เมื่อเด็กก้าวร้าว

เมื่อเด็กก้าวร้าว


ในทางชีววิทยา ความก้าวร้าวอาจถือได้ว่า 
เป็นสัญชาต ญาณชนิดหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ซึ่งช่วยในการอยู่รอดทำนองเดียวกับความง่วง ความหิว มีทั้งความก้าวร้าวที่เป็นการตอบสนองจากสิ่งกระตุ้นภายนอกที่ถูกแปลว่า อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง ต่อคนหรือสิ่งที่ตนรักผูกพัน หรือรู้สึกเป็นเจ้าของ อย่างในสุนัขหรือสัตว์ผู้ล่าต่าง ๆ อาจเป็นอาณาเขตทำมาหากิน หรือมาจากภาวะอารมณ์ ความคิด หรือการทำงานที่ไม่ปกติ หรือบกพร่องของสมองภายในของสิ่งมีชีวิตนั้นเองก็ได้
 
แต่การที่เราเชื่อว่า ความเป็นมนุษย์จะสูงส่งเหนือสัตว์ทั้งหลายเนื่องจากการรู้จักคิดอ่าน ทำให้มนุษย์มองความก้าวร้าวเป็นเรื่องที่ไม่ควรเหลือเชื่ออยู่เลย เชื่อว่า ความคิดระดับมนุษย์สามารถยับยั้งหรือได้ทำลายความก้าวร้าวหมดไปจากสายพันธุ์แล้ว คล้ายกับเชื่อว่า รถดีจะไม่ปล่อยไอเสีย หากเรานำ 2 แนวคิดนี้มาผสมผสานกันและนำมาพิจารณาพฤติกรรม หรืออารมณ์ของเด็ก ของคนรอบข้าง หรือแม้แต่กับของตนเอง อาจทำให้เราได้   เข้าใจพิเคราะห์ ความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หลากหลายขึ้น
 
เด็กไม่ใช่ผ้าขาวแบบ เกิดมาไม่มีอะไรติดตัวมาเลย เพราะอย่างน้อยการเป็นผ้าขาวก็เกิดจากการถักทอใยผ้า มาก มาย แน่นอน เขามีสัญชาตญาณต่าง ๆ ที่สืบทอดมาหลายหมื่นหลายแสนปีติดมา และร่วมกับ กรรมพันธุ์ของพ่อแม่วงศาคณาญาติก็รวมอยู่ในเส้นใยที่ว่าขาวเหล่านั้นด้วย คงสังเกตได้ว่า พ่อหรือแม่ที่ก้าวร้าวมีโอกาสที่ลูกไม้จะหล่น กลิ้ง อยู่แค่ใต้ต้นมากกว่าพ่อแม่ที่สงบ ๆ นิ่ง ๆ สิ่งเหล่านี้อาจเห็นได้ตั้งแต่เป็นเด็ก โดยที่อาจยังไม่ได้เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่เลยก็ได้
 
ความก้าวร้าวเริ่มต้นของเด็กแรกเกิดอาจเป็นการแสดงการโกรธ หงุดหงิด ร้องไห้ เมื่อหิว เมื่อหนาวร้อน เมื่อเปียกเปื้อน เมื่อโตขึ้นอีกนิด ความก้าวร้าวอาจเห็นได้ไม่ใช่แค่เพื่อเอาชีวิตรอด แต่เกิดเมื่อไม่พอใจ ไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งชนิดของเรื่องราวที่มากระตุ้นและดีกรีของความก้าวร้าวจะต่างกันไปตามอายุของเด็ก เช่นเด็กเล็กการห้ามเอาของใส่ปาก ห้ามเดินไปใกล้บันได ก็น่าขัดใจแล้วในขณะที่เด็กโตหรือวัยรุ่น อาจเป็นเรื่องอยากได้มือถือ อยากเล่นเกม อยากไปไหนกับเพื่อน ซึ่งจะดูซับซ้อนมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่ขัดใจ ขัดอิสรภาพ แต่มีเรื่องของหน้าตาในสังคมมาแจมด้วย
 
