เบาจืด เรื่องจืดๆ ที่ไม่ธรรมดา


   อาการ “เบาจืด” เป็นอาการที่น้อยคนจะรู้จัก ทั้งๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคสำคัญหลายโรค ยิ่งหากไปเทียบกับโรค “เบาหวาน” เราจะคุ้นเคยกับคำว่าเบาหวานมากกว่าเบาจืด แต่ทราบหรือไม่ว่า แม้โรคเบาจืดจะพบได้น้อยกว่า แต่กลับเป็นสัญญาณอันตรายของโรคสำคัญหลายโรค ที่หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า อาจส่งผลให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้

      “จืด”v.s.“หวาน”
           โรคเบาจืดกับโรคเบาหวานเป็นโรคที่มีอาการร่วมกันคือ “ปัสสาวะบ่อย” และ “ปัสสาวะมาก” ดังนั้นผลที่ตามมาคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลียอันเนื่องมาจากการเสียน้ำมากเกินไป ตามด้วยอาการกระหายน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง เพราะร่างกายขาดน้ำ ยิ่งหากทดแทนด้วยการดื่มน้ำไม่พอ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง (dehydration) และลงเอยด้วยภาวะช็อกจากการขาดน้ำได้ โดยอาการเริ่มแรกคือ ซึมลง ดูเนือยๆ ไม่มีแรง อยากหลับตลอด และท้ายสุดคือเสียชีวิตอันเนื่องมากการช็อกนั่นเอง

           
สำหรับความแตกต่างกันระหว่าง 2 โรคนี้จะอยู่ที่ สาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะออกมาก โดยเบาหวานนั้นเกิดจากความผิดปกติของการสร้างฮอร์โมนอินซูลินหรือการตอบสนองต่ออินซูลินที่เป็นตัวช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมิให้สูงเกินไป หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ร่างกายจะหลั่งอินซูลินออกมามากเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้พอดี

           ส่วนเบาจืดเกิดจากฮอร์โมนที่คอยควบคุมการเก็บน้ำในร่างกายมีความผิดปกติ ฮอร์โมนดังกล่าวมีชื่อเรียกทางการแพทย์ที่อาจไม่คุ้นนักสำหรับคนทั่วไปว่า “vasopressin” ฮอร์โมนนี้สร้างจากสมองส่วนที่เรียกว่าไฮโปทาลามัส (hypothalamus) ซึ่งมีการเชื่อมต่อกับต่อมเล็กๆ ใต้สมองที่เรียกว่า“ต่อมใต้สมอง” หรือ “pituitary gland” โดยฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ในการสั่งงานให้ไตคอยดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ส่วนความผิดปกติดังกล่าวมักเกิดจากระดับฮอร์โมนลดลงมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ หรือ อาจเกิดจากไตตอบสนองต่อฮอร์โมนนี้น้อยกว่าปกติทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำในร่างกายไว้ได้ ผลคือผู้ป่วยจะปัสสาวะมากกว่าปกติ

     โรคที่ทำให้เกิดภาวะเบาจืด
          เราสามารถแยกออกได้เป็นสองกลุ่มคือ

         1. เกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง การกระทบกระเทือนต่อสมองซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง หรือภาวะสมองบวม ทำให้ปริมาณ vasopressin น้อยกว่าปกติ เมื่อฮอร์โมนดังกล่าวลดลง ไตจะลดการดูดกลับของน้ำ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำออกมาทางปัสสาวะมากกว่าปกติ 

          2. ความผิดปกติของไต ทำให้ตอบสนองต่อฮอร์โมน vasopressin น้อยกว่าปกติ ซึ่งมักเป็นกรณีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด (กรรมพันธุ์) หรืออาจเกิดจากไตถูกทำลาย เนื่องจากได้รับยาบางชนิดที่มีผลต่อการทำงานของไต

          โดยเราจะพบเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมองได้บ่อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เกิดจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ซึ่งผู้ป่วยมักมีความผิดปกติของฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกายร่วมด้วย เช่น ความรู้สึกทางเพศลดลง มีน้ำนมไหลทั้งๆ ที่มิได้ตั้งครรภ์ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เหงื่อออก ใจสั่น เป็นต้น ในรายที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักมีความผิดปกติของสายตา เช่น ลานสายตาแคบลง (มองทางด้านข้างไม่เห็น) ตามัว มองภาพไม่ชัด หรือมีภาพซ้อน

     อาการของโรคเบาจืด
           ดังที่กล่าวมาแล้วว่า โรคเบาจืดมีลักษณะเด่นที่คล้ายกับโรคเบาหวานคือ ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะมากกว่าปกติ ดังนั้นอาการจะคล้ายกับคนขาดน้ำทั้งๆ ที่กินน้ำปกติ หรือมากกว่าปกติด้วยซ้ำไป อาการเริ่มแรกในผู้ป่วยที่เป็นไม่มาก อาจมีแค่ปัสสาวะรดที่นอน หรือติดกางเกง หากเป็นมากขึ้นก็จะรู้สึกปวดปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเข้าห้องน้ำ หรือตื่นขึ้นมากลางดึกหลายครั้งเพื่อเข้าห้องน้ำ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำมาก่อน หลายครั้งที่ผู้ป่วยจะบอกว่า พยายามไม่ดื่มน้ำมากก่อนนอนแล้วแต่กลับรู้สึกปวดปัสสาวะทุกคืน คืนละหลายครั้ง จนทำให้นอนไม่ได้ หรือตื่นเช้าด้วยความเพลีย ในรายที่มีอาการรุนแรงเพราะดื่มน้ำชดเชยไม่ทัน
 จะมีอาการขาดน้ำ ริมฝีปากแห้ง ตาลึก คอแห้ง ตาโบ๋ กระหายน้ำตลอดเวลา หนักที่สุดคือ ความดันตกและหมดสติเนื่องจากอาการช็อกเพราะขาดน้ำ ร่วมกับภาวะความเข้มข้นในเลือดสูงนั่นเอง 
           ในผู้ป่วยบางรายที่มีความสามารถในการกลั้นปัสสาวะได้นาน ทั้งๆ ที่มีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นจำนวนมาก จะเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจตามมาด้วยภาวะไต หรือกรวยไตอักเสบเป็นๆ หายๆ และไตวายในที่สุด

