เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’

หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีในการเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ในปี 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ถือเป็นภูมิภาคแรกที่มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการ เนื่องจากภาคอีสานมีสภาพภูมิศาสตร์ที่น่าสนใจ และพื้นที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างทุรกันดาร

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2-20 พ.ย. 2498 ในครั้งนั้นถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานมาก่อนเลย เพราะเส้นทางคมนาคมมีความทุรกันดาร มีเพียงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงโคราชโดยทางรถไฟเท่านั้น

จากเส้นทางการคมนาคมที่ค่อนข้างลำบาก จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องใช้พาหนะในการเดินทางหลากหลายรูปแบบเริ่มจากรถไฟ รถยนต์ เครื่องบิน และเรือ เพื่อเข้าไปเยี่ยมราษฎรอย่างทั่วถึง


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’

ตลอดเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถยนต์ เครื่องบิน หรือเรือ จะมีประชาชนมารอเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเนื่องแน่น โดยเฉพาะทางรถไฟ ซึ่งถือเป็นพระราชพาหนะหลักที่ได้ใช้เดินทางในขณะนั้น เพราะแต่ละสถานีที่ได้ทั้งสองพระองค์ทรงผ่านและหยุดพักเยี่ยมราษฎรจะมีราษฎรมารอเข้าเฝ้าฯ อย่างหนาแน่น เพื่อชมพระบารมี และจากการที่สมัยก่อนพระมหากษัตริย์จะมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก จึงทำให้ประชาชนมีความประทับใจอย่างมากสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

บ้านพ่อ เพื่อลูกหลานชาวอีสาน

เมื่อได้ใกล้ชิดกับราษฎรทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรในภาคอีสาน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสานในขณะนั้นค่อนข้างทุรกันดาร จึงทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ค่อนข้างยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ขึ้นที่ จ.สกลนคร เพื่อเป็นที่ประทับเวลาแปรพระราชฐานและทรงงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร

ก่อนที่จะก่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างแหล่งน้ำบนภูเขาก่อน ด้วยการสร้างลานหินกักเก็บน้ำไว้บนเทือกเขาภูพานในปี 2517 เพื่อเป็นแหล่งน้ำหล่อชุมชนและป่าไม้ที่อยู่เชิงเขา เพราะน้ำคือชีวิต นอกจากนี้ การสร้างลานหินเพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำบนเทือกเขาภูพานยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำก่ำอีกด้วย


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’

หลังจากสร้างแหล่งน้ำสำเร็จ ต่อมาปี 2518 จึงได้เริ่มมีการก่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ขึ้น บริเวณเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้ทรงเลือกพื้นที่สร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ด้วยการใช้แผนที่ทางอากาศและการเสด็จฯ สำรวจเส้นทางบริเวณป่าเขา น้ำตก เป็นปัจจัยในการกำหนดเขตพื้นที่ก่อสร้างพระตำหนักและบริเวณพระตำหนัก ซึ่งประกอบด้วยเขตพระราชฐานชั้นในและเขตพระราชฐานชั้นนอก

พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ หมายเลข 213 บริเวณกิโลเมตรที่ 14 ห่างจากตัวเมืองสกลนคร ประมาณ 16 กม. บริเวณพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ช่วงเริ่มแรกมีเนื้อที่รวม 940 ไร่ ซึ่งหลังจากสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ทรงพลิกฟื้นผืนป่าแห่งดังกล่าวจากภูเขาหัวโล้นเป็นป่าที่มีชีวิตหล่อเลี้ยงประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนต่อมามีการขยายพื้นที่ป่าในเขตพระตำหนักเป็นกว่า 1,000 ไร่ สู่ 2,000 ไร่ ในปัจจุบัน

