เพียรสร้างความดี

เพียรสร้างความดี


ต่อไปนี้จะแสดงถึงเรื่อง สัมมัปปธาน ๔ “ ปธาน ” คือ ความเพียรที่จะทำคุณงามความดี การทำคุณงามความดีมีหลัก ๔ ประการ จึงเรียกว่า สัมมัปปธาน ๔ อันได้แก่


๑. ภาวนาปธาน
เพียรพยายามสร้างคุณงามความดี สร้างบุญกุศลให้เกิดมีขึ้นในตน

๒. อนุรักขนาปธาน คือ รักษาความดีที่สร้างขึ้นมาแล้วนั้นไว้อย่าให้ความดีนั้นเสื่อมสูญไป

๓. ปหานปธาน คือละความชั่วที่มีอยู่ในตัวของตน

๔. สังวรปรธาน ห้ามความชั่วที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้นอีก

อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ สร้างความดีให้มีขึ้นแล้วก็รักษาไว้ ความชั่วที่มีอยู่ให้ละเสีย แล้วห้ามไม่ให้ความชั่วอื่นเกิดขึ้นมาอีก


วันนี้อธิบายถึงข้อต้นเสียก่อน คือ ภาวนาปธาน คำว่า “ ภาวนา ” คือ การทำให้มันมีขึ้น เจริญขึ้น อย่างเช่นจิตของเราไม่เคยหัดให้มันเป็นสมาธิ เราก็หัดให้มันเป็นสมาธิให้เกิดมีขึ้นมาหรือจิตของเรายังไม่เคยละกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็มาหัดละ รวมความแล้ว ภาวนาปธาน คือ ความเพียรที่จะเจริญคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้นในตนทุก ๆ วิถีทาง ความดีทั้งหลายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ตน และคนอื่นก็พากันสร้างให้มันเกิดขึ้น การที่จะเอาใจใส่เจริญคุณงามความดีนั้นต้องเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ด้วยใจของตนเองเสียก่อน หากไม่เห็นคุณประโยชน์ด้วยใจของตนเอง แล้วจะไปบังคับให้สร้างขึ้นมานั้นไม่ได้โดยเด็ดขาด

ส่วนการสร้างความดีนั้นเกิดขึ้นในผู้มีจิตเป็นธรรมโดยเฉพาะแนวทางที่จะสร้างคุณงามความดีมีหลักอยู่ ๓ ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา

การทำทาน ในจิตคิดอยากจะสละ มีสิ่งใดไม่ว่ามากหรือน้อย ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด ไม่ว่าอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล หากมีมาแล้วก็พยายามที่จะสละ จาคะ ทำบุญทำทาน ถึงสิ่งนั้นยังไม่ทัน แต่เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ก็มุ่งมั่นอยากทำ มีความเพียรพยายามจะทำอยู่ตลอดเวลา ตั้งเอาการทำทานเป็นหลักเป็นประธานว่าเราจะทำทาน

การรักษาศีล ศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นของฆราวาส ศีล ๑๐ ศีล๒๒๗ เป็นของสามเณรและภิกษุ หากว่ารักษาศีลเพราะเห็นคุณประโยชน์ของศีล ตั้งใจงดเว้นจากโทษ ๕ ประการ โทษ ๘ ประการ เช่นนี้เป็นการสร้างคุณความดีไม่ได้ถือว่าศีลลงโทษทัณฑกรรมบีบบังคับให้เราเดือดร้อนเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าคนใดเห็นศีลเป็นเครื่องบีบบังคับลงโทษทัณฑกรรมให้เดือดร้อนเป็นทุกข์แล้ว คนนั้นจะรักษาศีลได้ยากที่สุด ถึงรักษาศีลก็สักแต่ว่ารักษาศีล ท่านเรียกว่า “ โคปาลศีล ” คล้าย ๆ กันกับว่าเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตอนเช้าก็ต้อนออกไปหากินหญ้าตามทุ่งนาตามที่ต่าง ๆ แล้วก็คอยแต่จะให้มันมืดค่ำจะได้ต้อนมาเข้าคอกเข้าแหล่ง การรักษาศีลโดยคอยที่จะให้เวลาผ่านไปเร็ว ๆ อยากให้พ้นวันพ้นคืน อย่างนี้ถึงเข้าไปอยู่วัดก็ไม่ได้เห็นคุณค่าประโยชน์ในการอยู่วัด เพราะจิตใจยังประหวัดอยู่ในบ้านอยากให้สว่างเร็ว ๆ จะได้กลับบ้านทำนองนี้เรียกว่ารักษาศีลเหมือนกับเลี้ยงวัวเลี้ยงความ ศีลแบบนี้ไม่บริสุทธิ์ แต่ถึงอย่างไรก็ยังเรียกว่าดีกว่าผู้ที่ไม่เคยรักษาศีลเลย

