เหตุผลที่ ไมโครซอฟท์ ยอมจ่าย 2.55 แสนล้านซื้อ Skype

เหตุผลที่ ไมโครซอฟท์ ยอมจ่าย 2.55 แสนล้านซื้อ Skype


การตัดสินใจเข้าซื้อบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตดาวรุ่งอย่างสไกป์ (Skype) ด้วยเงินสดมูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.55 แสนล้านบาท เมื่อ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ปีที่ผ่านมาสไกป์มีรายได้เพียง 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดทุนสุทธิ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ถือว่าเป็นดีลที่มีมูลค่าสูงสุดใน ประวัติศาสตร์ไมโครซอฟท์ 36 ปี ที่ก่อตั้งมา เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บครั้งสำคัญให้กับยักษ์ซอฟต์แวร์เบอร์ 1 ของโลก เพื่อสู้ศึกบนโลกออนไลน์ที่นับวันยิ่ง เข้มข้นขึ้น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ดีลนี้เป็นบิ๊กมูฟครั้งสำคัญเพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้กับไมโครซอฟท์ และหวังว่าจะช่วยเพิ่มผู้เล่นสไกป์เข้าสู่หลักพันล้านคนได้

"สตีฟ บัลเมอร์" ซีอีโอไมโครซอฟท์กล่าวว่า "บริษัทเห็นโอกาสธุรกิจมหาศาลในการรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ใช้งานต้องการ เช่น เสียง ข้อมูล วิดีโอ instant messaging ทุกอย่างไว้บนหน้าจอเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน พีซี แท็บเลต หรือทีวี โดยทั้งไมโครซอฟท์และสไกป์จะเป็นผู้กำหนดอนาคตว่าจะมีหน้าตาอย่างไร"

โดยไมโครซอฟท์ จะผนึกรวมสไกป์เสริมแกร่งในอุปกรณ์เกมอย่าง Xbox และ Kinect รวมถึงการพัฒนาบน วินโดวส์โฟนและพีซี หรือแม้แต่การผนวกรวมอยู่ในโปรแกรมออฟฟิศสำหรับตลาดองค์กรด้วย

และหลังจากนี้สไกป์จะเข้ามาเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ภายใต้บริษัทไมโครซอฟท์ โดยมี "โทนี่ บาต์ส" ซีอีโอ คนปัจจุบันของสไกป์นั่งเป็นประธานหน่วยธุรกิจ ดังกล่าว และดีลนี้จะช่วยให้ไมโครซอฟท์ทะเยอทะยานมากขึ้น และสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างได้มากขึ้น

"เช่นปัจจุบันไม่ใช่ว่าทุกคนจะมี วิดีโอบนมือถือ ตรงนี้เป็นโอกาสอย่างมาก และเรามีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จ" บัลเมอร์กล่าว

นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า ดีลผนวกรวมธุรกิจครั้งนี้เป็นเรื่องของกลยุทธ์ธุรกิจมากกว่าเรื่องเทคนิค เพราะปัจจุบันสินค้าและการบริการของไมโครซอฟท์บางรายการมีโปรแกรมเหมือนกับที่สไกป์มี อาทิ ซอฟต์แวร์ instant messaging, ซอฟต์แวร์ที่ใช้ติดต่อสื่อสารเพื่อธุรกิจ เป็นต้น แต่ไมโครซอฟท์วางแผนที่จะนำสไกป์ผนวกเข้าไปในบริการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเน้นการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการนำบริการเสิร์ช "Bing" ใสในแอปพลิเคชั่นสไกป์ เพื่อสร้าง โอกาสธุรกิจโฆษณาออนไลน์ด้วย

ด้านซีเอ็นเอ็นดอทคอมรายงานว่า ประโยชน์สำคัญในการซื้อสไกป์อย่างหนึ่ง คือ การพัฒนาวินโดวส์โฟนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หลายคนเกิดคำถามว่าสินค้าของคู่แข่งในปัจจุบัน เช่น แอปเปิล แอนดรอยด์ แบล็คเบอร์รี่ เครื่องเล่นบลูเรย์ ทีวี ต่างรองรับแอปพลิเคชั่นสไกป์ได้เช่นกัน ดังนั้นจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ แม้ว่าซีอีโอไมโครซอฟท์จะยืนยันว่าบริษัทยังคงมีการลงทุนและสนับสนุนให้สไกป์พัฒนาโปรแกรมป้อนให้กับคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้สไกป์มีอายุมากกว่า 6 ปีแล้ว มีฐานผู้ใช้งานเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นความท้าทายของไมโครซอฟท์ในการกำจัดสไกป์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มมือถืออื่น ๆ แต่กระนั้นฟีเจอร์ใหม่ในอนาคต และบริการที่เป็นมูลค่าเพิ่มอื่น ๆ อาจจะเปิดให้เฉพาะผู้ใช้ วินโดวส์ โฟน 7 และเป็น "Killer App" เพื่อให้ผู้บริโภคพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟน

