แนะ 5 ทางรอดปลอดโรคช่วงน้ำท่วม

แนะ 5 ทางรอดปลอดโรคช่วงน้ำท่วม


ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบน้ำท่วม
 
สิ่งแรกที่ต้องจัดการก็คือเรื่องขยะ น้ำเน่า เป็นต้น และดูแลเรื่องความสะอาดสถานที่สาธารณะ เช่น ศูนย์อพยพ ตลาด โรงเรียน ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก เพราะสถานที่ตามที่กล่าวมานั้นเป็นพื้นที่ที่ต้องควบคุมดูแลเป็นอันดับต้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อหรือโรคระบาด ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่นั้นจะเริ่มจากพื้นที่ที่น้ำลด โดยกรมอนามัยได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานของพื้นที่ต่างๆ และภาคเอกชนเพื่อปฏิบัติการฟื้นฟูเป็นไปอย่างถูกขั้นตอนและสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งนี้ ดร.นพ.สมยศ ได้ให้ข้อมูลแนะนำแนวทางปฏิบัติ “5 ทางรอดปลอดภัยจากโรค" ดังนี้


1.อย่าทิ้งขยะ อุจจาระ เศษอาหารลงในน้ำ ให้ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น ปัญหาที่ยังคงพบเป็นประจำในขณะน้ำท่วม คือ ปัญหา “ขยะ” ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอยที่เกิดจากการประกอบอาหาร หรือสิ่งของที่เสียหายจากน้ำท่วม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หากไม่มีการกำจัดอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง บิด ไทฟอยด์ ซึ่งการป้องกันโรคดังกล่าว ประชาชนสามารถกำจัดขยะอย่างถูกวิธีด้วยตนเอง โดยห้ามทิ้งขยะ อุจจาระ เศษอาหารลงในน้ำ ทางที่ดีขยะมูลฝอยประเภทเศษอาหารที่เป็นขยะเปียก ที่เหลือจากการบริโภคแต่ละวันต้องแยกทิ้งในถุงดำ มัดปากถุงให้แน่นนำไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำจัดโดยเร็วก่อนบูดเน่า เพราะหากกำจัดช้า ก็ยิ่งเป็นแหล่งสะสมโรคที่เกิดจากสัตว์และแมลงนำโรค


2.อย่าเล่นน้ำเน่าขัง เชื้อโรคอาจเข้าตา ปาก จมูก และบาดแผล อันตรายถึงตาย หากสัมผัสน้ำเน่าเสีย ต้องล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด อย่าเล่นน้ำเน่าขัง เพราะเชื้อโรคอาจเข้าตา ปาก จมูก และบาดแผล อันตรายถึงชีวิต หากสัมผัสน้ำเน่าเสียให้รีบอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ส้วมหรือหยิบจับขยะหรือสิ่งสกปรก หลีกเลี่ยงการลุยหรือ แช่อยู่ในน้ำนาน ๆ เพราะน้ำเน่ามีเชื้อโรคปะปนอยู่หลายชนิด อาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น ไข้ฉี่หนู แผลพุพอง น้ำกัดเท้า ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ หลังจากลุยน้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง


3.กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด อาหาร เครื่องปรุง ภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหาร ภาชนะใส่อาหารต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ เก็บรักษาอาหารให้มิดชิดปลอดภัยจากแมลงวันและสัตว์นำโรคเป็นสิ่งสำคัญ ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ต้องมีพฤติกรรมอนามัยที่ถูกต้องคือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย ซึ่งในสถานการณ์น้ำท่วม หลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือโดยจัดทำเป็นครัวเคลื่อนที่ปรุงอาหารแจกจ่ายกันทีละจำนวนมาก ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระวัง โดยการปรุงอาหารแต่ละครั้ง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น แกงกะทิ ยำ อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งต้องปรุงสุกใหม่และควรกินภายใน 3-4 ชั่วโมง และอาหารที่ปรุงนั้นต้องผ่านกระบวนการปรุง ประกอบที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ไม่ควรเก็บอาหารไว้นาน ๆ ข้ามมื้ออาหาร และให้สังเกตลักษณะสภาพ สี กลิ่นของอาหารว่าบูด เสีย หรือไม่ หากอาหารมีลักษณะผิดปกติ ห้ามชิมหรือกิน แต่หากต้องนำอาหารค้างมื้อมากินควรอุ่นให้สุกอย่างทั่วถึงก่อน


