เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง (3)

เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง (3)


๏ วิถีทางของผู้ไม่ฉลาด


ทุจริตทางธรรมเรียกว่าไม่ดี เป็นวิถีทางของผู้ไม่ฉลาด ทางโลกก็เหยียดหยามว่าเลว ไม่ดี โดยนัยนี้จึงเห็นว่า ทั้งทางโลกทั้งทางธรรม นับถือสิทธิของผู้อื่น หรือเรียกว่านับถือขอบเขตแห่งความสงบสุขของผู้อื่น เพราะสุจริตและทุจริตที่จำแนกไว้อย่างละ ๑๐ ประการนั้น

โดยความก็คือ

ไม่ประพฤติละเมิดสิทธิ หรือไม่เบียดเบียนความสงบสุขของผู้อื่น และการประพฤติละเมิดสิทธิและความสงบสุขของผู้อื่นนั้นเอง แต่ทางโลกนับถือสิทธิของบุคคลและสัตว์เดียรัจฉานบางจำพวก ไม่นับถือบางจำพวก โดยอาศัยกฎหมายเป็นหลัก ส่วนทางธรรมนับถือทั่วไป ไม่มีแบ่งแยกยกเว้น เพราะทางธรรมละเอียด ประณีต

๏ ธรรมะในใจควรประพฤติคู่กันไปกับสุจริต

อนึ่ง ทุจริตอยู่เฉยๆ ประพฤติไม่ได้ ต้องประพฤติด้วยความขวนขวายพยายาม จนผิดแผกแปลกไปจากปกติ จึงจัดเป็นทุจริตได้ ส่วนสุจริตประพฤติได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง ประพฤติไปตามปกติของตน ไม่ต้องตบแต่งเปลี่ยนแปลงก็เป็นสุจริตได้

เพราะเหตุนี้ เมื่อว่าทางความประพฤติ สุจริตจึงประพฤติได้ง่ายกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรทุจริตจึงเกิดขึ้นได้ ? ข้อนี้เป็นเพราะยังขาดธรรมในใจเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ความประพฤติจึงเป็นไปตามใจของตนเอง ผู้รักษาศีลหรือประพฤติสุจริต หรือแม้ประพฤติกฎหมายของบ้านเมือง ถ้าไม่มีธรรมอยู่ในใจบ้างแล้ว ก็มักจะรักษาหรือประพฤติทำนองทนายความว่า เพราะการกระทำบางอย่างไม่ผิดศีลตามสิกขาบท ไม่ผิดสุจริตตามหัวข้อ แต่ผิดธรรมมีอยู่ และจะประพฤติหรือรักษาให้ตลอดไปมิได้ เพราะเหตุนี้ จึงสมควรมีธรรมในใจสำหรับประพฤติคู่กันไปกับสุจริต

เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง (3)


๏ เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง


ผู้ประพฤติสุจริตธรรม ย่อมเป็นคนไม่มีภัย ไม่มีเวร มีกายวาจาใจปลอดโปร่ง นี้เป็นความสุขที่เห็นกันอยู่แล้ว ส่วนผู้ประพฤติทุจริตอธรรม ตรงกันข้าม มีกายวาจาใจ หมกมุ่น วุ่นวาย แม้จักมีทรัพย์ ยศ ชื่อเสียงสักเท่าใด ก็ไม่ช่วยให้ปลอดโปร่งได้ ต้องเปลืองทรัพย์ เปลืองสุข ระวังทรัพย์ ระวังรอบด้าน นี้เป็นความทุกข์ที่เห็นกันอยู่แล้ว

ส่วนในอนาคตเล่าจักเป็นอย่างไร ? อาศัยพุทธภาษิตที่แสดงว่า...

กลฺยาณการี กลฺยาณํ...ผู้ทำดีย่อมได้ดี
ปาปการี จ ปาปกํ...ผู้ทำชั่วย่อมได้ชั่ว


๏ ผลแห่งสุจริตธรรม

จึงลงสันนิษฐานได้ว่า สุจริตธรรมอำนวยผลที่ดีคือความสุข ทุจริตอธรรมอำนวยผลที่ชั่วคือความทุกข์ แม้ในอนาคตแน่แท้ อนึ่ง ในที่นี้รวมผลแห่งสุจริตธรรมทั้งสิ้น แสดงรวมยอดอย่างเดียวว่าความสุข เพราะเหตุนี้สิ่งใดเป็นอุปกรณ์แห่งความสุข หรือเรียกว่าสุขสมบัติ เช่น ความบริบูรณ์ทรัพย์ ผิวพรรณงาม อายุยืน ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นผลแห่งสุจริตธรรม

เหตุแห่งความสุขที่แท้จริง (3)


๏ วิธีปฏิบัติสุจริตธรรม


จักแสดงวิธีปฏิบัติสุจริตธรรมสักคู่หนึ่ง โดยย่อไว้เผื่อผู้ต้องการต่อไป คือ ไม่พยาบาท กับ เมตตา

เมื่ออารมณ์ร้ายอย่างเบา

คือความหงุดหงิดไม่พอใจแรงขึ้นเป็นความฉุนเฉียวร้ายกาจ แรงขึ้นอีกเป็นพยาบาท เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรทำความรู้จักตัวและพิจารณาโดยนัยว่า นี้เท่ากับทำโทษตน เผาตนโดยตรง มิใช่ทำโทษหรือแผดเผาผู้อื่นเลย คราวที่ตนผิดใจยังเคยให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธแค้น เหตุไฉนเมื่อผู้อื่นทำผิดใจจึงมาลงโทษแผดเผาตนเล่า ผู้อื่นที่ตนโกรธนั้นเขามิได้ทุกข์ร้อนไปกับเราด้วยเลย

อนึ่ง ควรตั้งกติกาข้อบังคับสำหรับตนว่า

เมื่อเกิดอารมณ์ร้าย มีโกรธเป็นต้นขึ้น จักไม่พูด จักไม่แสดงกิริยาของคนโกรธ หรือตั้งกติกาประการอื่น ซึ่งอาจจักรักษาอารมณ์ร้ายเหล่านั้นไว้ข้างใน มิให้ออกมาเต้นอยู่ข้างนอก และพยายามดับเสียด้วยอารมณ์เย็นชนิดใดชนิดหนึ่ง ด้วยการพิจารณาให้แยบคาย มิให้ลุกกระพือสุมอกอยู่ได้



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์