แก๊งสกิมเมอร์...อาชญากรไฮเทค

แก๊งสกิมเมอร์...อาชญากรไฮเทค


เที่ยวสงกรานต์กดเงินจากตู้เอทีเอ็มต้องระวัง แก๊งสกิมเมอร์ยังระบาดไม่เลิก



โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน เหล่าโจร มิจฉาชีพมีมากมายในสังคมและพบเจอหลากหลายรูปแบบ เมื่อไม่นานมานี้ข่าว “แก๊งสกิมเมอร์” ระบาดในไทย โดนล้วงเข้าบัญชีแล้วเอาเงินไปจนหมดเกลี้ยงนับร้อยราย ส่วนใหญ่เป็นแก๊งชาวต่างชาติที่เห็นช่องโหว่กฎหมายในบ้านเราเลยอาศัยใช้วิธีนี้ทำมาหากินบนความทุกข์ของคน

สกิมเมอร์ (Skimmer) อุปกรณ์ไฮเทคที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยนำเครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก วงจรถอดรหัส และวงจรหน่วยความจำมาประกอบเข้าด้วยกัน เหล่ามิจฉาชีพที่ถูกขนานนามว่า “แก็งสกิมเมอร์” จะนำอุปกรณ์ไปติดตั้งตามตู้กดเงินสด หรือตู้เอทีเอ็ม เพื่อคัดลอกข้อมูลแถบแม่เหล็กและทำการบันทึกรหัส จากนั้นล้วงเงินในระบบบัญชีอย่างแนบเนียน

สกิมเมอร์มีหลายขนาดตั้งแต่เท่ากับกล่องรองเท้า ไปจนถึงขนาดเท่าซองบุหรี่ หน่วยความจำก็มีผลต่อกลโกง เช่น สกิมเมอร์ที่ความจำน้อยจะเก็บข้อมูลบัตรได้ 50 ใบ ส่วนที่มีความจำมาก อาจเก็บได้หลายหมื่นใบ มิจฉาชีพเหล่านี้จะนำข้อมูลจากบัตรไปสร้างบัตรปลอมซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท คือ “บัตรสี” มีสีสัน ลวดลาย และมีตัวพิมพ์นูนแบบบัตรจริงทุกอย่าง รวมถึงมีข้อมูลบัตรอย่างถูกต้องด้วย สามารถนำไปใช้ได้เสมือนบัตรจริง อีกประเภทคือ “บัตรขาว” เป็นบัตรพลาสติกสีขาว มีแถบแม่เหล็กเก็บข้อมูล

ตู้เอทีเอ็ม (ATM) หรือตู้กดรับเงินสด ถือเป็นบริการของธนาคารที่ทำให้ประชาชนสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่นั่นเปรียบเหมือน “ดาบสองคม ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สร้างความสะดวกและรวดเร็ว แต่ก็ยังมีช่องโหว่ให้แก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ได้แทรกแซงและฉวยโอกาสล้วงเงินในบัญชีไปจนหมดสิ้น

วิธีการใช้ตู้เอทีเอ็มแบบปลอดภัย ไร้กังวล ข้อมูลจากธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย คือ 1. ก่อนสอดบัตร ใช้มือจับบริเวณฝาครอบบัตร และบริเวณพลาสติกใสสำหรับสอดบัตร ลองขยับดู หากมีตัวสกิมเมอร์จะสามารถดึงออกมาได้ เนื่องจากแก๊งนี้จะใช้กาวสองหน้าติดไว้ 2. ก่อนกดรหัสผ่าน ให้สังเกตแป้นพิมพ์ ต้องไม่มีลักษณะนูนขึ้นเกินปกติ และขณะกดรหัสผ่าน ควรใช้มืออีกข้างบังไว้ให้มิด 3. สังเกตบุคคลในบริเวณตู้เอทีเอ็ม 4. เลือกใช้ตู้เอทีเอ็มที่มีคนพลุกพล่าน ไม่ลับตาคน ไม่เปลี่ยว 5. หากพบความผิดปกติของเครื่องให้กดปุ่ม “ยกเลิก” 6. หลีกเลี่ยงการใช้ตู้เอทีเอ็มที่มีข้อความ ป้ายแจ้งเตือนว่า ข้อความแนะนำการใช้เครื่องมือมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายติดข้อความหรือป้ายใดๆ 7.เก็บสลิปทุกครั้ง 8. ไม่ควรรีบร้อน ควรเก็บบัตรและธนบัตรเข้ากระเป๋าก่อนเดินออกจากตู้เอทีเอ็ม 9. หลีกเลี่ยงการใช้รหัสที่เดาง่าย เช่น เลขตอง เลขสวย เลขวันเกิด ควรตั้งรหัสที่คาดเดายาก 10. ควรเปลี่ยนรหัสเป็นประจำ

ส่วนวิธีสังเกตถึงความผิดปกติ คือ ก่อนเสียบบัตรจะต้องมี “ไฟกระพริบ” ล้อมรอบช่องเสียบบัตรทุกครั้ง

หากไม่มีไฟกระพริบให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีเครื่องสกิมเมอร์รอดูดข้อมูล เมื่อไหวตัวทันให้เปลี่ยนตู้ทันที
และแจ้งเจ้าหน้าที่ของธนาคารเพื่อความปลอดภัย หรือหากเผลอกดไปแล้ว และกลัวจะถูกลอบดูดข้อมูล ให้รีบติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อแจ้งและทำการ “อายัดบัตร” โดยเร็ว และเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ หรือระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ในช่วงเทศกาลต่างคนต่างใช้เงินจับจ่าย กินเที่ยว เหล่ามิจฉาชีพแก๊งสกิมเมอร์อาจออกอาละวาดอีก ยิ่งในสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างถนนข้าวสาร ถนนสีลม จึงขอเตือนภัยทุกคนก่อนกดเอทีเอ็มอย่าประมาท เพราะแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้น่าจะยังหลงเหลือลอยนวลในสังคมไทยไม่น้อย.

นัฐทิชา เรืองโรจน์


แก๊งสกิมเมอร์...อาชญากรไฮเทค

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์