เมืองบาดาล สังขละบุรี


          วัดใต้น้ำ หรือ วัดวังก์วิเวการาม ในอดีต เมืองบาดาล สังขละบุรี กาญจนบุรี เป็นอีกสถานที่เที่ยวแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ต้องแวะเวียนไปสัมผัสกับความงดงาม ความอัศจรรย์ แฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์ ลวดลายแสนวิจิตรของวิหารแห่งเมืองใต้บาดาล จนถูกขนามให้เป็น Unseen Thailand

เมืองบาดาล สังขละบุรี


ทะเลสาบ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่กลางขุนเขา เทือกเขาตะนาวศรี เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำแควน้อย รอบๆ เขื่อนวชิราลงกรณ์มีสภาพเป็นป่าดิบรกทึบ อุดมสมบูรณ์และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด ส่วนใต้พื้นน้ำก็เต็มไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำอันทรงคุณค่า เช่น ปลากระสูบ ปลาแรด ปลาชะโด และปลายี่สก เป็นต้น นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางสู่ทะเลสาบเพื่อมาชมทัศนียภาพของทะเลสาบอันกว้างใหญ่ รวมทั้งพักค้างแรมในแพพักหรือรีสอร์ทริมอ่างเก็บน้ำ

โดยสามารถล่องเรือชมบรรยากาศสองริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งจะพบวิถีการดำเนินชีวิตของชาวมอญ และสามารถเห็นยอด เจดีย์พุทธคยาระหว่างการล่องเรือ ท่านยังสามารถล่องเรือชมสะพานมอญ ซึ่งเป็นสะพานไม้ยาว แนะนำให้ไปช่วง มี.ค.-เม.ย. เพราะระดับน้ำจะลดลงและสามารถเข้าไปชมโบส์ภายในวัดได้

ประวัติและความเป็นมา หลวงพ่ออุตตมะ และเมืองบาดาล

หลวงพ่ออุตตมะ หรือ พระครูอุดมสิทธาจารย์ สมณศักดิ์ล่าสุดคือ พระราชอุดมมงคล พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดวังก์วิเวการาม ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระภิกษุที่ได้ความเคารพเลื่อมใสในหมู่คนไทยเชื้อสายมอญ เป็นพระนักเดินธุดงคกรรมฐาน ออกเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญธรรมอยู่บนเขา หลายครั้งเป็นเวลานาน

หลวงพ่ออุตตมะ เดิมชื่อ เอหม่อง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 ที่หมู่บ้านโมกกะเนียง ตำบลเกลาสะ อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า เป็นบุตรคนโตในจำนวน 12 คน ของนายโง และนางทองสุก หลังเรียนหนังสือจบจากพม่าเมื่ออายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเกลาสะ ได้ศึกษาภาษาบาลี และพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมโท อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเกลาสะ ได้รับฉายาว่า อุตตมรัมโภ แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด โดยได้ตั้งเจตจำนงที่จะบวชไม่สึกจนตลอดชีวิต

เมื่อ พ.ศ. 2475 อุตตมรัมโภภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดปราสาททอง อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง ต่อมา พ.ศ. 2484 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า ที่สำนักเรียนวัดสุขการี อำเภอสะเทิม จังหวัดสะเทิม อุตตมรัมโภภิกขุจึงได้เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดตองจอย และวัดป่าเลไลยก์ จนมีความรู้ความสามารถในเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนวิชาไสยศาสตร์และพุทธคมเป็นอย่างดี และชอบออกเดินธุดงค์ไปตามที่ต่างๆในประเทศพม่า อุตตมรัมโภภิกขุเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกทางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2486 โดยเดินธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอก ก่อนจะออกธุดงค์ไป แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย น่าน กาญจนบุรี

เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศพม่าขณะนั้น อุตตมรัมโภภิกขุจึงเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้งทางหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีคนมาแจ้งข่าวว่าที่สังขละบุรีมีชาวมอญจากบ้านเดิมของท่าน อพยพเข้าเมืองไทย และต้องการนิมนต์ท่านไปเยี่ยม ท่านได้พบกับชาวมอญที่อพยพมาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง และพาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง ถือเป็นจุดกำเนิดของชุมชนชาวมอญในสังขละบุรี


