เทคนิคคิดปรับปรุงชีวิตให้ก้าวหน้า

เทคนิคคิดปรับปรุงชีวิตให้ก้าวหน้า


เทคนิคคิดปรับปรุงชีวิตให้ก้าวหน้า

 คนเราถึงจะมีจุดมุ่งหมายที่ดีงามเพียงไร

แต่ถ้าเราไม่สนใจแก้ไขปรับปรุงนิสัยที่ยังบกพร่องอื่นๆ ของตัวเอง พร้อมกันไปด้วยแล้ว ก็ยากยิ่งที่เราจะสามารถนำพาชีวิตของตนให้บรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของตนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนี่เองที่จะคอยเป็นตัวถ่วงความเจริญ หรือ ทำให้ชีวิตติดตัน หรือถึงขนาดเสื่อมถอยลงไป ทำให้ไม่ประสบความก้าวหน้าดังที่ตั้งใจไว้ อุปมาเราต้องการจะขับรถไปเชียงใหม่ แต่ทว่าสภาพรถที่ขับกลับไม่ดูแล น้ำมันเติมไม่เต็มถัง ยางหลังรั่วแบน พวงมาลัยฝืด น้ำมันเบรกก็ไม่มี สภาพรถอย่างนี้ ต่อให้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะขับไปให้ถึงสักเพียงใด ก็ไม่มีทางขับไปถึงอย่างแน่นอน

ดังนั้นหากเรารู้จักปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราเองเป็นประจำ โดยการหมั่นสำรวจตรวจตรานิสัยใจคอ ตลอดจนการกระทำของเราทุก ๆ ด้าน เราก็จะได้ข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาชีวิตของตนให้ก้าวหน้าอย่างมีดุลยภาพ (พัฒนารอบด้าน ได้สมดุลย์) นี้เป็นวิธีการที่ดีที่สามารถพัฒนาชีวิตของเราจะได้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด ชักช้า หรือ เสื่อมถอย อีกต่อไป

วิธีปรับปรุงชีวิตของตนเองให้ดีพร้อมทุกด้าน

 ทุกวันก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่เหมาะสำหรับการมานั่งทบทวนชีวิตของตนเองที่ได้ดำเนินมาตลอดวันว่าเรายัง มีอะไรที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุงตนเองได้อีกบ้าง เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองทุกด้านให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยขอเสนอวิธีคิดดังต่อไปนี้

๑. ให้ถามตัวเองว่า วันนี้ตนเองได้ทำอะไรที่เป็นที่น่าพอใจบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเอง หรือ ผู้อื่น หรือ การสร้างเสริมนิสัย ที่ดีงามให้แก่ตนเอง ให้ทบทวนในใจเป็นข้อ ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกพอใจยินดีปราโมทย์ในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป จนรู้สึกเคารพ ตนเองว่า  เป็นบุคคลที่เกิดมาแล้วได้ทำสิ่งที่ดีๆ ฝากไว้กับโลก ยกตัวอย่าง 

                              ๑. ฉันพอใจที่ได้ตื่นแต่เช้าในวันนี้ไม่ตื่นสายเหมือนวันก่อน
                              ๒.ฉันพอใจที่ทำงานได้เสร็จก่อนเวลาตามนัดหมาย
                              ๓.ฉันพอใจที่ระงับความขุ่นเคืองตอนคุณแม่บ่นได้
                              ๔.ฉันพอใจที่ได้มีน้ำใจทักทายเพื่อนบ้านด้วยวาจาอันไพเราะ ฯลฯ

๒. ให้บอกกับตนเองว่า ความดีที่ทำไปมันยังไม่พอ มันต้องทำให้ดีกว่านี้ มากกว่านี้ เป็นทวีคูณ เพราะถ้าคนเราคิดว่าตัวเองดีแล้ว เก่งแล้ว   นั่นแหละครับ เขาเรียกว่า " คนประมาท " ดังนั้นเราจึงควรสร้างความ "ไม่พอใจ" ในความดีที่มีอยู่ คือ ไม่ควรหลงตนเองว่าดีแล้วแต่ควร มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คิดฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เสมอ นี้เป็นนิสัยประจำตัวของพระพุทธองค์ในสมัยก่อนที่จะตรัสรู้เลยทีเดียว คือ "ความไม่สันโดษในกุศลธรรม" ยกตัวอย่างวิธิคิด 

                                ๑. คุณเอนั่งสมาธิเก่งมาก แต่แกก็สอนตัวเองว่า
                                     " ถึงจะนั่งสมาธิได้ดี แต่ฉันยังโกรธง่ายอยู่เลย ไม่ได้เรื่องหรอก คงต้องฝึกเมตตาให้มากกว่านี้ "
                                ๒. คุณดวดขยันทำการงาน จนเจ้านายชมเปาะ แต่แกก็สอนตัวเองว่า
                                      " ยังขยันไม่พอหรอกแค่นี้ มันต้องขยันทุกลมหายใจถึงจะดี"
                                ๓. คุณอุ๋ยใจดีมีเมตตา จนเพื่อน ๆ ชมว่าเป็นแม่พระประจำออฟฟิส แต่คุณอุ๋ยก็เตือนตัวเองเสมอว่า " ใจดี แต่ไม่ค่อยจะใช้สติปัญญา อย่างเนี้ยนะ โดนเขาหลอกประจำ ไม่ไหวหรอก " 

