เลี้ยงเด็กแบบพุทธ

เลี้ยงเด็กแบบพุทธ


เลี้ยงเด็กแบบพุทธ

พระเทพเวที (ประยุทธื ปยุตฺโต)


              การเลี้ยงเด็กเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ความใกล้ชิด ความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็ก ถ้าเด็กไม่ได้สิ่งที่ว่านี้จากพ่อแม่ เด็กก็ต้องแสวงหา เมื่อไม่ได้จากทางที่ถูกต้อง ก็จะเป็นแรงสะท้อนให้เกิดผลเสียขึ้นมาได้ นี้เป็นหลักการเบื้องต้น ปัจจุบันนี้ ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ไม่ค่อยได้ใกล้ชิดลูก ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐาน แล้วต่อจากนั้นก็เกิดเป็นปัญหาอื่น ๆ ขยายตัวออกไป


              พ่อแม่นั้น ตามหลักพระศาสนา เรียกว่า บุพพาจารย์ คือเป็นอาจารย์คนแรกหรืออาจารย์ต้น ถ้าเด็กได้รับความพึงพอใจจากพ่อแม่ดีแล้ว เด็กก็ไม่มีปัญหา ไม่ต้องหาสิ่งชดเชย แกก็จะมีความเต็มอิ่มสมบูรณ์ การเจริญเติบโตก็ดีขึ้นด้วย


              แต่เวลานี้พ่อแม่โดยมากปัดภาระรับผิดชอบไปให้ครู ครูเองก็มีปัญหามาก ไม่สามารถจะมาใกล้ชิดเอาใจใส่กับเด็กมากนักทำให้เกิดปัญหาว่าทางบ้านก็ไม่ได้ผลดี มาโรงเรียนก็ไม่ได้ผลดีอีก ก็เลยอยู่ในยุคของการปัดความรับผิดชอบ เพราะครูเองก็ปัดให้พ่อแม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายความรับผิดชอบในส่วนของตัว


              พ่อแม่คงหนีไม่พ้นในฐานะของผู้ให้กำเนิดมีหน้าที่รับผิดชอบเอาใจใส่ดูแลลูกให้ได้รับความรักความอบอุ่น พร้อมทั้งสติปัญญา ซึ่งต้องเริ่มให้กันแต่เด็ก ๆ เพื่อให้เด็กรู้จักคิดเป็น รู้จักพิจารณา รู้จักใช้ปัญญา จึงจะเป็นการเจริญงอกงามด้วยดี "เมตตา" อย่างเดียวนั้นไม่พอในการเลี้ยงดูเด็ก ตามหลักพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงให้คุณธรรมข้อ "อุเบกขา" แก่ผู้ใหญ่ไว้ด้วย เพื่อให้ฝึกฝนเด็กได้รู้จักคิดและรับผิดชอบตนเองได้


              จุดที่จะใช้อุเบกขานั้น ก็คือเมื่อสมควรที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบตนเอง รู้จักคิดพิจารณาเขาต้องทำ ไม่ใช่พ่อแม่ทำให้หมด มีพ่อแม่พวกหนึ่งที่ไปสุดโต่งคือไม่สนใจเลย และมีอีกพวกหนึ่งก็โอ๋เกินไปจนลูกทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักคิดอะไรด้วยตนเอง เราจึงต้องมีความพอดีทั้ง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา


              ตัวต้นกับตัวท้ายนี้ใช้ทั่วไปในยามปกติ ส่วน ๒ ตัวกลางคือ กรุณาและมุทิตานั้นใช้ในกรณีพิเศษ คือกรุณาเมื่อตกทุกข์ได้ยากหรือเจ็บไข้ มุทิตาเมื่อลูกประสบความสำเร็จ แต่คุณธรรม ๒ อย่างเป็นตัวตน คือ เมตตาและอุเบกขา