ส่วนผู้ที่เห็นชัดในใจว่าการรักษาศีลเป็นการงดเว้นจากโทษต่าง ๆ มิใช่เป็นการบีบบังคับให้เราเดือนร้อนเป็นทุกข์ ไม่ได้มัดมือมัดเท้า

ไม่ได้ผู้มัดรัดรึงแล้วเอาไปใส่ทุ่นใส่ตรวนไว้ แท้จริงการรักษาศีลนั้นคล้าย ๆ กับว่าสร้างกำแพง ๕ ชั้น ๘ ชั้น ไว้ป้องกันไม่ให้อันตรายมาทำร้ายเรา อุปมาเปรียบเหมือนเราเข้าไปในป่าลึกอันมีสัตว์ร้ายอันตรายต่าง ๆ มีเสือ เป็นต้น ไปค่ำมืดในป่าต้องค้างแรมกลางห้วย กลางทางที่เสือเคยจับคนไปกินหากว่าเราไปถึงที่เช่นนั้น แล้วมีคนมาทำห้องทำเรือนดี ๆ ไว้ให้เรานอนหรือกั้นกำแพงไว้ให้เรานอนจะ ๗ ชั้น ๘ ชั้น หรือ ๒๐ ชั้น อะไรก็ตาม สมมติว่ามีกำแพงกัน ๗ ชั้น (คนโบราณ แต่ก่อนภัย ก็ภาวนากำแพง ๗ ชั้น จะพ้นภัยอันตราย กำแพง ๗ ชั้น ก็ไม่ใช่อะไร พุทฺโธ เม นาโถ ธมฺโม เม นาโถ สงฺโฆ เม นาโถ อมฺหากํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งนั่นเอง) คนที่ไปนอนป่าอยู่นั้น ถ้ามีกำแพงกั้น ๗ ชั้นแล้ว นอนหลับสนิทที่สุดไม่กลัวอะไรเลย เช่นเดียวกันผู้ที่รักษาศีลโดยเห็นว่าศีลเป็นกำแพงป้องกันไม่ให้มีอันตราย ก็จะเกิดความสุขเมื่อมีศีลเกิดขึ้นในตน ศีลจึงเป็นปราการห้ามไม่ให้เราทำชั่ว

ฉะนั้น ถ้าเห็นว่าศีลเป็นปราการ เป็นกำแพงป้องกันตัวของเราไม่ให้ทำชั่วแล้ว เราก็มีศีลอยู่เป็นเครื่องอบอุ่นเย็นใจ ไปมาที่ไหน ๆ ก็เย็นใจ เมื่อเห็นสัตว์ที่เคยอยากจะฆ่าเขาเอามาแกงกิน มาทีหลังพอนึกอยากจะฆ่าขึ้นมาระลึกถึงศีลได้ ศีลเลยเป็นกำแพงปราการป้องกันไว้ไม่ให้ทำ ไม่ให้ล่วงละเมิด เห็นของเขาคิดอยากจะลักขโมยซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยลักเคยขโมยของเขาแย่งของเขามาพอเรามีศีลเป็นเครื่องอยู่ เราระลึกถึงศีลมันก็งดได้ นี่เบื้องต้น ศีลป้องกันเราแล้วจากประพฤติผิดมิจฉาจารไม่ว่าประการใด ๆ

ศีล ๘ ประการก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี ศีล ๒๒๗ ก็ดี ไม่ใช่ว่ามีเป็นเครื่องบีบบังคับให้เรากระดุกกระดิกไม่ได้หรือขยับตัวไม่ได้