     ปัสสาวะมากจาก“เบาจืด”&“เบาหวาน”
           ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ทั้งสองภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมาก และกระหายน้ำ เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ ในภาวะเบาจืดนั้น ปัสสาวะจะเป็นน้ำเกือบทั้งหมด ยากเพราะผู้ป่วยจะรู้สึกกระหายน้อยิเนื่องจากอาการช็อคเพราะขาดน้ำนั่นเอง ในขณะที่ภาวะเบาหวานนั้น ในปัสสาวะจะมีเกลือแร่และน้ำตาลปนอยู่ด้วยในปริมาณมาก พูดง่ายๆ คือ เบาจืดนั้นจะปัสสาวะเหมือนน้ำเปล่า แต่เบาหวานจะปัสสาวะเหมือนน้ำผสมน้ำตาลบวกด้วยเกลือแร่นั่นเอง (เครื่องดื่มผสมเกลือแร่ !!) ซึ่งจะทราบได้ก็ต่อเมื่อนำปัสสาวะไปตรวจในห้องปฏิบัติการ แต่ก็มีวิธีสังเกตด้วยตนเองง่ายๆ คือ 

          - ดูสีของปัสสาวะ โดยเบาจืดน้ำปัสสาวะจะใส ไม่มีหรือเกือบไม่มีสี ในขณะที่เบาหวานนั้น น้ำปัสสาวะมักมีสีเจือปน (ซึ่งไม่แน่นอนเสมอไป)

          - รสชาติของปัสสาวะ เบาจืดนั้นปัสสาวะจะไม่มีรสชาติ ในขณะที่เบาหวานจะมีรสติดหวานเพราะมีน้ำตาลและเกลือแร่ปนออกมาด้วย ถึงตอนนี้ ผู้อ่านก็คงรู้แล้วว่าทำไมจึงตั้งชื่อว่า “เบาจืด” กับ “เบาหวาน” 
          แต่ในทางปฏิบัติคงไม่มีใครทดสอบด้วยการชิมปัสสาวะ แพทย์จึงแยกสองภาวะนี้ด้วยการส่งปัสสาวะผู้ป่วยไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ร่วมกับการซักประวัติเรื่องน้ำตาลสูงในเลือด (เบาหวาน) เช่น ประวัติเบาหวานในครอบครัว อาการอ่อนเพลีย หรือน้ำหนักตัว คือมีน้ำหนักลดหลายกิโลกรัมภายในเวลาสั้นๆ อันเนื่องมาจากการสูญเสียน้ำตาล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของร่างกายในปริมาณมากและต่อเนื่อง

     ปัญหาอันเนื่องมาจาก เบาจืด
           โดยปกติภาวะเบาจืดมักไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยตรงอันเนื่องมาจากปัสสาวะมากผิดปกติ เพราะตราบใดที่ยังรู้ตัวดี เมื่อเราปัสสาวะมาก ร่างกายจะขาดน้ำ สมองก็จะกระตุ้นในเจ้าของร่างกายกระหายน้ำ ดังนั้นผู้ป่วยจะสามารถดื่มน้ำทดแทนได้เรื่อยๆ เพียงแต่จะก่อความรำคาญเวลาเดินทางไปไหนมาไหน เพราะต้องแวะปัสสาวะข้างทางบ่อย รวมทั้งแวะซื้อน้ำดื่มเรื่อยๆ จนบางครั้งผู้ป่วยจะเกิดปัญหาไม่กล้าเข้าสังคม

           ด้วยวงจรดังกล่าวทำให้บ่อยครั้งที่อาการปัสสาวะบ่อยถูกละเลยทั้งโดยผู้ป่วยและแพทย์ เพราะมักเข้าใจว่ายิ่งดื่มน้ำมากก็ยิ่งปัสสาวะมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ (สับสนกันระหว่าง เหตุ กับ ผล) แพทย์จึงอาจให้คำแนะนำที่ผิดโดยการสั่งให้ลดการดื่มน้ำ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่อันตราย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการขาดน้ำรุนแรง และในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยเองก็มักจะดื่มน้ำชดเชยอยู่ดี เพราะห้ามไม่ได้ เนื่องจากมีความรู้สึกกระหายน้ำตลอดเวลา 

           หากอาการปัสสาวะบ่อยถูกละเลย จะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสที่จะได้รับการตรวจค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการดังกล่าว ทำให้โรคที่เป็นสาเหตุ(ซึ่งหลบอยู่เบื้องหลัง) ลุกลามและกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ในภายหลัง ไม่ว่าอาการปัสสาวะมากนั้นจะเป็นเบาหวานหรือเบาจืดก็ตาม

          
 ถึงตอนนี้แล้ว ผู้อ่านที่ต้องลุกมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนบ่อย ๆ คงต้องถามตัวเองว่า “วันนี้คุณชิมปัสสาวะของตนเองแล้วหรือยัง ?”



เบาจืด เรื่องจืดๆ ที่ไม่ธรรมดา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์