              เมตตา นั้นพ่อแม่มีเป็นปกติดอยู่แล้ว คือมีความรักความปรารถนาดีอยู่เสมอ เป็นมิตรมีไมตรีกับลูกตลอดเวลา ส่วนอุเบกขาควรต้องใช้เมื่อเห็นว่าเป็นเวลาที่เขาควรรับผิดชอบตัวเอง เมื่อควรคิดพิจารณาก็ให้เขาคิด เมื่อเด็กต้องทำการบ้านก็ให้เด็กทำ ไม่ใช่ไปคิดว่าแหม ลูกเราต้องลำบาก ต้องมาเจ็บตา มาเมื่อยนิ้ว เลยทำการบ้านให้ลูกเสียเลย มีพ่อแม่บางคนคิดเลยเถิดกันขนาดนี้ กลัวลูกลำบาก นี้เป็นตัวอย่างของการมีอุเบกขา คือเมื่อถึงเวลาที่ลูกต้องต้องรับผิดชอบตัวเอง เช่น ถ้าลูกต้องทำการบ้าน ก็อุเบกขา ให้ลูกทำการบ้านด้วยตนเอง ได้ใช้ความคิดของเขาเอง ฝึกหัดพัฒนาตนเอง พ่อแม่เพียงแต่ดูแลเป็นที่ปรึกษา


              แต่ที่นี้ เราแปลอุเบกขากันไม่ค่อยถูก ไม่รู้ว่าอุเบกขามีความสำคัญอย่างไรในชีวิตของคนเราอุเบกขานี้นเป็นองค์ธรรมสำคัญมากในระบบการฝึกฝนอบรม เป็นหลักที่จะทำให้รู้จักวางตัวในขณะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้คนนั้น เขาได้พัฒนาตนเอง เมตตานั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้คนไม่เถลไถลออกไปนออกทาง ให้อยู่ในแนวที่ดีงาม เพื่อจะได้พัฒนาต่อไปได้ แต่การที่เขาจะพัฒนาได้เขาจะต้องพัฒนาตนเองด้วย ถ้าเรามีเมตตาคอยแต่ให้คอยแต่ช่วยอยู่เรื่อย ๆ เด็กก็พัฒนาตนเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีอุเบกขาด้วย คือมีเมตตายึดเหนี่ยวไว้เพื่อไม่ให้เขาเถลไถลไปไหน พ่อเรามีอุเบกขา เขาก็จะอาศัยช่องว่างนี้พัฒนาตัวเองขึ้นไป


              อุเบกขาจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญมาก และยากกว่าข้ออื่น ๆ เพราะอุเบกขาต้องมากับปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถมีอุเบกได้ และถ้าไม่มีปัญญาแต่มีอุเบกขาก็เป็นวางเฉยแบบเฉยโง่ เรียกว่า อัญญาณุเบกขา ไม่ถือว่าเป็นธรรม ไม่เป็นกุศลธรรม


              แต่การที่จะวางตัวให้พอดีนั้น ต้องมีความสามารถพิเศษถึงจะทำได้ อย่างเช่นสารถีที่วิ่งม้าไปนั้น การที่จะให้ม้าวิ่งเรียบและวางอุเบกขาได้นั้น ตัวต้องชำนาญแล้ว ถ้ายังขับขี่ใหม่ ยังไม่เป็นก็วางอุเบกขาไม่ได้ คนที่จะวางอุเบกขาได้ต้องชำนาญ ต้องมีปัญญา เมื่อขี่ม้าไป ม้าวิ่งเรียบได้ที่ความเร็วพอดี ได้จังหวะทุกอย่างแล้วก็อุเบกขาได้ ถือบังเหียนดูเฉยอยู่แต่ไม่มีความประมาท ตื่นตัวพร้อมอยู่ทุกเวลา ผิดปกติเมื่อไรก็แก้ไขได้ทันที อย่างนี้เรียกว่าอุเบกขาได้ คนในบังคับบัญชา เมื่อทำงานกัน พอให้งานเขาแจกแจงจนรู้งานชัดเจนแล้ว พองานทุกอย่างเดินเรียบเข้าที่แล้ว ก็วางอุเบกขาได้ อย่าเข้าไปจู้จี้จุกจิกมากนักไม่ดี ถ้าเข้าไปจู้จี้แทรกแซงก็ไม่ใช่อุเบกขา