สำหรับหมู่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จะประกอบด้วย อาคารพระตำหนักปีกไม้ เป็นอาคารที่ประทับหลังแรกสร้างขึ้นในปี 2518 เป็นรูปแบบล็อกเดขิน ต่อมาในปี 2519 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างพระตำหนักใหญ่เป็นตึกสองชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ บริเวณเนินหน้าผาห่างจากพระตำหนักปีกไม้ ประมาณ 500 เมตร และสร้างพระตำหนักที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นต่อมาไม่นานก็มีการสร้างพระตำหนักอีกหลังหนึ่งในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นที่ประทับ เป็นที่พักของข้าราชบริพาร และเป็นที่รับรองแขกและข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าฯ


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’

ในด้านของภูมิทัศน์โดยรอบพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ถือว่ามีความสวยงามและโดดเด่นด้วยธรรมชาตินานาชนิดที่ทรงปลูก ทำให้ประชาชนที่มีโอกาสได้เข้าไปชมพระตำหนักฯ มีความประทับใจ เนื่องจากลักษณะพื้นที่เป็นเชิงเนินชายเทือกเขาภูพานตอนกลางสามารถอาศัยสภาพผิวหน้าดินในการปลูกไม้ดอกและไม้ประดับได้เป็นอย่างดี โดยภายในพระตำหนักฯ ได้มีการแบ่งพื้นที่จัดสวนออกเป็น 5 รูปแบบ คือ 1.สวนรวมพันธุ์ไม้ 2.สวนแบบประดิษฐ์ 3.สวนแบบธรรมชาติ 4.สวนหินประดับประดา และ 5.สวนประดับหิน

ด้วยพื้นที่ของพระตำหนักฯ อยู่บริเวณเชิงเขา และมีอ่างเก็บน้ำอยู่ด้านบน จึงทำให้หน้าน้ำจะมีน้ำตกไหลผ่านบริเวณด้านข้างพระตำหนักฯ สร้างความสดชื่นให้กับพระตำหนักฯ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทั้งรถยนต์ส่วนตัวและการนำพาหนะเข้าชม ซึ่งก่อนเข้าชมสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่กองรักษาการเพื่อเข้าชมพระตำหนักชั้นนอกได้โดยสะดวก หากต้องการชมพระตำหนักชั้นในต้องติดต่อทางราชการ เพื่อขออนุญาตจากผู้ดูแลพระตำหนักฯเป็นการล่วงหน้า

อนันตสิทธิ์ ซามาตย์ ผู้อำนวยการพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ กล่าวว่า อาคารที่พักที่สร้างภายในพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างแบบประหยัด เรียบง่าย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะความตั้งใจของพระองค์ท่านในการสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ คือ การปลูกป่า เนื่องจากที่ดินผืนนี้เดิมทีเป็นป่าหัวโล้น พระองค์ท่านจึงอยากจะฟื้นฟูป่า ด้วยการสร้างพระตำหนัก เพื่อปลูกป่าและศึกษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ



นอกจากนี้ การสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ยังถือเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ที่อยู่บนเทือกขนภูพาน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่สีชมพู ซึ่งหลังจากสร้างพระตำหนักภูพานฯ แล้วเสร็จก็สามารถแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง

เส้นทางมะเขือเทศ ‘ดอยคำ'

ต่อมาปี 2523 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมา จ.สกลนคร อีกครั้ง เพื่อเยี่ยมราษฎรและหมู่บ้านนางอย-โพนปลาโหล ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร และครั้งนั้นเองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่แร้นแค้น ขณะเดียวกันก็ทรงค้นพบว่าหมูบ้านดังกล่าวถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศไทย จึงทรงมีพระราชดำริที่จะบรรเทาทุกข์และพัฒนาชาวบ้าน พร้อมกับแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ด้วยการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และ ศ.อมร ภูมิรัตน เข้าไปดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านแห่งดังกล่าว ด้วยการพระราชทานแนวทางว่า "ต้องปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนที่นี่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้ทุกคนมีรายได้ และหลังจากพัฒนาแล้วชาวบ้านต้องพัฒนาต่อได้ด้วยตัวเอง"

