แนะวิธีสังเกต แบงค์ปลอม!!

แนะวิธีสังเกต แบงค์ปลอม!!




หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาประกาศเตือนให้ชาวบ้านระวังธนบัตรปลอมระบาดหนัก เนื่องจากสภาวะเศษฐกิจทรุด ความคืบหน้า ที่สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (สนว.ตร.) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนี้ พล.ต.ท.ดนัยธร วงศ์ไทย ผู้บัญชาการ สนว.ตร.พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรพล พินิจชอบ ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน (ผบก.พฐ.) และ พ.ต.อ.เสรีย์ จันทรประทิน นักวิทยาศาสตร์ (สบ.5) พฐ. ร่วมแถลงข่าว กรณีธนาคารแห่งประเทศไทยเตือนประชาชนระมัดระวังธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาทปลอม โดยเฉพาะช่วงปีใหม่

         พล.ต.ท.ดนัยธรกล่าวว่า ในช่วงนี้มีข่าวแบงก์พันปลอมระบาดมากพอสมควร ซึ่งเป็นความจริง เพราะขณะนี้กองพิสูจน์หลักฐานรับคดีแบงก์ปลอมอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชนผู้ใช้ ซึ่งขั้นตอนการตรวจพิสูจน์อย่างง่ายๆ สำหรับประชาชนที่จะสังเกตว่าแบงก์ปลอมหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้ไว้

       
  พ.ต.อ.เสรีย์ จันทรประทิน อธิบายขั้นตอนการสังเกตธนบัตรว่า มีจุดสังเกตดังนี้

          1. ลายน้ำ พระบรมสาทิสลักษณ์ มองเห็นได้ชัดเจน เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง และรูปลายไทยจะโปร่งแสงเป็นพิเศษ

          2. แถบสีโลหะในเนื้อกระดาษ นำเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง จะเห็นตัวเลขและตัวอักษรโปร่งแสง

          3. พิมพ์เส้นนูน พระบรมสาทิสลักษณ์ ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วจะรู้สึกสะดุด

          4. ตัวเลขแฝง ซึ่งอยู่ในลายไทย มองเห็นได้เมื่อยกธนบัตรเอียงเข้าหาแสงสว่าง โดยมองจากมุมล่างซ้ายเข้าหากึ่งกลางธนบัตร

          5. ภาพซ้อนทับพิมพ์แยกส่วนไว้บนด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อยกส่องกับแสงจะมองเห็นภาพสวยงาม โดยแบงก์พันจะเป็นรูปดอกบัว แบงก์ 500 เป็นรูปดอกพุดตาล แบงก์ 100 เป็นตัวเลข 100 แบงก์ 50 เป็นตัวเลข 50 แบงก์ 20 เป็นตัวเลข 20

          6. ตัวเลขจิ๋ว บรรจุในตัวเลขไทยด้านหน้า มองเห็นได้ชัดเจนด้วยแว่นขยาย

          7. แทบฟอยล์ สีเงินมองเห็นเป็นหลายมิติ และสะท้อนแสงเมื่อพลิกไปมา

          8. หมึกพิมพ์พิเศษ ตัวเลข 1000 จะมองเห็น ด้านบนสีทอง ด้านล่างสีเขียว เมื่อพลิกขอบล่างขึ้นจะเห็นเป็นสีเขียวทั้งหมด ส่วนแบงก์ 500 ตัวเลข 500 จะมองเห็นตัวเลขสีเขียว เมื่อพลิกขอบล่างจะมองเห็นเป็นสีม่วง นอกจากนี้ ยังมีวิธีนำบริเวณลอยนูนของแบงก์ เช่น คำว่ารัฐบาลไทย ถูกับกระดาษสีขาว ของจริงจะปรากฏสีให้เห็น

         พ.ต.อ.เสรีย์กล่าวว่า เป็นข้อสังเกตง่ายๆ ที่ประชาชนทั่วไปจะดูได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาดูด้วยใจเย็นๆ อย่ารีบร้อน ถ้าไม่แน่ใจในธนบัตรที่สงสัย ให้เอาธนบัตรที่แน่ใจว่าเป็นของจริงมาเทียบ 

         "อย่าผลีผลามรับเงินโดยไม่ดูก่อน เวลาจะรับเงินพยายามอยู่ในที่ที่มีแสงสว่าง เพราะส่วนใหญ่มีการใช้แบงก์ปลอมในที่มืด เช่น คลับ บาร์ ส่วนข้อที่สังเกตง่ายที่สุดคือลายน้ำ ของปลอมทำยาก จะออกมืดไม่ชัด ถ้าของจริงจะเห็นส่วนสว่างชัดเจน ทั้งนี้ ที่มาของธนบัตรปลอม เราไม่มีข้อมูล แต่มากที่สุดคือพื้นที่ สภ.อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร จำนวน 758 ฉบับ" พ.ต.อ.เสรีย์ระบุ

         ขณะที่ พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า ในปี 2551 มีการส่งธนบัตรปลอมใบละ 1000 จากทั่วประเทศมาให้ พฐ.ตรวจสอบจำนวน 30 คดี เกือบ 1,000 ฉบับ ทั้งนี้ ธนบัตรปลอมที่ผ่านการตรวจจาก พฐ.แล้ว จะต้องส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบอีกครั้งก่อนทำลายทิ้ง

         วันเดียวกัน พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผบช.ภ.1 นำตัว นายวัชรินทร์ ประศรี อายุ 68 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนดอนปอ จ.นครพนม นายแหลมทอง ปัตาถาวะโร อายุ 60 ปี น.ส.วิไล สีจันทร์ อายุ 56 ปี และนายอดุลย์ หวังเกิดกลาง อายุ 37 ปี ผู้ต้องหาร่วมกันผลิตธนบัตรปลอมไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลัง พ.ต.อ.เพชรัตน์ แสงไชย รอง ผบก.หน.ศสส.ภ.1 กับพวกประสานตำรวจกลุ่มงานสืบสวน ภ.จ.สกลนคร ขยายผลล่อซื้อธนบัตรใบละ 1000 บาท จำนวน 203 ฉบับ เป็นเงิน 203,000 บาทพร้อมของกลาง กัญชาอัดแท่ง 3 กก. ธนบัตรลาวปลอมฉบับละ 50,000 กีบ อีก 635 ฉบับ เป็นเงิน 31,750,000 กีบ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ข้อหา ร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา หรือธนบัตรปลอม ร่วมกันมีและนำออกใช้ซึ่งเงินตราปลอมอันตนได้มา โดยรู้ว่าเป็นของปลอม และร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยผิดกฎหมาย

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์