เด็กบางคนที่ก้าวร้าวได้ง่าย รุนแรงหรือบ่อยกว่าคนอื่น อาจมีเหตุมาจากภายนอกคือ การได้เห็น หรือเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่าง ๆ มา ซึ่งอาจจะมาจากทั้งในบ้าน ในโรงเรียน (อาจเป็นระดับเพื่อนแกล้งกัน ไม่ว่าถูกลงมือลงไม้ ถูกไถเงิน ข่มขู่ให้ทำเรื่องต่าง ๆ หรือกีดกันรังเกียจไม่ให้คบเข้ากลุ่ม หรือระดับนานาชาติ แบบยกโรงเรียนตีกันเป็นประเพณี) หรือจากสื่อต่าง ๆ ที่มักอ้างว่าเรื่องจริงต้องสื่อให้อ่าน หรือเห็นสะใจ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แบบคนมายิงจ่อหัวกัน รุมตีกระทืบกัน หรือรูปอาชญากรรม แย่งแฟน เลือดสาดหัวขาด ซึ่งไม่ควรเสนอฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือลงภาพตีพิมพ์
 
เด็กอีกพวกอาจก้าวร้าวง่ายจากเหตุภายในเอง
เช่นมีโรคไม่สบายเรื้อรัง ต้องกินยาหลายตัว ที่ทำให้พฤติกรรมรุนแรงขึ้นโดยตรง หรือถูกห้ามทำกิจกรรมต่าง ๆ จนไม่เหมือนเพื่อนเพราะกลัวป่วยมากขึ้น อย่างหอบหืด ไซนัส ลมชัก โรคทางสมองหรือโรคของต่อมไทรอยด์ ก็อาจเป็นเหตุของความก้าวร้าวได้ อย่างโรคพัฒนาการล่าช้าชนิดต่าง ๆ โรคชัก สมองอักเสบ เป็นต้น
 
เหตุภายในจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซนสมาธิ  สั้นโรคอารมณ์แปรปรวน ก็พบได้ว่าเป็นสาเหตุที่พบบ่อย ของเด็กที่ก้าวร้าวได้บ่อย ๆ ทั้งจากตัวเองหรือไปแหย่เพื่อนเรื่อย ๆ เพื่อนเอาคืนก็เอาคืนหนักกว่า
  
บ่อยครั้งที่ความก้าวร้าว เกิดจากความกังวลหรือไม่สบายใจ ตัดสินใจไม่ได้ของเด็กเอง เช่น กังวลกับอนาคต การสอบ ท่าทีของเพื่อน ความคาดหวังต่อตัวเอง หรือจากพ่อแม่ครูหรือเพื่อน การบอกเด็กว่า “โกรธเพื่อนแล้วอย่ามาพาลแม่นะ” คงไม่ช่วยให้เขาหายพาล ที่แย่ที่สุดก็คือความก้าวร้าวอันเกิดจากการไปใช้สารต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีใครรับว่าตัวติด อย่างเหล้า ยากระตุ้นหลอนประสาทต่าง ๆ อันดาษดื่น
 
ที่เขียนมาตั้งเยอะก็เพื่อจะบอกว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องอาศัยความช่างสังเกต ถามไถ่ อยากบอกอีกว่า ความรุนแรงไม่อาจแก้ด้วยความรุนแรง แบบทำสงครามเพื่อหยุดสงคราม เพราะจะได้ผลแค่ช่วงสั้น ๆ นึกดี ๆ ก่อนว่า เด็ก ๆ ที่ก้าวร้าวอาจมีเหตุมาจากอะไรที่เล่าให้ฟังมาแล้วได้บ้าง หลายครั้งที่ความก้าวร้าวนี้เกิดจากหลายเหตุรวม ๆ กัน
 
เด็กเล็กที่ก้าวร้าวโดยพื้นฐาน เหมือนเกิดมาเป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว ต้องอาศัยตลิ่งร่องน้ำ การเลี้ยงดูควบคุมที่ หนักแน่น แน่นอน และสม่ำเสมอ ไม่ใช่เปลี่ยนตามอารมณ์  หาทางให้เขาใช้ความแรงของเขาไปในทางที่สังคมยอมรับ อาจเปลี่ยนพื้นของเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็รู้จักควบคุมและใช้มัน คนที่ไปแล่นเรือในสายน้ำเชี่ยวนี้ก็ต้องรู้วิธีและธรรมชาติจังหวะขึ้นลงของน้ำ
 
โรงเรียนก็อย่าคิดแค่ว่า เรื่องของเด็กรังแกกันธรรมดา ๆ แค่สอนหนังสือให้ครบก็แย่แล้ว การปล่อยให้มีการรวมกลุ่มนักเรียนแบบอิสระอาจนำความเสียหายมาสู่โรงเรียนได้
 
ถ้ามีโรคก็ต้องรักษา ถ้าติดยาก็ต้องบำบัด อย่าไปปฏิเสธความจริง ถามจากหมอเด็กหรือจิตแพทย์เด็กได้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์