สำหรับน้ำดื่มสะอาดนั้น ควรเป็นน้ำบรรจุขวดที่มีฝาปิดมิดชิด ขวดไม่ชำรุดและมีเครื่องหมาย อย.กำกับ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจก่อนดื่มได้เป็นอย่างดี แต่หากไม่มีน้ำดื่มบรรจุขวดจริง ๆ และจำเป็นต้องดื่มหรือใช้น้ำจากคลองหรือน้ำท่วมขังโดยไม่มีทางเลือก ก็ต้องใช้วิธีการแกว่งสารส้มนาน 1-2 นาที แล้วทิ้งไว้ให้ตกตะกอน จากนั้นนำน้ำที่ใสไปต้มให้เดือดนาน 5 นาที ในกรณีที่ยังสามารถ ต้มน้ำได้ และเพื่อความมั่นใจถ้าได้รับชุดตรวจเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย อ11 จากกรมอนามัย ก็นำมาทดสอบปรับปรุงคุณภาพน้ำได้ ตามคำแนะนำที่แนบ ซึ่งเป็นวิธีง่าย สะดวก และปลอดภัย


4.หลังน้ำลด ล้างบ้านเรือน ห้องสุขา ภาชนะอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนทำความสะอาดบ้านเรือน ให้เก็บรวบรวม คัดแยกเศษวัสดุและขยะประเภทต่าง ๆ ขยะที่ยังขายได้ให้ใส่ในถุงดำ เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ ส่วนขยะที่ไม่สามารถขายได้ให้รวบรวมใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น เพื่อรอไปกำจัด และในขณะเก็บกวาดขยะเพื่อจะล้างทำความสะอาดบ้านเรือน


ให้ระวังสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ งู ควรใช้ไม้เขี่ยขยะหรือสิ่งของเพื่อให้สัตว์เหล่านั้นหนีไปก่อนแล้ว จึงลงมือทำความสะอาด โดยขัดถูคราบสกปรกด้วยแปรงที่มีด้ามและขนแปรงแข็ง ๆ หรือไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งการทำความสะอาดนี้ควรทำทันทีหลังน้ำลด จะช่วยให้ขัดคราบสกปรกได้ง่ายกว่าปล่อยให้แห้ง โดยใช้ผงซักฟอกผสมน้ำ ราดในบริเวณที่จะทำความสะอาด ใช้แปรงขัดถูคราบสกปรกออกให้หมดหรือออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยังอาจใช้น้ำหมักชีวภาพหรืออีเอ็มช่วยกำจัดคราบความสกปรกและกลิ่นเหม็น ไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ผสมสารเคมีเข้มข้น เนื่องจากมีผลเสียต่อสภาพแวดล้อม แหล่งน้ำ และดิน