ย้อนกลับไปเส้นทางของสไกป์เริ่มขึ้นเมื่อปี 2003 จากนั้นปี 2005 อีเบย์ซื้อกิจการสไกป์ในมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2009 อีเบย์ตัดสินใจที่จะขายหุ้น 70% คิดเป็นมูลค่า 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ นักลงทุนและกองทุนต่าง ๆ เช่น Silver Lake Partners จนถึงปัจจุบันมีผู้ใช้งานสไกป์กว่า 170 ล้านคนทั่วโลก

เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาสไกป์ยื่นขอระดมทุนกับประชาชนครั้งแรก (IPO) แต่สุดท้ายสไกป์ก็เลื่อนการเสนอขายหุ้น IPO ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับมองหาทางเลือกอื่น นั่นคือการจับมือเป็นพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กและกูเกิล แต่สุดท้ายสไกป์เลือกที่จะจูบปากกับไมโครซอฟท์

คำถามที่ตามมาคือ ไมโครซอฟท์ทุ่มเงินซื้อสไกป์ครั้งนี้มากเกินไปหรือไม่ ?

"ยุน คิม" นักวิเคราะห์จาก Gleacher มองว่า "ตนไม่คิดว่าการประเมินราคาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไมโครซอฟท์มีเงินสดและทรัพยากรทางการเงินมหาศาล สิ่งสำคัญกว่าคือกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์ที่เหมาะสมในการเคลื่อนย้ายโซลูชั่นจากยุคพีซีไปยังยุคหลังพีซี (post-PC)"

ด้าน "ไมเคิล เชนเดนิน" กรรมการผู้จัดการ บริษัทที่ปรึกษา RedTech Advisors แสดงความเห็นว่า เมื่อ 18 เดือนที่ผ่านมาสไกป์มีมูลค่าธุรกิจแค่ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้น ขยับสูงถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง ดูเหมือนว่าไมโครซอฟท์ใจกว้าง แต่ในทางกลับกันไมโครซอฟท์ได้สร้างกำแพงสูงขึ้น เพื่อก้าวข้ามเช่นกัน แถมยังต้องพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่าสไกป์เป็น ฟันเฟืองที่สำคัญสำหรับกลยุทธ์ออนไลน์และโมบายของไมโครซอฟท์จริง ๆ

นอกจากนี้ การยอมทุ่มเงินซื้อกิจการมูลค่าสูงเกือบหมื่นล้านเหรียญเป็นการบ่งชี้ว่า ไมโครซอฟท์มีความกระหายที่จะสร้างโอกาสการเติบโตมากขนาดไหน โดยเฉพาะตลาดมือถือและตลาดอินเทอร์เน็ต หลังจากสร้างความวิตก ให้กับนักลงทุนเพราะกำไรจากธุรกิจซอฟต์แวร์วินโดวส์ส่งสัญญาณชะลอตัว

ไมโครซอฟท์หวังว่าการเข้าซื้อสไกป์จะเป็นความหวังในการกอบกู้ตลาด มือถือในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในสังเวียนตลาดสมาร์ทโฟนที่กำลังทวีความรุนแรง มากขึ้น และสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์มือถือมากขึ้น

โดยรายงานของ "คอมสกอร์" ระบุว่า ไตรมาสที่ผ่านมามือถือระบบวินโดวส์โฟนมีสัดส่วนประมาณ 7.5% ของตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งยังตามหลังคู่แข่งแอปเปิลและแอนดรอยด์ของกูเกิลอยู่มาก

ต่อจากนี้คงต้องจับตาดูว่า เงินที่ยักษ์ไมโครซอฟท์ทุ่มซื้อไปคุ้มหรือไม่ ?

เหตุผลที่ ไมโครซอฟท์ ยอมจ่าย 2.55 แสนล้านซื้อ Skype


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว และรูปภาพ คุณภาพดี โดย:
www.prachachat.net

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์