 ๓. ให้นึกถึงสิ่งที่บกพร่องของตนเองที่ทำมาตลอดวันว่ามีอะไรบ้าง และให้สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไปทำอีกด้วยการ รู้จักติเตียนตนเองให้เกิดความ
                 ละอายใจ เห็นผลร้ายของนิสัยไม่ดีเหล่านี้ (หิริโอตตัปปะ) ยกตัวอย่าง
                                ๑. กินข้าวไม่ล้างจาน "แย่จริง น่าละอายมาก เอาเปรียบคนอื่นนี่เรา"
                                ๒.จิ๊กเงินแม่ " โห.. เนรคุณสุด ๆ แม่รู้คงเสียใจแย่เลย "
                                ๓. เปิดดูรูปโป๊บนเน็ต " โรคจิตนี่เรา ทำไมไม่หาอะไรดีๆ มีสาระดูบ้างล่ะ โตแล้วนะ"
                                ๔. นินทาเพื่อน " เลวมาก.. ทำไมเราเป็นคนอย่างนี้ ถ้าคืนอื่นเขานินทาเราม้าง เราจะรู้สึกอย่างไร " ฯลฯ
                                ๕. ในกรณีที่เป็นความประพฤติผิดศีลธรรม ให้คุณรู้จักสร้างความรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำที่ไม่ดีของคุณเอง
                                      ด้วยการสารภาพกับใครสักคนหนึ่งที่คุณมีความเคารพ และ ไว้ใจ การสารภาพสำนึกผิดนี้เองที่จะเป็นการ  ปลดปล่อยจิตวิญญาณของคุณให้พ้นจากความชั่วร้ายต่าง ๆ ที่ครอบงำคุณมาโดยตลอด

 ในสังคมสมมุติสงฆ์ ท่านจึงให้พระภิกษุมาทำการสารภาพความผิด (ปลงอาบัติ) กับหมู่คณะ

หากพระภิกษุนั้นได้กระทำความผิดต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่งลงไป (อาบัติเบา) คณะสงฆ์เมื่อได้รับรู้ก็จะให้อภัย และ ช่วยเป็นกำลังใจให้สำรวมระวังต่อไป นี้เป็นบรรยากาศของชุมชนที่ดีงามในอุดมคติที่สมาชิก ทุกคนในชุมชนช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน (น่าเสียดายที่สมัยนี้ ตามวัดต่าง ๆ พระภิกษุทำพอแต่เป็นพิธีๆ จึงไม่ได้รับประโยชน์อะไร )

กระบวนการ "สารภาพผิด" เป็นการฝึกชาวพุทธให้เป็นคนที่รู้จักสำนึกผิดในสิ่งไม่ดีที่ตนได้กระทำลงไป มีผลดีทำให้จิตใจของผู้ที่สารภาพผิดเกิด ความโปร่ง โล่งสบายใจ (ที่ได้สารภาพผิด ) และ ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติไม่ให้เผลอไปทำสิ่งที่ไม่ดีในอนาคต อนึ่งหากคุณเหลียวมองรอบ ๆ ตัวแล้ว ยังมองไม่เห็นมีใครที่คุณพอจะไว้วางใจให้รับฟังความผิดของได้ เราขอแนะนำให้คุณระลึกถึงพระพุทธองค์ (หากคุณเป็นชาวพุทธ) โดยให้ นึกในใจว่าคุณกำลังนั่งสารภาพผิดอยู่ต่อหน้าพระพุทธองค์ ให้คุณทำการสารภาพด้วยจิตใจที่สำนึกผิดและสัญญากับพระพุทธองค์ว่าจะสำรวมระวังไม่เผลอพลาดพลั้งไปกระทำอีก ขั้นตอนนี้หากคุณทำด้วยความศรัทธาและรู้สึกสำนึกผิดจริงๆนิสัยที่ไม่ดีต่าง ๆของคุณที่เคยเปรียบเสมือนมารผจญที่คอยมารุกรานชีวิตของคุณย่ำแย่มาตลอดชีวิต ก็จะค่อยๆ หมดพิษสงลง จนหมดสิ้นไปในไม่ช้า


 เทคนิคการปรับปรุงชีวิตให้ดีงาม ทั้งในทางส่งเสริมรักษากุศลธรรม และ สกัดกั้นกำจัดบาปอกุศล ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากคุณได้ปฏิบัติเป็นประจำเครือข่ายชาวพุทธฯ มีความมั่นใจว่าชีวิตของคุณจะดำเนินไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น และ ประสบแต่ความสุข ความเจริญ ได้รับความร่มเย็นในบวรพุทธศาสนาไปตลอดกาลนาน ขอให้โชคดีทุก ๆ ท่านสวัสดี


เทคนิคคิดปรับปรุงชีวิตให้ก้าวหน้า


เกร็ดธรรมนำชีวิต
จาก Budpage.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์