การทำความสะอาดห้องส้วมทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด คือ การเก็บกวาด ขยะ สิ่งสกปรกตกค้างที่ถูกพัดพามากับน้ำ ควรเก็บขยะใส่ในถุงดำ จากนั้นให้ชำระล้างทำความสะอาดให้ทั่วถึงทั้งบริเวณพื้น ฝาผนังห้องส้วม โถส้วมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องส้วม โดยใช้น้ำผสมผงซักฟอกขัด ล้าง และเช็ดวัสดุอุปกรณ์ให้สะอาด หากจำเป็นต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ผสมสารเคมี ควรใช้ที่ผสมสารเคมีไม่เข้มข้น เพราะสารเคมีจะทำให้ตกค้างอยู่ในธรรมชาติ เมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำอาจมีผลต่อพืชและสัตว์น้ำได้ ในกรณีที่ส้วมเต็มหรืออุดตัน ให้ใช้น้ำหมักชีวภาพ เทราดลงในคอห่านหรือโถส้วม จุลินทรีย์จะช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์และสิ่งปฏิกูลในบ่อเกรอะ และช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในบ่อเกรอะ ทำให้กลิ่นและแก๊สที่เกิดจากการหมักในบ่อเกรอะลดลง นอกจากใช้น้ำหมักชีวภาพยังอาจใช้จุลินทรีย์แบบสำเร็จรูป เช่น จีพีโอ เมกะพลัส ชนิดผงและชนิดน้ำ ขององค์การเภสัชกรรมซึ่งรายละเอียดการใช้ต้องดูตามฉลากที่ระบุ


ส่วนภาชนะอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น จาน ชาม เขียง หม้อ ชั้นวางของ ตู้กับข้าว ต้องดูว่าใช้การได้หรือไม่ หากยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ให้นำมาขัด ล้างทำความสะอาด ตากแดดให้แห้งก่อนเก็บ หากเขียงเป็นราแม้เช็ดล้างแล้วยังมีเชื้อราติดอยู่ ต้องทิ้ง เพื่อป้องกันเชื้อราปนเปื้อนในอาหาร


5. ช่วยกันล้างตลาด ประปาชุมชน และสถานที่สาธารณะ ตามหลักสุขาภิบาล การล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติเพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้ซื้อที่มาเลือกจับจ่ายสินค้าในตลาดสด ซึ่งการล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลมีขั้นตอนสำคัญคือ


1)กวาดหยากไย่ หรือเศษสิ่งสกปรกที่ติดบนเพดาน ฝาผนัง โคมไฟ พัดลม สายไฟ


2)เจ้าของแผงทำความสะอาดแผงและทางระบายน้ำเสีย กวาดเศษขยะไปรวมทิ้งไว้ในบริเวณที่พักขยะหรือในที่ที่จัดไว้ รวมทั้งกำจัดแมลงและสัตว์นำโรคที่อาศัยอยู่ในบริเวณตลาด


3)บนแผงหรือพื้นที่มีคราบไขมันจับ ใช้น้ำผสมโซดาไฟราดลงบนพื้นหรือแผง ทิ้งไว้นาน 15-30 นาที และใช้แปรงขัดถูช่วยในการขจัดคราบไขมัน โดยในบริเวณที่มีไขมันจับหนาให้ใช้โซดาไฟชนิด 96% ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ปี๊ป ในบริเวณที่ไขมันน้อยให้ใช้โซดาไฟชนิด 96% 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ปี๊ป ส่วนบริเวณอื่นใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกในการล้างทำความสะอาด


4)ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างบนแผง ทางเดิน ฝาผนัง และกวาดล้างลงสู่ทางระบายน้ำเสียเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดออกให้หมด


5)ใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ปี๊ป) ใส่ลงในฝักบัวรดน้ำและรดบริเวณแผงเขียง ทางเดิน ทางระบายน้ำเสียให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาวให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจางราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว (กรณีเกิดโรคระบาดต้องฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนทุกวัน)


6)บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะ และก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาดต้องทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกช่วยและล้างด้วยน้ำให้สะอาด


7)บริเวณที่พักขยะต้องเก็บรวบรวมขยะไปกำจัดให้หมดและล้างทำความสะอาดและทำการฆ่าเชื้อโรค


ประปาชุมชนนั้น หากเป็นน้ำที่ได้จากบ่อน้ำตื้นจะมีวิธีการล้างดังนี้


1)เก็บเศษใบไม้และเศษวัสดุต่าง ๆ ในบ่อออกให้หมด


2)ถ้าน้ำในบ่อขุ่นมาก ให้ใส่สารส้มแกว่งให้ความขุ่นตกตะกอน


3)สูบน้ำในบ่อออก เพื่อให้น้ำใสเข้ามาแทนที่ และเพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคของคลอรีน


