เรียนดนตรีอาจช่วยพัฒนาความทรงจำระยะยาว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฮีคยอง ปาร์ก นักจิตวิทยา และ เจมส์ เชฟเฟอร์ นักศึกษาปริญญาโท ได้ใช้เครื่องวัดการนำไฟฟ้าที่ศีรษะ (electroencephalography) หรือเครื่อง EEG ทำการวัดกิจกรรมในสมองของนักดนตรี 14 คน และคนทั่วไป 15 คน และได้ค้นพบว่า สมองส่วนหน้าและสมองส่วนกลางเยื้องไปทางหลังของนักดนตรีกับคนที่ไม่ใช่นักดนตรีนั้นมีความแตกต่างกัน

การศึกษาครั้งนี้ถูกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ Neuroscience 2014 อันเป็นงานประชุมของสมาคมประสาทวิทยา ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกาในวันที่ 18 พฤศจิกายน

"เราทราบกันดีว่าคนที่เรียนดนตรีจะมีความสามารถด้านการประมวลผลภาษาเร็วกว่าคนที่ไม่ได้เรียนมาในระดับไม่ถึงวินาที งานวิจัยก่อนหน้าชี้ว่านักดนตรีมีความทรงจำทำงานที่ดีกว่า" ผศ.ปาร์กเผย

"สิ่งที่เราอยากจะรู้ก็คือ คนที่เรียนดนตรีกับไม่ได้เรียนจดจำรูปภาพได้ดีเช่นเดียวกับคำพูดหรือไม่ และถ้ามองในเรื่องความทรงจำระยะยาว จะทำได้ดีกว่าหรือไม่ ซึ่งถ้าจริง เราก็อาจจะนำข้อดีเหล่านี้ไปใช้กับคนที่มีปัญหาเรื่องการรู้จำได้"

ทีมวิจัยของ ผศ.ปาร์ก ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้ใช้เครื่องถ่ายภาพเทคโนโลยีชั้นสูง เครื่อง EEG เครื่องถ่ายภาพสมองแม่เหล็ก (fMRI) และเครื่องถ่ายภาพช่วงใกล้อินฟราเรด (fNIRS) ในการศึกษาเรื่องประสาทวิทยาการรับรู้ของมนุษย์

ในการทดสอบความทรงจำทำงานนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องตอบคำถามว่าภาพหรือคำที่เคยให้ไปนั้นคือตัวเลือกไหน ซึ่งแต่ละตัวเลือกก็จะดูคล้ายๆ กันมาก ส่วนการทดสอบความทรงจำระยะยาวนั้น เมื่อการทดลองก่อนหน้าได้จบลงหมดแล้ว ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องตอบอีกชุดหนึ่งว่า ภาพใหม่หรือคำใหม่ต่างๆ ที่กำลังแสดงต่อไปนั้น เป็นอันใหม่หรือว่าเคยถูกถามไปแล้ว

สำหรับผู้ที่เรียกว่าเป็นนักดนตรีนั้นคือคนที่เล่นดนตรีคลาสสิคมานานกว่า 15 ปี ผลการวิจัยพบว่า นักดนตรีมีการตอบสนองเชิงประสาทในส่วนของงานที่ต้องใช้ความทรงจำทำงาน วัดได้ด้วย EEG ที่ดีกว่าคนที่ไม่ใช่นักดนตรี และในความทรงจำระยะยาว พบว่า นักดนตรีจดจำภาพได้ดีกว่าคนที่ไม่ใช่นักดนตรี แต่สำหรับการจดจำคำนั้นให้ผลไม่แตกต่างกันนัก

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผศ.ปาร์ก เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่นักดนตรีจะสามารถปรับตัวให้จัดเก็บภาพได้ดีกว่า เพราะมันคล้ายๆ กับการที่พวกเขาจำเพลงนั่นเอง

ในบทคัดย่อที่ ผศ.ปาร์ก เสนอมาในที่ประชุมวิชาการนั้นเผยว่า นักดนตรีจะมีการตอบสนองเชิงประสาทที่ดีกว่าโดยเฉพาะในส่วนของสมองส่วนหน้า ซึ่งสามารถตอบสนองได้เร็วกว่าคนที่ไม่ใช่นักดนตรีถึง 300-500 มิลลิวินาที และสมองส่วนกลางค่อนไปทางหลังก็มีการตอบสนองที่ดีกว่า 400-800 มิลลิวินาที โดยสมองส่วนกลางค่อนไปทางหลังนี้ถือว่าอยู่ตรงข้ามกับสมองส่วนหน้า มีความสำคัญต่อการประมวลผลการรับรู้ ความตั้งใจ และความทรงจำนั่นเอง

"ผลงานวิจัยของ ดร.ปาร์ก ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดในการเปิดเผยถึงการรับรู้ของมนุษย์ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่เข้าถึงไม่ได้" เจมส์ โกรเวอร์ รักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส อาร์ลิงตันเผย "เราได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับข้อดีของการศึกษาศิลปะ"

นักวิจัยก็หวังว่าจะสามารถทดสอบนักดนตรีได้มากกว่านี้เพื่อให้งานวิจัยนี้น่าเชื่อถือขึ้น

ผศ.ปาร์ก เผยว่า งานวิจัยชิ้นใหม่นี้สำคัญเพราะเพลงนั้นสามารถช่วยให้ความทรงจำระยะยาวของสิ่งที่ไม่ใช่คำพูดดีขึ้นมาได้ ซึ่งทุกวันนี้เราก็เจอกับการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูดอยู่ค่อนข้างมาก

"งานของเราเป็นการเพิ่มหลักฐานที่ว่า การเรียนดนตรีและการซ้อมดนตรีน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับรู้ได้" ผศ.ปาร์ก เผย


ที่มา : vcharkarn.com

เรียนดนตรีอาจช่วยพัฒนาความทรงจำระยะยาว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์