เมืองบาดาล สังขละบุรี


ในปี พ.ศ. 2499 หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้พร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ เพราะมีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ในปี พ.ศ. 2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อว่า วัดวังก์วิเวการาม ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอวังกะ ในวัดมีการก่อสร้างเจดีย์จำลองแบบจาก เจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2518 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2529

ต่อมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเมื่อกักเก็บน้ำในปี พ.ศ. 2527 น้ำในเขื่อนเขาแหลมจะท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งหมู่บ้านชาวมอญ ทางวัดจึงได้ย้ายมาอยู่บนเนินเขาในที่ปัจจุบัน โดยทางราชการได้ช่วยเหลือในการอพยพผู้คนซึ่งมีอยู่ราว 1,000 หลังคาเรือน บนพื้นที่ 1,000 ไร่เศษ ส่วนบริเวณวัดหลวงพ่ออุตตมะเดิม ปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำ และมีชื่อเสียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว Unseen Thailand เป็นที่รู้จักในชื่อว่า วัดใต้น้ำ สังขละบุรี



เมืองบาดาล สังขละบุรี



สถานที่น่าสนใจใกล้เคียง

- สะพานมอญ
สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตมานุสรณ์ เป็นสะพานไม้สูงจากพื้นน้ำ ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยมีความยาวถึง 850 เมตร เพื่อให้สามารถข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปมา ระหว่าง สังขละ และฝั่งหมู่บ้านชาวมอญ เป็นจุดชมวิวทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณที่สวยงาม สามารถมองเห็นลำห้วยสายต่างๆ คือ ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ที่ไหลมารวมกันเป็นสามประสบ (ถ้าเป็นไปได้ให้ไปช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะได้ชมวิถีการเล่นน้ำสงกรานต์แบบชาวมอญ ณ สะพานมอญ)

- เจดีย์พุทธคยา จำลอง
หลวงพ่ออุตตามะ ได้สร้าง เจดีย์พุทธคยา จำลองขึ้น เพื่อประดิษฐาน กระดูกนิ้วมือของพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชน ณ วัดวังวิเวการาม

- วัดวังก์วิเวการาม ( วัดหลวงพ่ออุตตมะ )
อยู่ใกล้ๆ กับเจดีย์พุทธคยา มีวิหารริมแม่น้ำประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงาม และเป็นที่จำพรรษาของ หลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งประชาชนชาวไทย ชาวมอญ รวมทั้งกระเหรี่ยง และ พม่า ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเคารพนับถือ จากบริเวณ วัดวังก์วิเวการาม สารีริกธาตุ

การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่าน จ.นครปฐม ขับมาประมาณ 9 กม. จะพบสะพานลอยข้ามไปทาง จ.กาญจนบุรี
ขับไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ขับมาประมาณ 7 กม. ท่านจะพบสี่แยก ให้ท่านเลี้ยวขวา ( แยกซ้ายไปบ้านโป่ง ตรงไปคือถ้ำค้างคาว) เพื่อไปยัง อ.เมืองกาญจนบุรี
จากนั้นมุ่งหน้าสู่สี่แยกแก่งเสี้ยน ให้ขับไปทาง อ. ทองผาภูมิ ซึ่งจะผ่านทั้งไทรโยคน้อย และไทรโยคใหญ่ ( หลักกิโลเมตรที่ 125 ทางหลวงหมายเลข 323 ) ท่านจะพบสามแยก ( ตรงไปไปอำเภอทองผาภูมิ + เขื่อนเขาแหลม ถ้าเลี้ยวขวาไปอำเภอสังขละบุรี )
ให้ท่านเลี้ยวขวามือไป สังขละบุรี ซึ่งท่านจะผ่าน น้ำตกเกริงกะเวีย+น้ำตกไดช่องถ่อง ผ่านอช.เขื่อนเขาแหลม
เมื่อไปถึงแยกด่านเจดีย์สามองค์ ท่านไม่ต้องเลี้ยวขวา ให้ขับตรงไป วัดวังก์วิเวการาม หรือ เจดีย์พุทธคยา จำลอง (ที่นี่ท่านสามารถติดต่อเรือนำเที่ยวได้)


เมืองบาดาล สังขละบุรี


เมืองบาดาล สังขละบุรี


ขอบคุณข้อมลจาก  thailandez.com
ภาพสวยๆจาก teeteawthai.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์