4)เตรียมน้ำปูนคลอรีนความเข้มข้น 50 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเทน้ำใส่แก้วหรือภาชนะ จากนั้นตักผงปูนคลอรีนตามสัดส่วน กวนให้ละลาย ตั้งทิ้งไว้ให้ผงปูนตกตะกอน


5)นำน้ำปูนคลอรีนส่วนที่เป็นน้ำใสเทลงในบ่อ จากนั้นกวนน้ำให้ทั่วบ่อ ทิ้งไว้ 30 นาที ระหว่างนี้ห้ามใช้น้ำในบ่อ


6)สูบน้ำจากบ่อ ฉีดล้างคราบตะไคร่น้ำและคราบสกปรกทั้งภายในและภายนอกวงขอบบ่อ (ควรใช้แปรงขัดให้สะอาด)


7)สูบน้ำออกจากบ่อให้หมด หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


8)ปล่อยทิ้งไว้ให้น้ำซึมเข้าบ่อ ตรวจหาคลอรีนอิสระคงเหลือให้อยู่ระหว่าง 0.5-1 พีพีเอ็ม ในกรณีที่น้ำซึมเข้าบ่อมีความขุ่น ให้เติมสารส้มละลายน้ำจนอิ่มตัว เทลงในบ่อ กวนให้เข้ากันแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน นำน้ำส่วนที่ใสมาตรวจหาสารคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ


9)บริเวณชานบ่อ วงขอบบ่อต้องล้างทำความสะอาด และซ่อมแซมหากมีการชำรุดเสียหาย รวมทั้งการยารอยต่อต่าง ๆ และควรตรวจดูรางระบายน้ำให้อยู่ในสภาพใช้การได้ ไม่มีน้ำท่วมขังอันจะเป็นบ่อเกิดของลูกน้ำยุงกรณีบ่อไม่มีวงขอบ ต้องระมัดระวังการทรุดตัวของบ่อ จึงควรสูบน้ำออกจากบ่อช้า ๆ และไม่ต้องฉีดน้ำล้างรอบ ๆ ขอบบ่อ อีกทั้งห้ามวางเครื่องสูบน้ำบนปากบ่อ เพราะอาจทำให้ดินบริเวณปากบ่อพังลงไปในบ่อได้


ส่วนการล้างทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ ให้กวาดหรือตักเศษสิ่งสกปรก เช่น ขยะ เศษดิน ขี้โคลน ออกให้หมด ทั้งบริเวณพื้น ทางเดิน ทางระบายน้ำ รวมทั้งห้องน้ำ ห้องส้วม ถ้าเป็นคราบจับแน่นอาจใช้ผงซักฟอกในการล้างทำความสะอาดและใช้แปรงลวดถูเพื่อช่วยขัดคราบสกปรก โดยอาจใช้คลอรีนเพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อโรค โดยเตรียมน้ำคลอรีนแล้วราดลงบนพื้น ทางเดิน ทางระบายน้ำให้ทั่ว โดยมีสัดส่วนคลอรีนแบบเดียวกับการล้างตลาด


ทั้งนี้ คลอรีนเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตา จมูก ผิวหนัง เมื่อถูกคลอรีนจะอักเสบและบวม ถ้าสูดดมเข้าไปจะเกิดอาการอึดอัด หายใจไม่สะดวก เจ็บคอ แน่นหน้าอก และอาจทำให้เสียชีวิตถ้าสูดดมในปริมาณมากเกินไป หากคลอรีนเข้มข้นถูกตาต้องใช้น้ำน้ำสะอาดปริมาณมาก ๆ ล้างออกไม่น้อยกว่า 15 นาที


ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนในลำดับแรกๆควรปฏิบัติตามขั้นตอนทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาเพียงเท่านี้ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตจะค่อยๆ ฟื้นคืนสู่ปกติในเร็ววัน




ขอบคุณข่าวจาก : โพสทูเดย์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์