต่อลูกหนี้เท่านั้น รวมทั้งกำหนดวิธีปฏิบัติในการติดต่อกับบุคคลอื่นไว้ เช่น จำกัดช่วงเวลาติดต่อไม่ว่าจะติดต่อทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือบุคคล โดยต้องไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ ห้ามทำการใดที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อติดตามทวงถามหนี้ของลูกหนี้ เป็นต้น

กำหนดวิธีปฏิบัติการติดต่อกับลูกหนี้ และข้อห้ามในการติดตามทวงถามหนี้ โดยวิธีปฏิบัติในการติดต่อกับลูกหนี้ เช่น จำกัดช่วงเวลาติดต่อ ไม่ว่าจะติดต่อทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือบุคคล โดยให้ติดต่อกับผู้ บริโภคได้ตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้ เป็นต้น รวมถึงข้อห้ามในการติดตามทวงถามหนี้ เช่น ห้ามผู้ติดต่อกระทำในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม และห้ามผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ รวมถึงห้ามผู้ติดตามหนี้ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม

กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการติดตามทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการติดตามทวงถามหนี้ของผู้ติดตามหนี้ ออกประกาศหรือคำสั่ง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ รับเรื่องร้องเรียนและวินิจฉัย เป็นต้น และให้สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการดังกล่าว

เมื่อประชาชนมีความรู้ ตระหนักถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตัวเอง และระมัดระวังตัวจากมิจฉาชีพ ขณะที่รัฐก็พยายามดูแลผู้ประกอบการทั้งในส่วนของธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ให้อยู่ภายใต้กฎ กติกา และมาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่า จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี ที่ทำให้เหล่ามิจฉาชีพอยู่ยากขึ้น แต่สิ่งสำคัญ ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัว หรือรหัสบัตรเครดิต หรือเอทีเอ็มกับคนอื่น และอย่าไว้ใจใคร เป็นไปได้ ควรเปลี่ยนรหัส เอทีเอ็มบ่อย ๆ.


เตือนแก๊งทวงหนี้อาละวาด



หลากวิธีกลโกงบัตรเครดิตในประเทศไทย

1.การใช้อุปกรณ์อ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็ก (เครื่องสกิมเมอร์) คัดลอกข้อมูลส่วนตัวที่บันทึกในแถบแม่เหล็กบนบัตรเครดิต แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปทำบัตรปลอมและนำบัตรปลอมนั้นไปซื้อสินค้าหรือบริการ

2.การขโมยบัตรเครดิตหรือนำบัตรเครดิตที่สูญหายไปใช้โดยเจ้าของบัตรไม่รู้ตัว ดังนั้น หากพบว่าบัตรเครดิตสูญหายหรือถูกขโมย ให้รีบติดต่อสถาบันการเงิน ผู้ออกบัตรเครดิตทันทีเพื่อขออายัดบัตร เพราะหากผู้อื่นนำไปใช้ ผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินที่เกิดขึ้น

3.การปลอมแปลงเอกสารสำคัญเพื่อสมัครบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือน เพื่อหลอกลวงให้สถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตหลงเชื่อ และนำบัตรเครดิตนั้นไปใช้จ่ายในนามของท่าน ทำให้ผู้ที่ถูกแอบอ้างเดือดร้อนเพราะถูกเรียกเก็บหนี้ที่ตน ไม่ได้ก่อ

ข้อแนะนำในการป้องกันกลโกงบัตรเครดิต

1.ควรเก็บรักษาบัตรเครดิต บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ และเอกสารสำคัญอื่น ๆ ไว้ในที่ที่ปลอดภัย และไม่มอบเอกสารดังกล่าวให้กับผู้ไม่น่าไว้ใจ

2.ควรจดหมายเลขที่บัญชีบัตรเครดิตและหมายเลขโทรศัพท์ของแผนกบริการไว้ในที่ปลอดภัย (ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์)

3.เพื่อป้องกันกลโกงแบบสกิมมิ้ง หากจ่ายค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิต ท่านควรอยู่ ณ จุดที่พนักงานทำรายการอยู่ หรืออยู่บริเวณใกล้ ๆ ระยะที่สังเกตได้

4.หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตในร้านค้าที่มีความเสี่ยงหรือมีข่าวเรื่องการทุจริต

5.ควรตรวจสอบความถูกต้องของรายการใช้จ่ายในสลิป บัตรเครดิต เช่น จำนวนเงิน วันที่ทำรายการ เลขที่บัญชี ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต และควรเก็บสำเนาสลิปบัตรเครดิตเอาไว้เพื่อใช้ตรวจกับใบแจ้งยอดบัญชีว่าถูกต้องและตรงกัน หากพบรายการผิดพลาด ต้องรีบแจ้งผู้ออกบัตรเครดิตทันที

6.ระมัดระวังการใช้บัตรเครดิตเบิกเงินผ่านตู้เอทีเอ็มที่มีลักษณะน่าสงสัยว่าอาจมีการลักลอบติดตั้งอุปกรณ์ รวมทั้ง ในขณะที่กดรหัสเอทีเอ็มต้องระวังไม่ให้ผู้อื่นเห็นด้วย

7.ควรเลือกซื้อสินค้าหรือบริการทางอินเทอร์เน็ตจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์