หลังจากพระราชทานแนวดังกล่าว ต่อมาหมู่บ้านนางอย-โพนปลาโหล ก็ได้มีการพัฒนาด้านสังคม เช่น การสร้างศูนย์เด็ก สถานีอนามัย การจัดทำธนาคารข้าว การซ่อมและสร้างวัด ขุดบ่อบาดาล และสร้างอ่างเก็บน้ำ ขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาอาชีพ เพื่อการสร้างงานในระยะยาว เช่น สอนการปลูกมะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน ไผ่ตง และมะละกอ เพื่อป้อนวัตถุดิบเข้าระบบอุตสาหกรรมเกษตรต่อไป


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’

เดิมทีประชาชนในหมู่บ้านนางอย จะมีอาชีหลัก คือ การทำนา แต่หลังจากมีโครงการเข้าไปช่วยสอนอาชีพการเพาะปลูกสินค้าเกษตรใหม่ๆ จนประชาชนมีความรู้ด้านการเพาะปลูกและมีผลผลิตทางการเกษตรออกมาค่อนข้างมาก ต่อมาในปี 2525 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งจัดตั้งโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 (เต่างอย) ขึ้นที่หมู่บ้านนางอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร เพื่อสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสร้าง "เส้นทางมะเขือเทศ" บริเวณลุ่มน้ำโขง พัฒนาคุณภาพชีวิตของเหล่าเกษตรกรในชุมชนนี้ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งหลังจากก่อสร้างโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 (เต่างอย) แล้วเสร็จ ต่อมาปี 2526 ได้เริ่มทำการผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นแบบกระป๋อง

ในปี 2537 ได้มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลภายใต้ชื่อบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร รวบรวมโรงงานทั้ง 3 แห่ง คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่ 1 ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ทำหน้าที่ผลิตน้ำมะเขือเทศสูตรเข้มข้นในรูปแบบขวด และสตรอเบอร์รี่อบแห้ง และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่ 2 ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ไว้ด้วยกันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เวลาผ่านไปหลายสิบปี จนกระทั่งถึงปี 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมชมโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ทรงทอดพระเนตรเห็นความเสื่อมโทรมของโรงงาน จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ทำการปรับปรุงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ขึ้นมาใหม่ ภายใต้แนวคิดที่ว่า "ชุมชนได้รับประโยชน์ และธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้"

ขณะเดียวกัน ก็มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้เข้ามาช่วยเสริม เนื่องจากมะเขือเทศมีผลผลิตระยะสั้น คือ ช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค.เท่านั้น จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เกษตรกรนำผลผลิตอื่นๆ ที่มีอยู่ในครัวเรือนไม่ว่าจะเป็นมะม่วง มะละกอ กระเจี๊ยบ หรือขิง นำมาแปรรูปเป็นผลไม้อบแห้งภายในโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 (เต่างอย) เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านนางอยได้มีอาชีพตลอดทั้งปี

 

 

สืบสาน ส่งต่อความยั่งยืน

จากความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนใน อ.เต่างอย ให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร มีแนวคิดที่จะจัดทำโครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ศาสตร์แห่งพระราชาออกมาในรูปแบบของการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนโดยรอบโรงงานหลวงแห่งที่ 3 (เต่างอย)

ทั้งนี้ ได้ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยสยาม และศิลปินท้องถิ่นกลุ่มสะกะละ จัดการอบรม และทำกิจกรรมต่างๆ ให้แก่เยาวชนในชุมชนเต่างอย จ.สกลนคร เพื่อให้สามารถนำความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริมาปรับใช้กับชุมชน ตลอดจนเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำให้แก่เยาวชน และสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและชุมชน

สำหรับโครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชนเต่างอยในปีนี้ คือเป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 3 แล้ว โดยในส่วนของกิจกรรมดังกล่าวได้มีการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบของการจัดโครงการยังคงมุ่งเน้นการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและชุมชน ด้วยการนำความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริต่างๆ มาปรับใช้กับชุมชนในรูปแบบ "ค่ายศิลปะเยาวชน"

