เปิดภาพ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ”ช้างเผือกคู่พระบารมีพ่อ


มีความเชื่อกันมาแต่สมัยโบราณว่าช้างเผือก ถือว่ามีศักดิ์สูงเทียบชั้นเจ้าฟ้า และสัตว์ที่นิยมนำมาเลี้ยงคู่กัน มี 2 ชนิด คือลิงเผือกและกาเผือก ถือว่าเป็นสัตว์คู่บุญของช้างเผือก จะช่วยป้องกันสิ่งอวมงคลที่จะมาสู่ช้างเผือกได้ และหากมีเหตุใดๆเกิดขึ้นกับช้างเผือก จะเชื่อว่าเป็นลางร้าย

ในความเชื่อของไทย ช้างเผือก ถือว่าเป็นเครื่อง เชิดชูเกียรติประดับบารมีของพระมหากษัตริย์เมื่อมีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบารมีจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีสมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนามเป็น "พระยาช้างต้น หรือนางพระยาช้างต้น" และให้ยืนโรงช้างประจำพระราชฐาน

ตามตำราพระคชศาสตร์กำหนดลักษณะสำคัญ 7 ประการของช้างมงคลไว้ว่าจะต้องประกอบด้วย 1.ตาขาว 2.เพดานปากขาว 3.เล็บขาว 4.ขนขาว 5.พื้นหนังขาวหรือสีอ่อนๆ ออกแดงคล้ายหม้อใหม่ 6.ขนหางขาว 7.อัณฑโกสขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ ช้างที่มีลักษณะครบถ้วนเรียกว่า "ช้างสำคัญ"ส่วนช้างที่มีลักษณะมงคลไม่ครบเรียกว่า "ช้างประหลาด"หรือช้าง "สีประหลาด"

หากช้างมีหนังดำ มีงาลักษณะเหมือนปลีกล้วย และมีเล็บดำ เรียกว่า "ช้างเนียม"ซึ่งช้างทั้ง 3 ประเภทนี้ ถือเป็นช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ผู้ที่ครอบครองช้างประเภทใด จะต้องนำช้างนั้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นช้างทรงตามราชประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน โดยเรามักจะเรียกช้างทั้งหมดรวมๆ กันว่าเป็น "ช้างเผือก"

สำหรับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีการพบช้างเผือก 21 ช้าง ปัจจุบันเหลือเพียง 11 ช้าง โดยมีศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง รับหน้าที่ดูแลรวม 6 ช้าง เป็นเพศผู้ทั้งหมด ประกอบด้วย พระเศวตพาสุรคเชนทร์ พระเศวตศุทธวิลาส ทั้งสองช้างอายุ 28 ปี ส่วนอีก 4 ช้าง เป็นช้างที่ยังไม่ได้สมโภชขึ้นระวาง ประกอบด้วย ขวัญเมือง ยอดเพชร อายุ 27-28 ปี วันเพ็ญ และทองสุกอายุ 30 ปี

อีก 4 ช้าง อยู่ที่โรงช้างต้น ภายในเขตพระราชวังภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร เป็นช้างพังทั้งหมด คือ พระวิมลรัตนกิริณี พระศรีนรารัฐราชกิริณี พระเทพวัชกิริณี อายุ 28-29 ปี และพังมด อายุ 20 ปี ส่วนอีก 1 ช้าง เป็นช้างเผือกแรกที่ได้มาในรัชกาลที่ 9 คือ "พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ" คุณพระเป็นช้างพลายได้มาจาก จ.กระบี่ เมื่อพ.ศ.2499 ปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้นในพระราชวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์

กล่าวสำหรับช้างเผือกแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีชื่อว่า"พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ" ชื่อเต็มคือ พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิสุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ ประสิทธิ์รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิเลิศฟ้า

เป็นช้างพลายเผือกโท เกิดในป่าเขตจ.กระบี่ เมื่อปี พ.ศ.2494 ถูกคล้องได้ที่บ้านหนองจูด ต.ดินอุดม อ.ลำทับ จ.กระบี่ เมื่อปี พ.ศ.2499 โดยนายแปลก ฟุ้งเฟื่องและนายปลื้ม สุทธิเกิด เป็นลูกช้างติดแม่อยู่ในโขลงช้างป่า พร้อมกับช้างอื่นๆอีก 5 เชือกคือ พังสาคร พลายทอง พังเพียร พังวิไล และพังน้อย

พลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย(ในขณะนั้น)ได้นำช้างพลายแก้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้นและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำหนดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกประจำรัชกาล ณ โรงช้างต้นพระราชวังดุสิตเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนพ.ศ. 2502

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เติบโตขึ้นโดยการดูแลขององค์การสวนสัตว์ และดุร้ายมากขึ้นจนควาญช้างควบคุมไม่ได้ จึงต้องจับยืนมัดขาทั้งสี่ไว้กับเสา เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลทั่วไป กระทั่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวณีย์โปรดเกล้าฯ ให้นำพระเศวตฯเข้าไปยืนโรงในโรงช้างต้น ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ.2519 ซึ่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บันทึกไว้ว่า

"ในขณะที่นำคุณพระจากสวนสัตว์ดุสิตไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งเพียงแต่มีถนนคั่นอยู่สายเดียวนั้น คุณพระก็อาละวาดอย่างหนัก ไม่ยอมออกเดิน เอางวงยึดต้นไม้จนต้นไม้ล้ม จนแทบจะหมดปัญญาเจ้าหน้าที่กว่าจะนำคุณพระจากเขาดินไปถึงประตูสวนจิตรลดา ซึ่งมองเห็นกันแค่นั้นก็กินเวลาหลายชั่วโมง ในที่สุดก็นำคุณพระไปยังประตูพระราชวังได้ พอได้ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณพระราชวัง คุณพระก็เปลี่ยนไปทันที จากความดุร้ายก็กลายเป็นความสงบเสงี่ยม เดินอย่างเรียบร้อยไปสู่โรงช้างต้น และเข้าอยู่อย่างสงบเรื่อยมา"

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระเศวตฯ จากโรงช้างต้นสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต มายืนโรง ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม 2547 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2547

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ได้ล้มลง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2553 ณ โรงช้างต้น พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์


เปิดภาพ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ”ช้างเผือกคู่พระบารมีพ่อ


เปิดภาพ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ”ช้างเผือกคู่พระบารมีพ่อ


เปิดภาพ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ”ช้างเผือกคู่พระบารมีพ่อ

Cr.kaazip

เปิดภาพ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ”ช้างเผือกคู่พระบารมีพ่อ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์