เรียนรู้อาหารฟังก์ชัน สร้างเสริมสุขภาพ

เรียนรู้อาหารฟังก์ชัน สร้างเสริมสุขภาพ


วิถีชีวิตยุคนี้ต้องปรับตัวให้ทันกระแส จนบางครั้งอาจละเลยการเลือกสรรอาหารที่มีประโยชน์ บางคนงดอาหารเช้า รับประทานอาหารผิดเวลา และรับประทานหนักในมื้อเย็นหรือดึก เป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งองค์ประกอบหลักในอาหารแบ่งได้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสารอาหาร และส่วนที่ไม่ใช่สารอาหาร องค์ประกอบทั้งสองมีความสัมพันธ์ต่อการป้องกัน และช่วยส่งเสริมการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น

                     
ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ชมรมโภชนวิทยามหิดล บอกว่า กระแสอาหารเพื่อสุขภาพ ส่งผลให้นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร แพทย์ เภสัชกร ฯลฯ หันมาทำการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ทำให้เกิดการค้นพบคุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาของอาหารมากขึ้น

                     
“อาหารฟังก์ชันนอล (Functional food) ก็คือ อาหารหรือสารอาหารชนิดใดๆ มีอยู่ในรูปธรรมชาติหรือที่ถูกแปรรูปไปเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากสารอาหารซึ่งรับประทานกันในชีวิตประจำวัน โดยประโยชน์ของอาหารดังกล่าวก็คือ ใช้รับประทานร่วมกับมื้ออาหารได้ และให้ผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในการป้องกันโรค เพิ่มภูมิคุ้มต้านทาน ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายและส่งเสริมสุขภาพ สำหรับอาหารที่ถูกปรับเปลี่ยนไป รวมทั้งอาหารที่ถูกเสริมด้วยสารพฤกษเคมี หรือสมุนไพร เพื่อเพิ่มคุณค่าและคุณประโยชน์ให้แก่อาหาร ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทอาหารฟังก์ชันด้วยเช่นกัน" ผศ.ดร.เอกราช กล่าว


เรียนรู้อาหารฟังก์ชัน สร้างเสริมสุขภาพ

ผศ.ดร.เอกราช อธิบายว่า อาหารที่เป็นฟังก์ชันนอลมีหลายประเภท
 
เช่น พรุน นอกจากจะให้วิตามิน เกลือแร่และใยอาหารที่ช่วยระบายท้องแล้ว ยังอุดมด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ได้แก่ กรดนีโอโคลโรเจนนิค และกรดโคลโรเจนนิค ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

มะเขือเทศ มีสารไลโคพีน ที่เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งให้ผลในการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก และทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ
 
งา เป็นแหล่งของแคลเซียมและยังมีสารเซซามิน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในกระบวนการกำจัดสารพิษ

โสม มีสารที่ทำให้ร่างกายมีการปลดปล่อยพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความเมื่อยล้า ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้สามารถอดทนต่อความเครียดได้

น้ำมันปลา ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง หรือโอเมก้า 3 ที่สามารถลดระดับไขมัน ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

                     
แม้แต่ซุปไก่สกัดก็ให้โปรตีนและสารไบโอเปปไทด์ คนจีนเชื่อว่าช่วยในการสร้างเลือด ผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 20 ชิ้น พบว่า ซุปไก่สกัดเป็นอาหารฟังก์ชันที่ช่วยในการบำรุงสุขภาพ มีผลต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารและการใช้พลังงานในร่างกาย ช่วยลดความเครียด เสริมสมาธิและการเรียนรู้ ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า และช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

                     
"อาหารที่ย่อยง่าย เช่น เห็ดต่างๆ รวมทั้ง “เห็ดทางการแพทย์” ได้แก่ เห็ดไมตาเกะ เห็ดหลินจือ เห็ดยามาบูชิตาเกะ เห็ดชิตาเกะ เป็นต้น ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ให้ประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึง “รังนกแอ่นกินรัง” ที่ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า จะช่วยบำรุงหยินที่ปอด ช่วยให้ชุ่มชื่น เสริมธาตุน้ำที่หลอดเสียงและหลอดลม บรรเทาอาการอักเสบของผิวหน้าและแผ่นหลัง เพิ่มความแข็งแรงให้ไต ม้าม รวมถึงช่วยลดพลังหยาง ส่งผลให้ผิวพรรณดี มีอายุยืน" ผู้เชี่ยวชาญโภชนาการ แนะ

                     
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดต้องเข้าใจว่า อาหารฟังก์ชันนอลไม่ใช่อาหารหลัก จึงไม่สามารถทดแทนอาหารหลักได้

สิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ การรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพียงพอ และเหมาะสม หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำร้ายร่างกาย เพื่อการส่งเสริมให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์