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 40 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในพื้นที่ชุมชนเต่างอย และชุมชนบ้านยาง อ.เต่างอย จ.สกลนคร โดยในส่วนของเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้สีจากธรรมชาติภายในชุมชนเต่างอย พืชให้สีชนิดต่างๆ สีจากกากวัตถุดิบและเศษวัสดุเหลือใช้ของโรงงานหลวงแห่งที่ 3 (เต่างอย) เช่น ใบไม้ ดิน คราม กากกระเจี๊ยบแห้ง ครั่ง กากชา กาแฟ ใบสัก ใบกระถินณรงค์ เปลือกประดู่ เปลือกไม้แดง และมะเขือเทศเข้มข้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจะมีการนำสีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน เช่น การย้อมผ้า และการวาดลวดลายลงบนพื้นผิววัสดุต่างๆ ด้วยสีชุมชน พร้อมทั้งพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โปสต์การ์ดภาพพิมพ์ ผ้าพันคอ เข็มกลัดเซรามิก และต่อยอดการเรียนรู้เรื่องสีชุมชนและสีโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 (เต่างอย) จากกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอย ประจำปี 2558 ด้วยการพัฒนาฝีมือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่น และใช้งานได้อย่างเหมาะสม สร้างเสริมมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้จากโรงงานหลวงฯ และชุมชน

ตลอดระยะเวลาที่จัดทำโครงการดังกล่าวทุกครั้งที่จัดล้วนได้รับผลการตอบรับดีจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วม และรวมไปถึงเยาวชนในชุมชน โดยตลอดระยะเวลา 3 วันที่จัดกิจกรรมในปีนี้ เยาวชนจะได้เรียนรู้การนำดินในชุมชนมาปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อนำเป็นเครื่องปั้นดินเผาและงานเซรามิก รวมไปถึงทำสมุดทำมือ รวมไปถึงการย้อมสีผ้า และการย้อมคราม ซึ่งสีต่างๆ ที่นำมาย้อมผ้าจะเป็นพืชต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน เช่น ฝักคูน จะให้สีแดงอิฐ ใบหูกวางจะให้สีเทา ใบมะม่วงแก้ว และตะไคร้หอมจะให้สีเขียวอมเหลือง ครามฝักตรงจะให้สีฟ้าคราม เป็นต้น

แนวทางการพัฒนาแหล่งชุมชนต่างๆ ใน จ.สกลนคร ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศไทย เพราะนอกจากจะมีการสร้างแหล่งน้ำ ซึ่งภาคอีสานถือว่ามีแหล่งน้ำที่มีความแตกต่างไปจากทุกภาคแล้ว ยังมีการพัฒนาป่าไม้ พัฒนาอาชีพให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย

อีกหนึ่งพระราชดำริที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 ที่เกิดขึ้นใน จ.สกลนคร คือ การก่อตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เพื่อดำเนินงานในด้านชลประทาน งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่ทรุดโทรม งานส่งเสริมและพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการประมง งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ งานศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน อนุรักษ์ดิน และน้ำ งานส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน งานส่งเสริมการเกษตรด้วยการนำความรู้มาเผยแพร่ให้แก่เกษตรกร งานศึกษาและพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่างจัดระเบียบชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมไปถึงงานฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร

จากพระราชดำริดังกล่าวศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงทำหน้าที่เสมือนเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" (Living Natural Museum) เพื่อเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง สาธิต และการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมเป็นระบบบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อขยายผลสู่เกษตรกร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสามารถพึ่งพาตัวเองได้

จากบ้านพ่อที่สร้างขึ้นภูพาน นำมาสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่และเป็นต้นแบบในการพัฒนาอีกหลายพื้นที่ในภาคอีสานและภาคอื่นๆ พร้อมทั้งสืบสานศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่เยาวชน เพื่อความยั่งยืนสืบต่อไป ถือเป็นบ้านพ่อ ที่สร้างเพื่อลูกๆ โดยถ่องแท้


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’


เปิดบ้านของพ่อที่...‘ภูพาน’

Cr.posttoday


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์