เรื่องเพศที่คุยกันได้กับวัยแรกรุ่น

เรื่องเพศที่คุยกันได้กับวัยแรกรุ่น

การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเพศของตนชัดเจนขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทั้งส่วนสูง น้ำหนัก รูปหน้า สัดส่วนของร่างกาย

รวมทั้งการทำงานของระบบอวัยวะในเกือบทุก ๆ ส่วน ในเจริญเติบโต เด็กแต่ละคนมีการเจริญเติบโตต่างกัน บางคนโตเร็วในช่วงแรก หรือหลายคนดูเป็นเด็กนานกว่าคนอื่นแล้วจึงมาโตอย่างรวดเร็วภายหลัง จากการที่ฮอร์โมนเพศถูกผลิตสูงขึ้น ทำให้อวัยวะเพศทั้งในและนอกร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพศหญิงเริ่มมีประจำเดือน และหน้าอก เพศชายจะมีลูกอัณฑะเติบโตและทำงานเต็มที่จึงสามารถพบภาวะฝันเปียกได้ มีขนขึ้นตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย


ช่วงนี้วัยรุ่นจะใช้เวลาสังเกตความเปลี่ยนแปลงในตนเองและสำรวจตนเองได้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และเป็นขั้นตอนการเรียนรู้และทำความคุ้นเคยของตนเองและนำไปสู่การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงของวัยแรกรุ่น จึงควรมีการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวไปสู่ในวัยรุ่น และผู้ปกครองควรเป็นผู้สอนและให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของวัยรุ่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพฤติกรรมทางเพศ


จากรายงานสำรวจของสถาบันประชากรและสังคมร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ.2546 พฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นในประเทศไทยพบว่า อายุเฉลี่ยของวัยรุ่นที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกคือ อายุ 16 ปี  และจากข้อมูลของ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ในรอบปี 2548-2549 ในเด็กมัธยมถึงอุดมศึกษา พบว่ามีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 16 เป็น ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา และในกลุ่มนี้ร้อยละ 30 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ในขณะที่การแต่งงานช้าลงโดยเฉลี่ยอายุ 24 ปี  จะเห็นได้ว่าช่องว่างที่เกิดขึ้นจากค่าเฉลี่ยของการเริ่มมีเพศสัมพันธ์กับการแต่งงานราว  8 ปีนี้ สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์มากขึ้นและยาวนานขึ้นและเป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบขาดความรับผิดชอบ (sex without responsibilities) หรือสังคมยังไม่ยอมรับ โดยมีปัจจัยที่เป็นเหตุกระตุ้นหลายประการ เช่นการเข้าวัยรุ่นที่เร็วขึ้น การกระตุ้นโดยสื่อที่ไม่เหมาะสม ทำให้ปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์และผลของการกระทำทวีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น เห็นได้จากการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นหรือฝ่ายชายทิ้งไป ปล่อยให้ฝ่ายหญิงแบกรับภาระและความเครียดทั้งหมด


การทำแท้งเถื่อนที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่จากการรายงานภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งเถื่อนของโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้คะเนได้ว่าในแต่ละปีมีวัยรุ่นที่ทำแท้งประมาณ 2-3 แสนรายต่อปี นอกจากนี้มารดาวัยรุ่นที่เครียดและหาทางออกของตนเองไม่ได้ก็ทิ้งลูกหรือทำร้ายลูก เช่น ฆ่าลูกโดยปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 30 รายต่อปี  การให้องค์ความรู้ ทักษะและการปฏิบัติพฤติกรรมทางเพศหรือเพศศึกษายังไม่เข้มแข็ง โดยพบว่าเพศศึกษาในวัยรุ่นเริ่มช้าอายุเฉลี่ยราว 14 ปี ในขณะที่วัยรุ่นได้ข้อมูลส่วนใหญ่จากเพื่อน และสื่อเช่นอินเทอร์เน็ต ประมาณร้อยละ 60 


จากผลสำรวจดังกล่าวอาจมีความเป็นไปได้ว่า การเตรียมความพร้อมในวัยแรกรุ่นของวัยรุ่นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมได้ไม่ดีนัก หรือการปรึกษากับผู้ปกครองก็อาจมีส่วน จึงก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรและไม่รู้จักวิธีป้องกัน จนกระทั่งเกิดการทำแท้ง เพราะวัยรุ่นได้รับข้อมูลจากเพื่อน และสื่ออินเทอร์เน็ต เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ผู้ปกครองควรเปิดใจให้กว้างในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องเพศกับบุตรหลาน พยายามชวนลูกเข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพฤติกรรมทางเพศ



ที่มา: น.ส.ธันยาภัทร์ ทิพย์ปภัสศิริ เรียบเรียงจากข้อมูลแผนงานสุขภาวะทางเพศ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์