ที่แท้จริงศีลเป็นกำแพงป้องกันเราไว้จากความชั่ว ๕ ชั้น ๘ ชั้น ๑๐ ชั้น ๒๒๗ ชั้น ต่างหาก ถ้าเราคิดได้พิจารณาได้อย่างนี้จะเป็น “ สีลานุสสติ ” ระลึกถึงศีลของตนอยู่ตลอดเวลา ศีลจะกลายเป็น ภาวนา ไปในตัวเป็นการบำเพ็ญคุณงามความดี ถ้าหากเข้าใจคุณประโยชน์และเห็นชัดในใจด้วยตนเองแล้ว การสร้างความดีนั้นง่ายไม่ต้องมีคนอื่นบังคับ ไม่ต้องให้คนใดคนหนึ่งตักเตือนว่ากล่าว แต่ถ้าเราไม่เห็นด้วยตนเอง ต้องให้คนอื่นคอยกำชับตักเตือนแนะนำหรือช่วยป้องกันอยู่ตลอดเวลานั้นมันเป็นเรื่องลำบาก หากยังไม่รู้ก็ยังไม่หมดหวัง เพราะทำไปด้วยความไม่รู้ เมื่อคนอื่นตักเตือนก็ยินดีพอใจ เปรียบเหมือนกับกำแพงที่มันพังลงไปสักแห่งหนึ่ง คนอื่นเขาเห็นเข้าก็เตือนว่าเสือจะเข้าไปตรงนี้แหละ เราเห็นแล้วเราก็รีบปิดเสียซ่อมแซมให้มันดี เมื่อทำผิดพลาดหรือทำความชั่ว คนอื่นหวังดีตักเตือนเข้าจะรู้สึกขอบคุณเขาอย่างยิ่งและตั้งใจทำดีต่อไป

ถ้าหากผู้ที่ยังไม่เห็นคุณประโยชน์ของการรักษาศีล รักษาหลบ ๆ หลีก ๆ ทำสักแต่ว่าทำ งดเว้นจากโทษนั้น ๆ เพราะกลัวคนอื่นจะเห็น ไม่ใช่เจตนาที่เป็นบุญเป็นกุศลจากใจไม่เห็นคุณประโยชน์ด้วยตนเองแท้ ๆ แบบนี้หากว่าได้โอกาสเข้าเวลาใดแล้วด้วยตนเองแท้ ๆ แบบนี้หากว่าได้โอกาสเข้าเวลาใดแล้วจะกล้าทำชั่ว คนที่ทำความชั่วจะเดือนร้อนในตัวของตน เรียกว่า ละจากความดีด้วยความชั่ว ถือเอาความชั่วเป็นความดีของตน ความชั่วนี่สกปรก ศีลไม่มีการสกปรก จะทำเมื่อใดใสสะอาดอยู่ตลอดเวลาสะอาดทั้งภายนอกภายใน

ผู้มีศีลธรรมรู้จักอ่อนน้อมเคารพนับถือ รู้จักกราบรู้จักไหว้ในสถานที่ควรกราบควรไหว้ เท่านี้มันก็งามขึ้นมาแล้วความงามอย่างนี้ประดับได้ในคนทั่วไปหมด

เป็นความงามลึกซึ้ง ส่วนสายสร้อยต่างหูหรือเครื่องประดับเพชรนิลจินดาเอามาประดับแวววาวไปทั้งตัวคนเข้าใจว่างาม ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่งามของคน แต่งามของเพชรพลอยต่างหาก เมื่อเอาของอันนั้นมาผูกไว้เลยเข้าใจว่าคนงาม ถ้าหากเราใช้ศีลเป็นเครื่องประดับ คือเรามีสัมมาจรยาวัตรระมัดระวังสังวร ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดมิจฉาจาร ท่านว่า สีล คนฺโธ อนุตฺตโร ศีลเป็นเหมือนยิ่งกว่าดอกไม้ของหอก มีกลิ่นฟุ้งขจรไปในที่ต่าง ๆ ดอกไม้ถึงจะหอมมันก็ไปตามลม มแต่ผู้มีศีลนั้นหอมทวนลม อยู่ใกล้หรืออยู่ไกลก็พยายามไปหา เหมือนแมลงภู่แสวงหาดอกไม้ไกลแสนไกลมันก็ไปเคล้ากินเกสรเอาไว้เป็นประโยชน์แก่ตน คนผู้เห็นคุณค่าของศีล ถึงแม้ว่าจะอยู่ในถิ่นฐานใด จะเอาศีลเป็นเครื่องประดับตนเองตลอดกาลดมกลิ่นของศีลหอมหวนชื่นอกชื่นใจอยู่ตลอดเวลา ศีลเป็นของหอมที่ผู้ไม่มีปัญญานั้นเหม็น เลยกลายเป็นของเหม็น นี่เป็นเรื่องการภาวนา คือเจริญความดีให้เกิดมีขึ้นในตน

เมื่อได้ฟังแล้วพากันจดจำนำเอาไปพิจารณาอีกทีหนึ่งจนเห็นชัดด้วยตนเองแล้วตั้งใจปฏิบัติโดยอาศัยความไม่ประมาท จะสามารถนำความสุขความเจริญให้เกิดมีแต่ตน

 

จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 5ฉบับที่ 57


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์