              ในการอบรมดูแลลูกก็เหมือนกัน ควรใช้เมตตาและอุเบกขาอย่างพอเหมาะพอควรเป็นหลัก และมีกรุณา มุทิตา เมื่อถูกเหตุการณ์ที่ต้องใช้ คือเมื่อลูกมีความทุกข์ ก็ต้องกรุณา เมื่อเขาสุข ประสบความสำเร็จ ก็ต้องมุทิตา การที่พ่อแม่รู้จักวางอุเบกขานี้เป็นการสร้างพัฒนาการที่สำคัญให้กับลูก ลูกที่สามารถสร้างความก้าวหน้าประสบความสำเร็จนั้น มาจากอุเบกขาของพ่อแม่ไม่น้อย เพราะช่วยให้เด็กทำอะไรเป็น รู้จักคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่พ่อแม่เฉยดูอยู่ ทำให้เขามีความคิดเป็นของตัวเอง เดินหน้าไปได้


              เราจะเห็นลักษณะนี้มากในพวกฝรั่ง ฝรั่งนี่ค่อยข้างจะมีอุเบกขามากสักหน่อย การที่อุเบกขามาก บางที่บางครั้งมันดีกว่าไปเมตตามากเกินไป บางครั้งแม้แต่อุเบกขาโดยไม่ตั้งใจแต่กลับเป็นผลดี ทำให้เขารู้จักรับผิดชอบตัวเอง แต่ถ้าอุเบกขาไม่เป็นก็มีผลเสียอีก คือเสียความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ในเมืองฝรั่งนี่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกไม่ค่อยดี พอเด็กโตแล้ว ก็เหินห่างไม่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งก็เป็นข้อเสีย อาจจะเป็นจุดอ่อนของวัฒนธรรมตะวันตกก็ได้ จะเห็นว่าความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างลูกกับพ่อแม่นั้น ประเทศทางตะวันตกจะไม่เหนียวแน่นเหมือนกับทางตะวันออก


              ทางเรานั้นรู้สึกว่าจะใช้เมตตามาก จนบางทีก็โอ๋ไปเลย ของฝรั่งนี้อย่างที่เคยเห็นตามสนามบิน เด็กฝรั่งนั้น พ่อแม่ไม่อุ้มไม่จูง เขาเดินหิ้วกระเป๋าไป ส่วนลูกก็วิ่งตามไปข้างหลัง นาน ๆ พ่อแม่ก็หันไปดู พอว่าไม่ให้หลง ลูกก็หยุดดูโน่น ดูนี่แล้วก็คอยเหลียวมองพ่อแม่ไปด้วย ประเดี๋ยวก็วิ่งตามมาที ประเดี๋ยวก็หยุดดูอะไร ๆ เด็กเขาก็ได้ฝึกตัวเอง ได้รับผิดชอบตนเอง และได้เรียนรู้เห็นโน่นเห็นนี่ไปด้วย


              ทีนี้ พ่อแม่ไทยนั้นไม่ได้เลย กลัวลูกจะพลัดหลง จะลำบาก เลยอุ้มเสียเลย ทั้ง ๆ ที่โตเดิน วิ่งได้แล้ว นี้ต่างกันอย่างนี้ คนไทยอาจจะอุเบกขาน้อยไปหน่อย เมตตามากไป หรือถ้าจะเป็นอุเบกขา ก็เป็นอุเบกขาแบบเฉยโง่ไปเลย กลายเป็นอัญญานุเบกขาไปเสียอีก เพราะฉะนั้น สรุปว่า อุเบกขาต้องใช้ปัญญาเสมอ       


ขอบคุณที่มา  ::  คัดจากวารสาร "สะพานใจ" มูลนิธิเด็ก



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์